วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>
(ร่าย กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์)
การอ่านคำประพันธ์
คำประพันธ์ที่แต่งขึ้นตามฉันทลักษณ์ที่จะกล่าวต่อไป คือ ร่าย กาพย์ กลอน โคลง และ ฉันท์ มีระเบียบการอ่านต่างจากคำร้อยแก้ว นักปราชญ์กำหนดการอ่านไว้ ๓ ชนิด คือ อ่านทำนองสามัญ อ่านทำนองเจรจา และอ่านทำนองเสนาะ
การอ่านทำนอนสามัญ ได้แก่ การอ่านออกเสียงตามปกติ แบบอ่านทำนองร้อยแก้ว แต่มีจังหวะหยุดเป็นวรรคเป็นตอนตามข้อกำหนด หรืออาจเน้นเอื้อนเสียงตามที่สัมผัสบ้าง
การอ่านทำนองเจรจา ได้แก่ การอ่านทำนองพากย์บทแบบเจรจาโขน หรืออ่านแบบโต้ตอบกัน มีจังหวะหยุดตามข้อกำหนดอย่างอ่านทำนองสามัญ อ่านเน้นเสียงและเอื้อนให้หนักเบาตามจังหวะ
การอ่านทำนองเสนาะ ได้แก่ การอ่านให้มีสำเนียงเสียงสูง ต่ำ หนัก เบา ยาว สั้น เอื้อนเสียงเน้นตัวสัมผัสให้จัดเจนเพื่อให้ไพเราะ และให้มีจังหวะหยุดตามข้อกำหนด อาจทำเสียงให้เหมาะสมกับรส เช่น เล้าโลมชมชื่น เกี้ยวพาราสี ตัดพ้อ ต่อว่า รักโศก ครวญถึง ทำเสียงให้เหมาะสมกับตอนนั้น ๆ ทำนองเสนาะนี้ต้องศึกษาและฝึกหัดจริงจังกับผู้ชำนาญการ
การอ่านคำประพันธ์ทุกชนิดนั้น ผู้อ่านต้องรู้ฉันทลักษณ์ของบทประพันธ์นั้น ๆ ว่าบังคับอะไร เช่น เอก โท ครุ ลหุ พยางค์ และสัมผัส ให้ชัดเจน
ต้องรู้จังหวะหยุดของบทประพันธ์นั้น ๆ เฉพาะพยางค์ต้องทำความเข้าใจถูกต้อง เพราะคำประพันธ์บางประเภทที่กำหนดว่า กลุ่มนี้ ๒ คำ แต่อาจเป็น ๓ คำ เพราะบรรจุคำผสมลงไป หรือคำโดด ๆ แต่เป็นคำที่เสียงสั้น คือว่ามีพยางค์เกิน ต้องอ่านให้เร็วกว่าปกติ
ในฉันท์ซึ่งกำหนดลหุต่อกัน ๒ คำ บางทีผู้แต่งลงครุเพียงคำเดียว เช่น ดุจ ต้องอ่านให้ถูกต้อง ต้องอ่าน ดุจะ เสียงจัตวาทุกเสียง ต้องอ่านเปิดเสียงและให้เสียงก้องอย่างเอิบอิ่ม ตัว ร และตัว ล ออกเสียงให้ชัด อย่าให้ปนกัน จะทำให้เข้าใจผิด
จังหวะหยุด
คำประพันธ์ทุกประเภทมีจังหวะหยุดและการเอื้อนเสียงแตกต่างกัน โดยจะกำหนดจังหวะหยุดไว้รวมกับแผนผังและตัวอย่างในเรื่องนั้น ๆ ในชั้นต้นนี้ จะขอแนะเครื่องหมายให้เห็นเป็นตัวอย่างเพื่อนำเทียบ
๑. เครื่องหมาย + คู่กับตัวเลข เป็นการแสดงจังหวะหยุดกี่พยางค์ เช่น ๒+๓ ๓+๓ เอาความว่า วรรคที่ ๑ จังหวะหยุด ๒ คำ และ ๓ คำ, วรรคที่ ๒ จังหวะหยุด ๓ คำ และ ๓ คำ
๒. เครื่องหมายที่ต้องเอื้อนเสียง ~ เช่น ๑~๒+๓ หมายความว่า คำที่ ๑ ต้องเอื้อนเสียง แล้วจึงต่อ ๒ คำ และ ๓ คำ
ฉันท์มคธมียติคือจังหวะหยุดน้อย และไม่หยุดระหว่างลหุต่อกับลหุ เว้นแต่บางฉันท์ที่ยาวเกิน ส่วนฉันท์ไทยกำหนดจังหวะหยุดไว้เหมือนฉันท์มคธบ้าง ต่างจากฉันท์มคธบ้าง และมีจังหวะหยุดระหว่างลหุต่อลหุก็มีมาก
จะอ่านคำประพันธ์ชนิดใด ต้องตรวจดูจังหวะหยุดของคำประพันธ์ชนิดนั้น ๆ ให้ถูกต้องชัดเจน จะอ่านทำนองใดก็ตาม ต้องมีจังหวะอย่างเดียวกันโดยแท้
โวหาร
ประเภทกวีนิพนธ์
ฉันทลักษณ์
สระ
พยัญชนะ
เครื่องประกอบอื่น
การอ่านคำประพันธ์
ร่าย
กาพย์
กลอน
โคลง
ฉันท์