ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม
» พระสูตร
พระไตรปิฎกฉบับประชาชน
พระวินัยเล่มที่ ๑
ชื่อมหาวิภังค์ (เป็นวินัยปิฎก)
เวรัญชกัณฑ์
เริ่มต้นด้วยเล่าว่า พระผู้มีพระภาคประทับ ณ โคนไม้สะเดา ใกล้เมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่.
เวรัญชพราหมณ์ได้ทราบกิตติศัพท์สรรเสริญ จึงเข้าไปเฝ้า แต่มิได้ถวายบังคม หลังจากทักทายปราศรัยแล้ว ก็ได้กล่าวว่า ได้ข่าวเขาพูดกันว่าพระสมณโคดมไม่ยอมไหว้หรือลุกขึ้นต้อนรับพราหมณ์ผู้สูงอายุ การที่พระสมณโคดมทำเช่นนั้น ย่อมไม่สมควร.
พระพุทธเจ้าตรัสรับว่า พระองค์มิได้ไหว้พราหมณ์ผู้สูงอายุจริง.
เวรัญชพราหมณ์จึงเกล่าววาจารุกรานด้วยถ้อยคำที่ถือกันในสมัยนั้นว่า เป็นคำดูหมิ่นเหยียดหยาม รวม ๘ ข้อ เช่น คำว่า พระสมณโคดมเป็นคนไม่มีรสชาติ, เป็นคนไม่มีสมบัติ, เป็นคนนำให้ฉิบหาย, เป็นคนเผาผลาญ เป็นต้น.
แต่พระผู้มีพระภาคทรงอธิบายคำเหยียดหยามนั้นไปในทางที่ดี เช่นว่า ใครจะว่าไม่มีรสชาติก็ถูก เพราะท่านไม่ติดรส คือรูป เสียง เป็นต้น.
ใครจะว่าไม่มีสมบัติก็ถูก เพราะท่านไม่ติดสมบัติ คือรูป เสียง เป็นต้น. ใครจะว่านำให้ฉิบหายก็ถูก เพราะท่านแสดงธรรมให้ทำบาป อกุศล ทุกอย่างให้ฉิบหาย.
ใครจะว่าเป็นคนเผาผลาญก็ถูก เพราะท่านเผาผลาญบาป อกุศล อันเป็นที่ตั้งแห่งความเดือดร้อนทั้งหมด.
เมื่อตรัสตอบแก้คำดูหมิ่นเหยียดหยามของพราหมณ์ตกทุกข้อโดยไม่ต้องใช้วิธีด่าตอบ หากใช้วิธีอธิบายให้เป็นธรรมะสอนใจได้ดั่งนั้นแล้ว จึงตรัสอธิบายเหตุผลในการที่พระองค์ไม่ไหว้พราหมณ์ผู้สูงอายุ โดยเปรียบเทียบว่าลูกไก่ตัวไหนเจาะฟองไข่ออกมาได้ก่อน ลูกไก่ตัวนั้น ควรนับว่าแก่กว่าลูกไก่ตัวอื่น พระองค์เจาะฟองไข่คืออวิชชาก่อนผู้อื่น จึงถือได้ว่าเป็นผู้แก่กว่าผู้อื่น เวรัญชพราหมณ์ได้ฟังก็เลื่อมใส ประกาศตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต แล้วกราบทูลอาราธนาให้ทรงจำพรรษอยู่ในเมืองเวรัญชา พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ พระองค์ทรงรับโดยดุษณีภาพ.
ในสมัยนั้น เมืองเวรัญชาเกิดทุพภิกขภัย หาอาหารได้ยาก ถึงขนาดต้องใช้สลากปันส่วนอาหาร.
ภิกษุทั้งหลายลำบากด้วยอาหารบิณฑบาต ได้อาศัยข้าวแดงจากพ่อค้าที่พักแรมฤดูฝน ณ เมืองนั้น พระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญภิกษุเหล่านั้นว่า เป็นผู้ชนะ (ที่สามารถต่อสู้กับความยากลำบากได้ โดยไม่ต้องใช้วิธีแสวงหาในทางที่ผิด เช่น อวดตนเป็นผู้วิเศษ เป็นต้น).
พระโมคคัลลานะเสนอวิธีแก้ไขความอดอยากหลายประการ รวมทั้งการไปเที่ยวบิณฑบาตในที่อื่น แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต.
ส่วนพระสาริบุตรคำนึงถึงความตั้งมั่นแห่งพรหมจรรย์ จึงกราบทูลถามถึงเหตุที่ทำให้พรหมจรรย์ตั้งมั่นและไม่ตั้งมั่น พระพุทธเจ้าทรงชี้ไปที่การบัญญัติสิกขาบท การสวดปาฏิโมกข์ (สวดทบทวนสิกขาบททุกกึ่งเดือน) ว่าเป็นเหตุให้พรหมจรรย์ตั้งมั่น การไม่ทำเช่นนั้นเป็นเหตุให้พรหมจรรย์อันตรธาน.
พระสาริบุตรจึงกราบทูลขอให้ทรงบัญญัติสิกขาบท. พระพุทธเจ้าตรัสว่า ยังไม่ถึงเวลา คือพระสงฆ์ยังไม่มาก ลาภสักการะยังไม่มาก ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะ (กิเลสที่ดองสันดาน) ยังไม่ปรากฏในสงฆ์ ก็ยังไม่ต้องบัญญัติสิกขาบท. ถ้าพระสงฆ์มาก ลาภสักการะมาก ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งอาสวะปรากฏในสงฆ์ จึงควรบัญญัติสิกขาบท.
ทั้งขณะนั้นภิกษุสงฆ์ที่ติดตามพระพุทธเจ้า ก็ล้วนเป็นพระอริยบุคคล คืออย่างต่ำก็เป็นพระโสดาบัน.
เมื่อออกพรรษาแล้ว พระพุทธเจ้าจึงชวนพระอานนท์ไปบอกลาเวรัญชพราหมณ์ ในฐานะผู้นิมนต์ให้จำพรรษา เวรัญชพราหมณ์นิมนต์พระองค์พร้อมทั้งภิกษุสงฆ์ฉันในวันรุ่งขึ้น ทรงรับนิมนต์และไปฉันตามกำหนดแล้ว แสดงธรมโปรดเวรัญชพราหมณ์ แล้วเสด็จจาริกไปสู่เมืองโสเรยะ เมืองสังกัสส์ เมืองกัณณกุชชะ โดยลำดับ เสด็จข้ามลำน้ำคงคา ที่ท่าชื่อปยาคะ ไปสู่กรุงพาราณสี จากพาราณสี สู่เวสาลี ประทับ ณ เรือนยอดในป่ามหาวัน.
เวรัญชกัณฑ์
ปฐมปาราชิกกัณฑ์
ทุติยปาราชิกกัณฑ์
ตติยปาราชิกกัณฑ์
จตุตถปาราชิกกัณฑ์
ภูตคามวรรค
อนิยตกัณฑ์
พระวินัยเล่มที่ ๑
พระวินัยเล่มที่ ๒
พระวินัยเล่มที่ ๓
พระวินัยเล่มที่ ๔
พระวินัยเล่มที่ ๕
พระวินัยเล่มที่ ๖
พระวินัยเล่มที่ ๗
พระวินัยเล่มที่ ๘