สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
ทฤษฎีทางการพยาบาล
อ.มณีรัตน์ พันธุ์สวัสดิ์
สิทธิของผู้ป่วยจิตเวช
สิทธิของผู้ป่วยจิตเวช หมายถึง ความชอบธรรมที่ผู้ป่วยจิตเวช
ซึ่งรวมถึงผู้ใช้บริการทางสุขภาพจิตที่จะพึงได้รับเพื่อคุ้มครอง
หรือรักษาผลประโยชน์อันเป็นส่วนพึงมีพึงได้ของตนเอง โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น
ผู้ป่วยจิตเวชได้รับความคุ้มครองตามคำประกาศสิทธิของผู้ป่วยตามกฎหมายเช่นเดียวกับผู้ป่วยทั่วไป
แต่มีข้อจำกัดสำหรับสิทธิของผู้ป่วยจิตเวช คือ
1. สิทธิในการทำนิติกรรม
ตามกฎหมายแพ่งในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 29 ถือว่าผู้ป่วยจิตเวชเป็นบุคคลผู้หย่อนความสามารถในการทำนิติกรรมสัญญา โดยกำหนดว่าบุคคลทุกคนต่างมีสิทธิในการทำนิติกรรมสัญญา เว้นแต่เป็นบุคคลผู้หย่อนความสามารถ ซึ่งจะไม่สามารถใช้สิทธิได้โดยลำพังตนเอง ผู้ป่วยจิตเวชจึงไม่สามารถใช้สิทธิในการทำนิติกรรมสัญญาต่างๆ โดยลำพังตนเอง ได้แก่ สัญญาซื้อขาย สัญญาเงินกู้ การสมรส การหย่า และการทำพินัยกรรม เป็นต้น
ผู้ป่วยจิตเวชที่เป็นผู้หย่อนความสามารถ ได้แก่
- คนวิกลจริตที่สมองพิการหรือจิตบกพร่องโดยมีอาการหนักขนาดเสียสติ พูดกันไม่เข้าใจและไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร
- คนวิกลจริตที่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
- ผู้ที่มีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบหรือติดสุรายาเมาที่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
2. สิทธิในการลงความสมัครใจเข้ารับการบำบัด
การให้ความยินยอมของผู้ป่วยทั่วไปเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากการประกอบวิชาชีพ หากผู้ป่วยไม่ยินยอมและมีการข่มขืนใจ หน่วงเหนี่ยวกักขัง หรือกระทำการให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย จะถือเป็นความผิดทางอาญาได้ เมื่อผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดในสถานพยาบาล พยาบาลควรอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจเกี่ยวกับความเจ็บป่วยและแนวทางในการบำบัดรักษาก่อนที่จะให้ผู้ป่วยลงลายมือชื่อแสดงความสมัครใจในการเข้ารับการบำบัดรักษา โดยผู้ป่วยสามารถปฏิเสธไม่ให้ความยินยอมในขณะนั้นหรือเปลี่ยนใจภายหลังจากเข้ารับการรักษาพยาบาลได้
สำหรับผู้ป่วยจิตเวชที่ขาดความสามารถในการรู้คิด ตัดสินใจ และขาดความสามารถในการให้ความยินยอมในการรักษา ไม่สามารถลงลายมือมือชื่อให้ความยินยอมได้ อาจเกิดจากขาดความสามารถในการรู้คิดตัดสินใจหรือไม่ยอมรับการเจ็บป่วยทางจิตของตน การให้ความยินยอมเข้ารับการรักษา จำเป็นต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองของผู้ป่วยโดยชอบธรรมลงลายมือชื่อแทน ยกเว้นเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือแบบเร่งด่วน
3. สิทธิในการดำรงชีวิตอย่างอิสระ
ผู้ป่วยจิตเวชอาจเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของประชาชน สภาพของผู้ป่วยจิตเวชส่วนใหญ่มักก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจต่อบุคคลในสังคม ขาดการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสำคัญของสังคม และมักถูกทอดทิ้งให้อยู่ในสถานบริการพยาบาล ในทางกฎหมายศาลจะเป็นผู้ไต่สวนและแต่งตั้งผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ควบคุมดูแลผู้มีจิตพิการ และศาลสามารถสั่งให้ส่งผู้ป่วยจิตเวชไปไว้ในสถานพยาบาลแม้จะเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่มีคดีได้ ทั้งนี้กฎหมายอาญา ได้ระบุความผิดแก่ผู้ที่ควบคุมดูแลบุคคลวิกลจริตที่ปล่อยปละละเลยให้บุคคลวิกลจริตออกเที่ยวไปโดยลำพัง
4. สิทธิในการละเว้นโทษเมื่อกระทำความผิดทางอาญา
ผู้ป่วยจิตเวชมักเป็นผู้ที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ จึงมีความเสี่ยงมากที่จะกระทำความผิดหรือประกอบอาชญากรรมต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อสังคม ตามกฎหมายอาญาถือว่า ผู้กระทำความผิดที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบเพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่แม้ว่าผู้ป่วยจะไม่ต้องรับความผิดทางอาญาแต่ศาลสามารถสั่งให้เป็นผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลได้
ทฤษฎีทางการพยาบาลของรอย
การประยุกต์แนวคิดทฤษฎีการปรับตัวของรอยในกระบวนการพยาบาลจิตเวช
ทฤษฎีทางการพยาบาลของคิง
(Kings Theory)
กระบวนการพยาบาลจิตเวชตามแนวคิดทฤษฎีการพยาบาลของโอเร็ม
บทบาทหน้าที่
ความรับผิดชอบ และคุณลักษณะของพยาบาลจิตเวช
ประวัติความเป็นมาของการพยาบาลขั้นสูง สาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช
ทีมสุขภาพจิต
สิทธิของผู้ป่วยจิตเวช
แนวคิดเกี่ยวกับการพยาบาลสุขภาพจิตชุมชน