ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม
» พระสูตร
พระไตรปิฎกฉบับประชาชน
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๓
ขุททกนิกาย มหานิทเทส
คำอธิบายศัพท์ในวรรคที่ ๓
๒๑. มหาปัญญา ( ปัญหาใหญ่ ) บทตั้งเป็นของพระสาริบุตร แสดงว่าเจริญอนิจจานุปัสสนา ( การพิจารณาเห็นเป็นของไม่เที่ยง ) ทำให้ชวนปัญญา ( ปัญญาอันเหมือนฝีเท้า ) ให้บริบูรณ์, เจริญทุกขานุปัสสนา ( การพิจารณาเห็นเป็นทุกข์ ) ทำให้นิพเพธิกปัญญา ( ปัญญาอันชำแรกกิเลส ) ให้บริบูรณ์, เจริญอนัตตานุปัสสนา ( การพิจารณาเห็นว่าไม่ใช่ตน ) ทำให้มหาปัญญา ( ปัญญาใหญ่ ) บริบูรณ์ เป็นต้น.
๒๒. อิทธิ ( ฤทธิ์หรือความสำเร็จ ) บทตั้งเป็นของพระสาริบุตร แสดงความหมายของคำว่า ฤทธิ์ ( คือความสำเร็จ ) แสดงฤทธิ์ ๑๐ อย่าง คือ
๑. ฤทธิ์อันเกิดจากการอธิฐาน
๒. ฤทธิ์เกิดจาก การบันดาล ( วิกุมพพนา )
๓. ฤทธิ์เกิดจากใจ
๔. ฤทธิ์เกิดจากการแผ่ญาณ
๕. ฤทธิ์เกิดจากการแผ่สมาธิ
๖. ฤทธิ์อันเป็นอริยะ ( ในการพิจารณาธรรมะ )
๗. ฤทธิ์เกิดจากผลของกรรม
๘. ฤทธิ์ของผู้มีบุญ
๙. ฤทธิ์เกิดจากวิชชา
๑๐. ฤทธิ์มีการประกอบถูกส่วนเป็นปัจจัย.
นอกจากนั้นยังแสดงภูมิของฤทธิ์ ๔ คือฌาน ๔ เป็นต้น.
๒๓. อภิสมยะ ( การตรัสรู้ ) บทตั้งเป็นพระสาริบุตร แสดงว่า การตรัสรู้ มีได้ด้วยจิตและด้วยญาณ เป็นต้น.
๒๔. วิเวกะ ( ความสงัด ) บทตั้งเป็นพระพุทธภาษิต ที่ว่าการงาน ใด ๆ ก็ตาม ที่พึงทำด้วยกำลัง การงานนั้น ๆ ทั้งหมดต้องอาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่บนแผ่นดินฉันใด ภิกษุจะเจริญ ทำให้มากซึ่ง อริยมรรค มีองค์ ๘ ก็ต้องอาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลฉันนั้น แล้วตรัสแจกรายละเอียดออกไปถึงการเจริญมรรคมีองค์ ๘ มีความเห็น ชอบ เป็นต้น อันอาศัยความสงัด อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ อาศัยการสละ แล้วแจกความสงัด, วิราคะ, นิโรธ, การสละ ออกไป อีกอย่างละ ๕ ข้อ คือ วิกขัมภนะ ( การข่มด้วยฌาน ), ตทังคะ ( องค์นั้นคือ สมาธิ ที่มีส่วนในการชำแรกหรือทำลายทิฏฐิ ), สมุจเฉท ( การตัดขาดด้วยมรรคอันเป็นโลกาตตระ ), ปฏิปัสสัทธิ ( การสงบระงับด้วยผล ) นิสสรณะ ( การแล่นออก คือนิโรธ หรือนิพพาน ).
๒๕. จริยา ( ความประพฤติ ) บทตั้งเป็นของพระสาริบุตร แสดง จริยา ๘ ประการ คือ
๑. อิริยาปถจริยา ความประพฤติตามอิริยาบท คือ ยืน, เดิน, นั่ง, นอน,
๒. อายตนจริยา ความประพฤติ ตามอายตนะภายในภายนอก,
๓. สติจริยา ความประพฤติในการตั้งสติ ๓ อย่าง,
๔. สมาธิจริยา ( ความประพฤติในฌาน ๔ ),
๕. ญาณจริยา ความประพฤติในอริยสัจจ์ ๔,
๖. มัคคจริยา ความประพฤติในมรรค ๔,
๗. ปัตติจริยา ความประพฤติในผล ๔,
๘. โลกัตถจริยา ความประพฤติเพื่อประโยชน์แก่โลก
บางส่วนเป็นของพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า บางส่วนเป็นของ พระปัจเจกพุทธเจ้า
บางส่วนเป็นของพระสาวก.
นอกจากนั้นยังแสดงจริยา ๘ อีก ๒ นัย.
๒๖. ปาฏิหาริยะ ( ปาฏิหาริย์-การนำไปเสีย ) บทตั้งเป็นพระ พุทธภาษิต แสดงปาฏิหาริย์ ๓ คือ อิทธิปาฏิหาริย์ แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์, อเทสนาปาฏิหาริย์ ดักใจ ทายได้เป็นอัศจรรย์, อนุสาสนีปาฏิหาริย์ สั่งสอนเป็นอัศจรรย์. พร้อมทั้งพระพุทธภาษิตอธิบายปาฏิหาริย์ ๓ โดยละเอียด.
ในภาคอธิบาย วิเคราะห์ ศัพท์ปาฏิหาริย์ว่า นำไปเสีย คือนำกิเลสต่าง ๆ ไปเสีย.
๒๗. สมสีสะ ( สิ่งที่สงบและสิ่งที่มีศีรษะ ) บทตั้งเป็นพระสาริบุตร ให้คำอธิบายเพียงสั้น ๆ ว่า ปัญญาที่เห็นความไม่ปรากฏแห่งกิเลสในการตัดขาด และในการดับแห่งธรรมทั้งปวง ชื่อว่าญาณ คือความรู้ในเนื้อความแห่งสมสีสะ. ในภาคอธิบาย แสดงธรรมฝ่ายดีตั้งแต่เนกขัมมะ ( การออกจากกาม ) จนถึงอรหัตตมรรค ว่าเป็นสมะ คือความสงบ และแสดงธรรมที่มีศีรษะรวม ๑๓ ประการ คือตัณหา มี ความกังวลเป็นศีรษะ, มานะ มีความผูกพันเป็นศีรษะ, ทิฏฐิ มีความรูปคลำ ( ปรามาส ) เป็นศีรษะ, ความฟุ้งสร้าน มีความส่าย ไปเป็นศีรษะ, อวิชชา มีกิเลสเป็นศีรษะ, ศรัทธา มีความน้อมใจเชื่อศีรษะ, วิริยะความเพียร มีความประคองเป็นศีรษะ, สติ มี ความปรากฏเป็นศีรษะ, สมาธิ มีความไม่ส่ายไปเป็นศีรษะ, ปัญญามีการเห็นเป็นศีรษะ, ชีวิตินทรีย์ มีความเป็นไปเป็นศีรษะ, วิโมกข์ มีโคจรคืออารมณ์เป็นศีรษะ, นิโรธมีสังขารเป็นศีรษะ, ( คำว่า ศีรษะ น่าจะหมายความว่าเป็นส่วรสำคัญ ).
๒๘. สติปัฏฐาน ( การตั้งสติ ) บทตั้งเป็นพระพุทธภาษิต แสดง สติปัฏฐาน ๔ ประการ ( รายละเอียดโปรดดูหน้าพระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๕ หน้า ๒ ด้วย ) หมายเลขหัวข้อที่ ๒๔
๒๙. วิปัสสนา ( ความเห็นแจ้ง ) บทตั้งเป็นพระพุทธภาษิต แสดง ว่าเป็นไปไม่ได้ที่ภิกษุพิจารณาเห็นสังขารว่าเที่ยง, เป็นสุข, เป็นอัตตา จะทำให้แจ้งโสดาปัตติผล จนถึงอรหัตตผล ในทางดีคือที่ ตรงกันข้าม
๓๐. มาติกา ( แม่บท ) บทตั้งเป็นภาษิตของพระสาริบุตร แสดงเรื่อง วิโมกข์, วิชชา ( ความรู้ ), วิมุติ ( ความหลุดพ้น ), อธิศีล, อธิจิต, อธิปัญญา, ปัสสัทธิ ( ความสงบระงับ ), ญาณ ( ความรู้ ), ทัสสนะ ( ความเห็น ), สุทธิ ( ความบริสุทธิ์ ), เนกขัมมะ ( การออกจากกาม ), นิสสรณะ ( ความพ้นไป ความแล่นออก ), ปวิเวกะ ( ความสงัด ), โวสสัคคะ ( ความสละ ), จริยา ( ความประพฤติ ), ฌานวิโมกข์ ( ความพ้นด้วยฌาน ), ภาวนาธิฏฐาน ชีวิต ( ความเป็นอยู่โดยการเจริญความดีโดยตั้งใจมั่น ) แล้วอธิบายทีละศัพท์โดยละเอียด.
สรูป
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๑ นี้ สมที่ตั้งชื่อว่าปฏิสัมภิทามรรค ( ทางแห่งความแตกฉาน ) เพราะ อธิบายธรรมะข้อเดียว แจกรายละเอียดออกไปเป็นสิบเป็นร้อยข้อ ทำให้เข้าใจศัพท์ และความหมายแตกฉาน แต่ที่ย่อมาแสดง เพียงเท่านี้สำหรับประชาชนทั่วไป แม้เช่นนั้น ก็รู้สึกว่าจะยังยากที่จะเข้าใจ แต่ถ้านึกว่าธรรมะก็มีตั้งแต่อย่างต่ำเข้าใจง่าย จนถึง อย่างสูงเข้าใจยาก ก็คงทำให้เข้าใจความจริงเกี่ยวกับพระไตรปิฎกได้บ้าง.
จบเล่มที่ ๓๑ ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค
- คำอธิบายศัพท์ในวรรคที่ ๑
- คำอธิบายศัพท์ในวรรคที่ ๒
- คำอธิบายศัพท์ในวรรคที่ ๓