วรรณกรรม สุภาษิต ข้อคิด คำคม สำนวน โวหาร งานเขียน >>

กวีนิพนธ์

(ร่าย กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์)

กวี เป็นคำกลาง ๆ เป็นชื่อคนผู้เป็นกวีก็ได้ เป็นชื่อวรรณกรรมก็ได้ ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ให้ความหมายว่า เป็นนาม กล่าวคือเป็นชื่อของคน หมายถึงผู้เชี่ยวชาญในศิลปะการประพันธ์บทกลอน จำแนกเป็น ๔ คือ จินตกวี แต่งโดยความคิด สุตกวี แต่งโดยฟังมา อรรถกวี แต่งตามความจริง ปฏิภาณกวี แต่งกลอนสด เมื่อแยกถือเอาความให้ชัด ย่อมได้ทั้งเป็นชื่อประเภทนักกวี ทั้งเป็นชื่อของคำกวี โดยกำหนดได้ดังนี้

  • จินตกวี เป็นชื่อคน หมายถึง ผู้แต่งกวีตามเรื่องที่ตนคิดขึ้นเอง เป็นชื่อคำกวี หมายถึง คำกวีที่แต่งโดยความคิดของจินตกวีนั้น
  • สุตกวี เป็นชื่อคน หมายถึง ผู้แต่งกวีตามเรื่องที่ฟังมา หรือจำมา เป็นชื่อคำกวี หมายถึง คำกวีที่แต่งตามเรื่องที่ฟังมา
  • อรรถกวี เป็นชื่อคน หมายถึง ผู้แต่งกวีโดยยึดหลักความเป็นจริง เป็นชื่อคำกวี หมายถึง คำกวีที่แต่งตามความเป็นจริง
  • ปฏิภาณกวี เป็นชื่อคน หมายถึง ผู้แต่งหรือว่ากลอนสด เป็นชื่อคำกวี หมายถึง กลอนสดตามที่ปฏิภาณกวีได้กล่าวไว้

รสกวีแบบไทย

กวีนิพนธ์ทุกประเภทที่จะไพเราะเพราะพริ้งนั้น เพราะลีลาของการแต่งดีงาม เพราะลีลาดีงามเป็นเหตุให้กวีมีรสอันไพเราะเพราะพริ้ง นักปราชญ์ท่านบัญญัติรสกวีไทยไว้ ๔ รส คือ

  • เสาวรจนี ลีลาการประพันธ์แบบยึดความสัตย์จริง ความดีงาม เป็นหลัก เสาวรจนีรส จึงจัดเป็นรสสำคัญของกวี
  • นารีปราโมทย์ ลีลาการประพันธ์แบบพรอดรัก โอดครวญ ห่วงใย คิดถึง สมานใจ นารีปราโมทย์รส จึงเป็นรสที่สำคัญและชวนอ่านฟังมาก
  • พิโรธวาทัง ลีลาการประพันธ์แบบโกรธขึ้ง หึงหวง เคียดแค้น ห้าวหาญ ขบขัน ตลกคะนอง โลดโผน พิโรธวาทังรส จึงจัดเป็นรสที่สำคัญ
  • สัลลาปังคพิไสย ลีลาการประพันธ์เป็นไปแบบเจรจา สานสัมพันธ์ แบบเล่าความ แบบปฏิสัณฐาร สัลลาปังคพิไสยรส เป็นรสไม่โลดโผน แต่เป็นรสที่สำคัญเช่นรสอื่น

การแต่งกวีไทยมักใช้ลีลารสทั้ง ๔ นี้สลับกันตามเหมาะควร ส่วนรสใดจะมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับเรื่องที่แต่ง

รสกวีแบบสันสกฤต

อนึ่ง รสกวีหรือรสวรรณคดีแบบสันสกฤต ท่านพระภรตมุนีกล่าวไว้ในตำรานาฏยศาสตร์ไว้ ๙ อย่าง คือ

  • ศฤงคารรส รสแห่งความรัก ได้แก่ การพรรณนาที่โน้มน้าวให้เกิดความรัก แบบหมายชิดพิสมัย แบบผู้ใหญ่กับผู้น้อย
  • หาสยรส รสแห่งความขบขัน ได้แก่ การพรรณนาแบบจะให้เกิดความขบขัน ยั่วยุให้สนุกสนาน ตลกคะนอง
  • กรุณารส รสแห่งความกรุณา ได้แก่ การพรรณนาแบบให้เกิดความเอ็นดู ความสงสาร อยากเกื้อหนุนจุนเจือ
  • รุทธรส รสแห่งความโกรธ ได้แก่ การพรรณนาแบบยั่วยุให้เกิดโทสะ ให้เกิดความขัดเคือง
  • วีรรส รสแห่งความกล้าหาญ ได้แก่ การพรรณนาแบบปลุกใจให้เกิดความฮึกหาญ ไม่เกรงกลัว
  • ภยานกรส รสแห่งความกลัว ได้แก่ การพรรณนาแบบให้เกิดความขยาด หวั่นหวาด หดหู่
  • พีภัตรส รสแห่งความรังเกียจ ได้แก่ การพรรณนาแบบให้เกิดความรังเกียจ ความหวาดระแวง
  • อัพภูตรส รสแห่งความพิศวง ได้แก่ การพรรณนาแบบให้เกิดความพิศวง งงงวย น่าอัศจรรย์
  • ศานติรส รสแห่งความสงบ ได้แก่ การพรรณาแบบให้เกิดความเย็นใจ ความสงบสุข

โวหาร
ประเภทกวีนิพนธ์
ฉันทลักษณ์
สระ
พยัญชนะ
เครื่องประกอบอื่น
การอ่านคำประพันธ์
ร่าย
กาพย์
กลอน
โคลง
ฉันท์

อ้างอิง : ตำรากวีนิพนธ์ โดย พระธรรมปริยัติโสภณ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย