ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

อานาปานสติ

โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

กุศลมูล อกุศลมูล

ตั้งต้นแต่ที่ได้รับคำสั่งสอนว่าอะไรดีอะไรชั่ว ให้ละความชั่วให้ตั้งอยู่ในความดี ดังที่แสดงไว้ในหน้าที่ของบิดามารดาห้ามไม่ให้ทำความชั่ว ให้ประพฤติความดี ให้ตั้งอยู่ในความดี อะไรเป็นความชั่วอะไรเป็นความดีนี้เป็นหลักสำคัญตั้งแต่เบื้องต้น ต้องให้รู้จัก ความที่หัดให้รู้จักความดีความชั่วนี้ ย่อมจะต้องอาศัยความรู้จักฝึกตน ก็คือฝึกจิตของตน ฝึกจิตของตนก็คือว่าฝึกคือข่มกิเลส ให้รู้จักอกุศลมูล ว่าตัวราคะหรือโลภะโทสะโมหะนี่เป็นอกุศลมูล มูลเหตุรากเง่าของอกุศลทั้งหลาย เป็นตัวอกุศลทั้งหลายด้วย และเป็นรากเง่าของอกุศลบาปทุจริตทั้งหลายด้วย

ส่วนความไม่โลภไม่โกรธไม่หลง หรือไม่ราคะไม่โทสะไม่โมหะเป็นกุศลมูล มูลของกุศลทั้งหลาย เป็นตัวกุศลเองด้วย และเป็นมูลของกุศลทั้งหลายด้วย ต้องฝึกตนให้รู้จักว่านี่เป็นอกุศลมูล นี่เป็นกุศลมูล นี่เป็นบาปเป็นทุจริต นี่เป็นบุญเป็นกุศลเป็นสุจริต อกุศลบาปทุจริตนั้นมีโทษ ส่วนกุศลบุญสุจริตนั้นมีคุณ ฝึกให้รู้จักอกุศลมูล รู้จักกุศลมูล และให้รู้จักที่จะเว้นอกุศลมูล เว้นไม่ทำบาปทุจริตต่างๆ ได้ ให้รู้จักกุศลมูล นิยมชมชื่นในกุศลสุจริตต่างๆ ได้ เหล่านี้เป็นการฝึกทั้งนั้น ซึ่งการฝึกนั้นดังช่างไม้ต้องถากไม้ ก็จะเห็นว่าต้องใช้สิ่วใช้ขวานถาก ต้องใช้เลื่อยต้องใช้ตะไบอะไรเป็นต้น อะไรที่จะต้องตัดออกก็ต้องตัดออก อะไรที่คดก็ต้องทำให้ตรงในที่ๆ ต้องการจะทำให้ตรงเป็นต้น ต้องดัดหรือถาก จิตอันนี้ก็เหมือนกัน หากว่าบังเกิดราคะหรือโลภะโทสะโมหะแรง ก็เป็นจิตที่คดมาก ก็ต้องถากกัน ต้องไสกัน

อย่าให้คนอื่นถากคนอื่นไส ต้องพยายามที่จะให้ตัวเองถากตัวเองไสตัวเอง การที่ให้คนอื่นถากคนอื่นไสนั้น ก็เช่นว่าต้องให้บิดามารดาคอยดุด่าว่ากล่าว ให้ครูบาอาจารย์ต้องดุด่าว่ากล่าว ต้องให้พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนชี้โทษ คือคำสั่งสอนที่ตรัสชี้โทษมากมาย ต้องให้ทางบ้านเมืองลงโทษ จับใส่คุกใส่ตะรางลงโทษต่างๆ เหล่านี้เป็นการที่คนอื่นถากไสทั้งนั้น เพราะเห็นว่าตนเองไม่เป็นบัณฑิต ถากไสตัวเองไม่ได้

ฉะนั้นผู้เป็นบัณฑิตจึงถากไสตัวเองดัดตัวเอง ไม่ต้องให้คนอื่นมาคอยถากคอยไส คอยหมั่นพิจารณาตัวเอง ให้รู้ดีรู้ชั่วในตัวเอง ปฏิบัติที่จะละชั่วทำดีด้วยตัวเองอยู่ดั่งนี้ แล้วก็หวังได้ว่าจะไม่ต้องถูกคนอื่นถากไส เพราะตัวเองถากไสตัวเองได้ จึงปฏิบัติตนให้อยู่ในมรรยาทขอบเขตอันดีงามได้ ส่งตนให้ดีขึ้นได้โดยลำดับ พระพุทธเจ้าทรงแสดงสติปัฏฐานก็เป็นวิธีที่จะฝึกที่จะถากไสตนเองนี้เอง เพราะเมื่อผู้ปฏิบัติ เมื่อปฏิบัติย่อมจะเป็นการสร้างสติสร้างปัญญาให้บังเกิดขึ้นในตัวเอง และสติปัญญานี้เองก็เป็นแสงที่จะส่องให้ตัวเองมองเห็น ว่าอะไรเป็นอะไร และจะดำเนินไปในทางที่ถูก สติปัญญาที่เป็นแสงสว่างอันจะส่องตัวเองให้เดินทางถูกนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่ถ้าเป็นโมหะความหลงกับกิเลสต่างๆ แล้วทำให้มืด มองไม่เห็นทางของตัวเองที่จะเดิน หลงผิดไปต่างๆ แต่ถ้าเป็นสติปัญญาที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนแล้วจะเป็นแสงสว่าง ส่องให้ตัวเองมองเห็นทางของตัวเองที่จะดำเนินไปโดยถูกต้อง

บัณฑิตย่อมฝึกตน
จิตแม้เป็นธาตรู้ก็ต้องฝึก
กุศล กิจของคนฉลาด
กุศลมูล อกุศลมูล
อานาปานสติขั้นระงับกายสังขาร
กายสังขาร

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย