ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม
» พระสูตร
พระไตรปิฎกฉบับประชาชน
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๓
ขุททกนิกาย มหานิทเทส
คำอธิบายศัพท์ในวรรคที่ ๒
๑๑. ยุคนัทธะ ( ธรรมที่เทียมคู่ ) บทตั้งเป็นภาษิตของพระอานนท์ แสดงว่าภิกษุ ภิกษุณีจะพยากรณ์อรหัตตผลในสำนักของพระอานนท์ ก็มี ๔ ทาง คือ
๑. เจริญวิปัสสนา มีสมถะเป็นเบื้องต้น (เจริญปัญญาโดยเจริญสมาธิก่อน )
๒. เจริญสมถะ มีวิปัสสนเป็นเบื้องต้น ( เจริญสมาธิโดยเจริญปัญญาก่อน )
๓. เจริญทั้ง สมถะและวิปัสสนาคู่กัน
๔. มีจิตแยกจากความฟุ้งสร้านในธรรม (
โปรดดูที่ย่อไว้แล้วในหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ หน้า ๔ ด้วย )
๑๒. สัจจะ ( ความจริง ) บทตั้งเป็นพระพุทธภาษิตแสดงความจริง คืออริยสัจจ์ ๔ ประการพร้อมด้วยคำอธิบายโดยละเอียด.
๑๓. สัจจะ ( ความจริง ) บทตั้งเป็นพระพุทธภาษิต แสดงโพชฌงค์ ๗ ประการ คือคติ ( ความระลึกได้ ), ธัมมวิจยะ ( การเลือกเฟ้นธรรมะ ), วิริยะ ( ความเพียร ), ปีติ ( ความอิ่มใจ ), ปัสสัทธิ์ ( ความสงบใจ ), สมาธิ ( ความตั้งใจมั่น ), อุเบกขา ( ความวางเฉย ). ในภาคอธิบาย ได้แสดงวิเคราะห์ศัพท์อย่างพิสดาร.
๑๔. เมตตา ( ไมตรีจิตคิดให้เป็นสุข ) บทตั้งเป็นพระพุทธภาษิต แสดงอานิสงส์ของเมตตา ๑๑ ประการ ( ดังที่ย่อไว้แล้วหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๖ หน้า ๔ ด้วย ) ในข้อ เอกาทสกนิบาต (ชุมนุมธรรมะที่มี ๑๑ ข้อ) ในภาคอธิบายได้แสดงถึงเมตตาเจโตวิมุติ ที่แผ่ไปโดยไม่เจาะจงและโดยเจาะจงหลายวิธี.
๑๕. วิราคะ ( ความคลายกำหนัด ) บทตั้งเป็นของพระสาริบุตร แสดงว่าวิราคะเป็นมรรควิมุติ ( ความหลุดพ้น ) เป็นผล.
๑๖. ปฏิสัมภิทา ( ความแตกฉาน ) บทตั้งเป็นพระพุทธภาษิต แสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แล้วแสดงความแตกฉาน ๔ อย่างโดยละเอียด.
๑๗. ธัมมจักกะ ( ล้อรถคือพระธรรม ) บทตั้งเป็นพระพุทธภาษิต บางตอนในธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เฉพาะที่ว่าด้วยฌานเห็นอริยสัจจ์ ๔ ประการ แล้ววิเคราะห์ศัพท์โดยพิสดาร.
๑๘. โลกุตตระ ( ธรรมที่ข้ามพ้นจากโลก ) บทตั้งเป็นภาษิตของ พระสาริบุตร แสดงโลกุตตรธรรม คือ สติปัฏฐาน ( การตั้งสติ ) ๔, สัมมัปปธาน ( เพียรชอบ ) ๔, อิทธิบาท ( ธรรมที่ให้บรรลุ ความสำเร็จ ) ๔, อินทรีย์ ( ธรรมอันเป็นใหญ่ในหน้าที่ของตน ) ๕, พละ ( ธรรมอันเป็นกำลัง ) ๕, โพชฌงค์ ( องค์แห่งการ ตรัสรู้ ) ๗, มรรค ( หนทางหรือข้อปฏิบัติ ) มีองค์ ๘, อริยมรรค ๔, สามัญญผล ๔, นิพพาน ( พึงสังเกตุว่า บทตั้งนี้แสดง โลกุตตรธรรม ด้วยชี้ไปที่โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ และมรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ ) แล้วแสดงวิเคราะห์ศัพท์.
๑๙. พละ ( ธรรมอันเป็นกำลัง ) บทตั้งเป็นพระพุทธภาษิตเรื่องพละ คือธรรมอันเป็นกำลัง ๕ ได้แก่ศรัทธา, วิริยะ, สติ, สมาธิ, ปัญญา. แล้วได้แสดงพละตามนัยอื่นอีก รวม ๖๘ ประการ.
๒๐. สุญญะ ( ความว่างเปล่า ) บทตั้งเป็นเรื่องแสดงว่าพระอานนท์ ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลถามว่า ที่ว่าโลกสูญ ๆ นั้นด้วยเหตุเพียงเท่าไร ตรัสตอบว่า เพราะเหตุที่สูญจากตนและจากสิ่งที่ เนื่องด้วยตน จึงชื่อว่าโลกสูญ แล้วได้ตรัสแจกอายตนะภายในมีตา เป็นต้น อายตนะภายนอกมีรูป เป็นต้น รวมทั้งวิญญาณ, ผัสสะ, เวทนา ว่าล้วนสูญจากตนและจากสิ่งที่เนื่องด้วยตน.
ในภาคอธิบายได้กล่าวถึงความสูญ, ความสูญจากสังขาร, ความสูญ เพราะปรวนแปร, ความสูญที่เลิศคือพระนิพพาน, ความสูญจากลักษณะ, ความสูญตามลักษณะวิมุติ ๕ เป็นต้น จนถึงความสูญ โดยปรมัตถ์ คือสูญโดยประการทั้งปวง.
- คำอธิบายศัพท์ในวรรคที่ ๑
- คำอธิบายศัพท์ในวรรคที่ ๒
- คำอธิบายศัพท์ในวรรคที่ ๓