วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>
(ร่าย กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์)
ฉันทลักษณ์
ฉันทลักษณ์ แปลตามรูปวิเคราะห์เดิมว่า ข้อบังคับที่ปิดเสียซึ่งโทษ กล่าวคือ ข้อบังคับที่ทำให้ถ้อยคำหรือพากย์นั้น ๆ ไม่มีข้อบกพร่อง หมายถึงข้อบังคับการแต่งกวีนิพนธ์ทั้ง ๕ ประเภทที่กล่าวมา ถ้านับเป็นชนิดคงมี ๙ คือ พยางค์ ๑ สัมผัส ๑ คณะฉันท์ ๑ วรรณยุกต์ ๑ เสียงของอักษร ๑ ครุลหุ ๑ คำนำ ๑ คำสร้อย ๑ คำเป็นคำตาย ๑ คำกวีแต่ละประเภทมีฉันทลักษณ์ไม่เท่ากัน ขอชี้แจงแบบรวม ๆ ดังนี้
- พยางค์ หมายถึงคำพูดที่ใช้ในบทประพันธ์นั้น ๆ ต้องกำหนดไว้ว่าชนิดไหนมีคำพูดกี่คำ จะแยกบอกในประเภทนั้น และคำพูดนั้น หลักใหญ่มี ๒ คือ คำโดด ๑ คำผสม ๑ คำโดดเป็นคำเดียว เช่น ฉัน, กิน, ข้าว คำผสม คือคำรวม เช่น บำรุง, ผดุง, ประชา
- สัมผัส ได้แก่ คำที่มีเสียงคล้องจองกัน ซึ่งส่งจากแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่ง จักกล่าวรายละเอียดในบทที่ ๓
- คณะฉันท์ เรื่องคณะฉันท์และการกำหนดครุลหุ จักกล่าวในเรื่องฉันท์ในบทที่ ๕
- วรรณยุกต์ จักกล่าวในเรื่องเครื่องประกอบอื่น
- เสียงของอักษร เสียงของอักษร เป็นเครื่องบ่งบอกถึงคำพูดในภาษาไทย มี
๕ เสียง คือ เสียงสามัญ เสียงเอก เสียงโท เสียงตรี และเสียงจัตวา
ควรได้ศึกษาให้เข้าใจ
(๑) เสียงสามัญ ได้แก่ เสียงที่เกิดจากอักษรกลาง หรืออักษรต่ำ ที่ผสมกับสระเสียงยาว ๑๘ ตัว มี อา อี เป็นต้น และที่ผสมกับแม่ กง กน กม เกย เกอว ซึ่งยังมิได้ลงวรรณยุกต์ ตัวอย่างเช่น
อักษรกลาง กา จัน ไป กัง จาน ดัน ตน เปรย ปลิว
อักษรต่ำ คา งา ชา ญาณ ทัน นม มาน เลย วิว ฟิว
(๒) เสียงเอก ได้แก่เสียงที่เกิดจากอักษรทุกตัว ที่ผสมกับสระเสียงสั้น หรือที่ผสมกับแม่ กก กด กบ และอักษรกลางและอักษรสูง ที่ผสมกับสระเสียงยาว หรือแม่ กง กน กม เกย เกอว แล้วลงวรรณยุกต์เอก และอักษรต่ำที่ ห นำ ลงวรรณยุกต์เอก หรืออักษรอื่นนำก็มี
(๓) เสียงโท ได้แก่ เสียงที่เกิดจากอักษรกลาง อักษรสูง ที่ลงสระเสียงยาว และแม่ กง กน กม เกย เกอว แล้วลงวรรณยุกต์โท และอักษรต่ำที่ลงสระเสียงยาว และลงวรรณยุกต์เอก
(๔) เสียงตรี ได้แก่ เสียงที่เกิดจากอักษรกลาง ที่ลงสระเสียงยาวและแม่ กง กน เป็นต้น แล้วลงวรรณยุกต์ตรี และอักษรสูงที่ลงสระเสียงยาว และแม่ กง กน เป็นต้น ที่ลงวรรณยุกต์โท
(๕) เสียงจัตวา ได้แก่ เสียงที่เกิดจากอักษรสูงและอักษรต่ำที่มี ห หรือ อ นำ ซึ่งลงสระเสียงยาว และแม่ กง กน เป็นต้น แล้วลงวรรณยุกต์จัตวา และที่เกิดจากอักษรต่ำที่ถูกนำด้วยอักษรสูงบางตัวแล้วลงสระเสียงยาว
- ครุลหุ จักกล่าวในเรื่องฉันท์
- คำนำและคำสร้อย จักกล่าวในเรื่องกลอนและโคลง
- คำเป็นคำตาย
- คำเป็น ได้แก่ คำที่เสียงยาวลงวรรณยุกต์ผันได้
- คำตาย ได้แก่ คำที่ลงด้วยสระเสียงสั้น และคำที่สะกดด้วยแม่ กก กด กบ
การเรียบเรียงคำประพันธ์นั้น คือการร้อยกรองคำพูดที่กลั่นกรองดีแล้ว เข้าเป็นชุดตามลักษณะของคำกวีแต่ละประเภท เหตุนั้น จึงจำเป็นต้องทบทวนหลักภาษาไทยอันเป็นพื้นฐาน ภาษาไทยที่จะออกมาเป็นคำพูดนั้น มีองค์ประกอบ ๒ คือ อักษร และเครื่องประกอบอื่น อักษรนั้น คือ สระ และพยัญชนะ
โวหาร
ประเภทกวีนิพนธ์
ฉันทลักษณ์
สระ
พยัญชนะ
เครื่องประกอบอื่น
การอ่านคำประพันธ์
ร่าย
กาพย์
กลอน
โคลง
ฉันท์