สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
การดำเนินการของฝ่ายไทยก่อนสงครามยุติ
การต่อต้านญี่ปุ่นของไทยได้เริ่มตั้งแต่ญี่ปุ่นบุกประเทศไทย แม้ว่าในระยะต่อมา ไทยจำเป็นต้องจำยอมร่วมเป็นพันธมิตรของญี่ปุ่นเนื่องด้วยสถานการณ์บีบบังคับ แต่ในขณะเดียวกันแนวความคิดในการต่อต้านญี่ปุ่น เพื่อรักษาไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตย ก็ได้ดำเนินการต่อมาในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดำเนินการในทางลับที่เรียกว่า ขบวนการใต้ดิน ทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม และขบวนการเสรีไทย ได้มีการให้คณะนายทหารไทยจำนวนหนึ่งออกไปติดต่อกับกองพลที่ 93 ของจีน ครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2487 หลังจากที่ได้มีการประสานงานเมื่อเดือนมีนาคม 2486 ซึ่งได้รับการตอบสนองจาก จอมพล เจียงไคเช็ค จากจุงกิงว่า "ยินดีติดต่อด้วย ดีใจที่จะได้ทราบความจริง เพราะมัวหลงรบกันอยู่ 2 ปี เสียผู้คนและอาวุธยุทโธปกรณ์ไปมากมาย ขอให้ฝ่ายไทยเริ่มดำเนินการติดต่อได้ แต่บัดนี้" ต่อมาเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2487 คณะผู้ติดต่อของไทยก็ได้เข้าพบผู้บัญชาการกองพลที่ 93 พร้อมด้วยนายทหารจีนชั้นผู้ใหญ่ การพบปะเจรจาเป็นไปด้วยดี ฝ่ายจีนแจ้งว่า ฝ่ายจีนและสัมพันธมิตรเห็นใจไทยอยู่แล้ว และจะช่วยแจ้งให้ทางอังกฤษและสหรัฐ ฯ ทราบความจริงตามที่ฝ่ายไทยต้องการ
การพบกับฝ่ายจีนครั้งสำคัญเป็นการพบเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2487 คณะผู้แทนกองบัญชาการทหารสูงสุด ได้ไปพบกับผู้บัญชาการกองพลที่ 93 มีการตกลงกันในด้านการทหาร โดยกำหนดเอาแนวแม่น้ำลำ - แม่น้ำโขง - ปางสัจจา และเส้นเขตแดนระหว่างแคว้นยูนนานของจีนกับประเทศพม่าเป็นเส้นปันแดนของแต่ละฝ่ายไม่ให้ ล่วงล้ำกัน นอกจากนี้ยังแจ้งให้ฝ่ายไทยทราบว่า ทางฝ่ายสัมพันธมิตรกำลังเตรียมการรุกใหญ่ กองทัพจีนได้จัดกำลังไว้ 10 กองพล สำหรับการรุกเข้าทางเหนือของประเทศพม่าทางด้านเมือง ลา เฉียว เพื่อสมทบกับกำลังของอังกฤษ ซึ่งจะทำการรุกจากพรมแดนประเทศอินเดีย
นอกจากนี้จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยังได้จัดตั้งกองทัพที่ 2 และกองพลที่ 7 ขึ้นตามแผนยุทธการที่ 7 เตรียมร่วมมือกับกองทัพจีน เพื่อขับไล่ญี่ปุ่นออกไปจากดินแดนไทย กับได้ดำริที่จะย้ายเมืองหลวงไปตั้งที่จังหวัดเพชรบูรณ์ แต่การย้ายเมืองหลวงก็ล้มเลิกไป เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม พ้นจากอำนาจหน้าที่ในรัฐบาล การติดต่อระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพจีน ตามนโยบายของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ต้องระงับไปโดยปริยาย
ทางด้านกองทัพรัฐบาลซึ่งมีนาย ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ยกเลิกตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และแปรสภาพเป็นกองทัพใหญ่ โดยแต่งตั้งให้ พลเอก พจน์ พหลโยธิน (พระยาพหลพลพยุหเสนา) ดำรงตำแหน่งแม่ทัพใหญ่
ทางด้านกองทัพพายัพ ได้มีการโยกย้ายนายทหารชั้นผู้ใหญ่หลายนาย สำหรับการติดต่อกับกองทัพจีนนั้น แม่ทัพกองทัพพายัพได้มีคำสั่งถึงกองพลที่ 3 ว่า คงให้ทำต่อไปตามเดิม แต่รัฐบาลจะไม่รับรู้ และรับผิดชอบด้วย ให้ถือว่าเป็นการทำกันเอง ดังนั้น ผู้บัญชาการกองพลที่ 3 จึงสั่งให้ระงับการติดต่อกับกองทัพจีนไว้ก่อน
ในด้านการปฎิบัติต่อเสรีไทย ทั้งสายสหรัฐ และสายอังกฤษ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ให้การสนับสนุนอย่างลับ ๆ ได้สั่งให้แต่ละฝ่ายช่วยเหลือสมาชิก ขบวนการเสรีไทยที่ลอบเข้ามาในประเทศ ให้ได้รับความสะดวกในการปฎิบัติการ และให้ได้รับความปลอดภัย
ในวันที่ 15 สิงหาคม 2488 ญี่ปุ่นได้ประกาศยอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตรโดยไม่มีเงื่อนไข
การเตรียมการของไทย
การดำเนินการเจรจาทางการทูต
การปฎิบัติของสหรัฐและอังกฤษ
การเตรียมการต่อสู้ภายในประเทศ
การดำเนินการของรัฐบาลไทย เมื่อญี่ปุ่นขอเดินทัพผ่านไทย
สถานการณ์ทางทหารและการเมือง
จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสั่งการ
ข้อตกลงระหว่างผู้แทนฝ่ายไทยและญี่ปุ่น
เหตุการณ์ขั้นต่อมา และข้อเรียกร้องของญี่ปุ่น
การร่วมวงศ์ไพบูลย์กับญี่ปุ่น
การประกาศสงคราม
การประกาศสงครามต่อบริเตนใหญ่ และสหรัฐอเมริกา
การดำเนินการของฝ่ายสัมพันธมิตร
การดำเนินสงคราม
การปฏิบัติการของกองทัพพายัพ
การจัดตั้งกองทัพพายัพ
การปกครองสหรัฐไทยเดิม
การปฏิบัติการทางอากาศ
การดำเนินการของฝ่ายไทยก่อนสงครามยุติ
ไทยประกาศสันติภาพ
ท่าทีของสัมพันธมิตรต่อไทยหลังสงครามยุติ
สภาวการณ์หลังสงคราม
การทำความตกลงสมบูรณ์แบบ
จดหมายเหตุ