ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
กายสังขาร
คำว่ากายก็คือรูปกายนามกายดังกล่าวมานั้นๆ เอง สังขารก็คือว่าความปรุงแต่ง
หรือเครื่องปรุงแต่งกาย กายสังขารความปรุงแต่ง หรือเครื่องปรุงแต่งรูปกาย
ก็คืออาการของกาย อาการของรูปกาย เช่นเมื่ออยู่ในอิริยาบถนั่ง
บางทีก็นั่งเอียงไปซ้าย บางทีก็นั่งเอียงไปทางขวา บางทีก็นั่งเอียงไปข้างหน้า
บางทีก็นั่งเอียงไปข้างหลัง บางทีก็นั่งเอียงไปเอียงมา ที่เรียกว่ากระสับกระส่าย
เหล่านี้เป็นกายสังขารส่วนรูป หายใจเข้าหายใจออกก็เป็นกายสังขาร
คือกายนี้เองปรุงแต่งการหายใจ กายส่วนที่หายใจอยู่โดยธรรมชาติ กับกายที่ปรุงแต่ง
เช่นที่ปอดปอดก็ปรุงแต่ง ตั้งแต่จมูกไปจนถึงท้องที่พองยุบก็ปรุงแต่ง
เหล่านี้ก็เป็นกายสังขาร ปรุงแต่งกายส่วนรูป
คราวนี้ถ้าหากว่าปรุงแต่งกายส่วนรูปนี้หยาบ กายก็จะเอียงไปเอียงมา
หายใจเข้าหายใจออกก็จะฮืดฮาด หรือบางทีเป็นแบบนั่งปลุกตัว ปุปปับๆ ขึ้นๆ ลงๆ
เหล่านี้เป็นการปรุงกายทั้งนั้น ส่วนรูป
คราวนี้มาถึงกายสังขารปรุงกายส่วนนามกายก็เหมือนกัน จิตใจที่คิดโน่นคิดนี่
ตลอดจนถึงจิตใจที่กำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก
ก็เป็นกายสังขารส่วนนามกาย บางทีมีตัณหาเข้ามาปรุงอีกเป็นความอยาก
นั่งกรรมฐานอยู่บางทีก็มีตัณหามาปรุง อยากจะให้ได้เร็วๆ
ถ้าหากว่าเกิดเมื่อยขึ้นมาก็อยากจะเลิกเร็วๆ ถ้าเพลินขึ้นมาก็อยากจะทำต่อไปนานๆ
อยากจะตาทิพย์หูทิพย์เห็นนั่นได้ยินนี่ เหล่านี้ก็เป็นกายสังขารปรุงกายส่วนนามกาย
และกายสังขารที่ปรุงกายส่วนนามกายนี้ บางทีก็มีนิวรณ์เข้ามาดึงใจให้ออกไป
ปรุงอารมณ์ภายนอกต่างๆ อีก
เพราะฉะนั้น ก็ต้องทำความรู้ว่าเราจักระงับกายสังขารเครื่องปรุงกาย
อันหมายความว่าระงับจากหยาบไปหาละเอียด รวมใจเข้ามาให้รู้กายทั้งหมด
ให้รู้กายทั้งหมดว่ากายเป็นยังไง ปรุงอยู่ยังไง กายเป็นยังไง ใจยังไง
กำลังปรุงยังไง แล้วก็กำหนดใจว่าเราจะระงับความปรุงนั้น เมื่อกำหนดอยู่ดั่งนี้แล้ว
กายถ้าปรุงก็ย่อมจะรู้ เมื่อรู้ก็ต้องระงับการปรุงนั้น
เช่นว่าถ้ากายโยกเยกไปซ้ายไปขวาไปหน้าไปหลัง หรือว่าเต้นพึบๆ พั่บๆ
เป็นแบบที่เรียกว่าปลุกตัว ก็ต้องหยุดทันที ว่านี่ไม่ถูก ต้องนั่งให้สงบ
จิตก็เหมือนกัน จิตที่ปรุงอย่างโง้น ยังงี้ บางทีก็ปรุงกำหนดแรงไป
เมื่อกดกำหนดแรงไปบางทีก็ปวดศีรษะ ก็ต้องคลาย คืออย่าไปยึด ปฏิบัติปล่อย
ทำความรู้รูปกายนามกาย รวมจิตเข้ามาในภายใน รู้ปล่อยรู้วาง ไม่รู้ยึด
รวมใจเข้ามากำหนดอยู่ดั่งนี้ จิตก็จะรวมดีขึ้น
และความปรุงกายทั้งรูปทั้งนามนั้นก็จะสงบเข้าๆ จนถึงละเอียดที่สุด
เหมือนอย่างไม่หายใจ แต่ก็ต้องให้ทำความรู้ว่าความจริงหายใจ แต่หายใจอย่างละเอียด
เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว ก็จะได้อานาปานสติสมาธิ
จะได้ในขั้นที่รวมใจเข้ามารู้กายทั้งหมด คือทั้งรูปกายนามกาย รู้กายใจ
แล้วก็ระงับการปรุงกาย ทั้งรูปกายทั้งนามกาย โดยที่ทำความรู้กำหนดอยู่ในภายใน
แต่รู้ปล่อยรู้วาง ไม่รู้ยึด และไม่ทำความปรารถนาอะไร
ให้เป็นความรู้เป็นอุเบกขาอยู่ภายใน ดั่งนี้ จึงจะสำเร็จเป็นอานาปานสติสมาธิได้
บัณฑิตย่อมฝึกตน
จิตแม้เป็นธาตรู้ก็ต้องฝึก
กุศล กิจของคนฉลาด
กุศลมูล อกุศลมูล
อานาปานสติขั้นระงับกายสังขาร
กายสังขาร