วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>

กวีนิพนธ์

(ร่าย กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์)

พยัญชนะ

พยัญชนะ คือ อักษรที่ทำเสียงและเนื้อความให้ปรากฏชัดเจน ใช้เป็นหลักยืนและนำสระมาประกอบ ในภาษาไทยมีพยัญชนะ ๔๔ ตัว คือ ก ข ฃ ค ฅ ฆ ง, จ ฉ ช ซ ฌ ญ, ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ, ด ต ถ ท ธ น, บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ ม, ย ร ล ว ศ ษ ส ห ฬ อ ฮ เฉพาะตัว ฃ และ ฅ เลิกใช้แล้ว

พยัญชนะทั้งหมดนี้ แยกตามเสียงตามปกติได้ ๓ ซึ่งเรียกว่า ไตรยางค์ คือ เสียงสูง เสียงกลาง และเสียงต่ำ ตามลำดับหมู่ ดังนี้

  • อักษรสูง พื้นเสียงเป็นเสียงจัตวา มี ๑๑ ตัว คือ ข ฃ ฉ ฐ ถ ผ ฝ ศ ษ ส ห
  • อักษรกลาง พื้นเสียงเป็นเสียงสามัญ มี ๙ ตัว คือ ก จ ฎ ฏ ด ต บ ป อ
  • อักษรต่ำ พื้นเสียงเป็นเสียงต่ำ แต่จัดเป็นเสียงสามัญ มี ๒๔ ตัว คือ ค ฅ ฆ ง ช ซ ฌ ญ ฑ ฒ ณ ท ธ น พ ฟ ภ ม ย ร ล ว ฬ ฮ

นอกจากพยัญชนะทั้งหมดนี้ที่ออกเสียงทั้ง ๓ แล้ว ยังมีมาตราหรือแม่บทบังคับเสียงอีก ซึ่งแยกเป็น ๙ มาตรา คือ

  1. แม่ ก กา ได้แก่ สระทั้งหมด เริ่มแต่ อะ – เอา
  2. แม่ กก ได้แก่มาตราที่ใช้ ก ข ค ฆ เป็นตัวสระกด ทั้ง ๔ ตัว สะกดเพียงตัวเดียว และทั้งที่ใช้ตามสระ
  3. แม่ กด ได้แก่มาตราที่ใช้ตัว ด สะกด และตัวอื่นที่สะกดแล้วออกเสียงเหมือนตัว ด สระกด คือ จ ฉ ช ซ ฎ ฏ ฑ ฌ ต ถ ท ธ ศ ษ ส
  4. แม่ กบ ได้แก่มาตราที่ใช้ตัว บ สะกด และตัวอื่นที่สะกดแล้ว ออกเสียงเหมือนตัว บ สะกด คือ ป พ ฟ ภ
  5. แม่ กง ได้แก่มาตราที่ใช้ตัว ง สะกด
  6. แม่ กน ได้แก่มาตราที่ใช้ตัว น สะกด และตัวอื่นที่สะกดแล้ว ออกเสียงเหมือนตัว น สะกด คือ ญ ณ ร ล ฬ
  7. แม่ กม ได้แก่มาตราที่ใช้ตัว ม สะกด
  8. แม่ เกย ได้แก่มาตราที่ใช้ตัว ย สะกด
  9. แม่ เกอว ได้แก่มาตราที่ใช้ตัว ว สะกด

อักษรคู่กัน อักษรต่ำกับอักษรสูง ใช้เป็นคู่กัน เปลี่ยนเสียงที่ลง วรรณยุกต์ กันได้ คือ

  • ค คู่กับ ข
  • ช ฌ คู่กับ ฉ
  • ซ คู่กับ ศ ษ ส
  • ฑ ฒ ท ธ คู่กับ ฐ ถ
  • พ ภ คู่กับ ผ
  • ฟ คู่กับ ฝ
  • ฮ คู่กับ ห

ทั้ง ๗ คู่นี้ เปลี่ยนเสียงเอก เป็น โท หรือเสียง โท เป็น เอก กันได้ ที่เรียกกันว่า เอกโทษ และโทโทษ สำหรับใช้ในร่าย และโคลง ในเมื่อต้องการเสียงเอกหรือโท ที่หายาก ใช้แทนกัน มีใช้มากคือ โทโทษ

เช่น ที่ ต้องการวรรณยุกต์โท เปลี่ยนเป็น ถี้
ค่า ต้องการวรรณยุกต์โท เปลี่ยนเป็น ข้า
ฝ้า ต้องการวรรณยุกต์เอก เปลี่ยนเป็น ฟ่า
ถ้า ต้องการวรรณยุกต์เอก เปลี่ยนเป็น ท่า

ที่เปลี่ยนกันได้เช่นนี้ เพราะอักษรต่ำและอักษรสูง มีฐานะรวมกันแล้ว ลงสระเสียงยาว ผันได้ครบ ๕ เสียง เช่นเดียวกับอักษรกลาง เช่น

ค ข ลงสระอา คา ข่า ค่า ค้า ขา – เสียงจัตวาลดรูป

ท ถ ลงสระอี ที ถี่ ที่ ที้ ถี - เสียงจัตวาลดรูป

อนึ่ง อักษรต่ำบางตัว ไม่มีคู่ดังที่กล่าวข้างต้น แต่ปรับไม้เอกเป็นไม้โทได้ โดยใช้ ห นำ เพื่อให้เป็นเสียงจัตวา แล้วจึงลงวรรณยุกต์โท เช่น

แน่ ต้องการวรรณยุกต์ โท เปลี่ยนเป็น แหน้
เล่า ต้องการวรรณยุกต์โท เปลี่ยนเป็น เหล้า
หม้อ ต้องการวรรณยุกต์เอก ตัด ห ออกเสียง ลงวรรณยุกต์เอก เป็น ม่อ แต่เสียงคงเป็นเสียงโท

โวหาร
ประเภทกวีนิพนธ์
ฉันทลักษณ์
สระ
พยัญชนะ
เครื่องประกอบอื่น
การอ่านคำประพันธ์
ร่าย
กาพย์
กลอน
โคลง
ฉันท์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย