สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

ทฤษฎีทางการพยาบาล

อ.มณีรัตน์ พันธุ์สวัสดิ์

ทฤษฎีทางการพยาบาลของคิง (King’s Theory)

คิง ได้ตั้งทฤษฎีความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยเน้นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การรับรู้ สัมพันธภาพระหว่างบุคคล สังคม และการเจ็บป่วย โดยมีความเชื่อ ดังนี้

มนุษย์ เป็นองค์รวมที่มีความต้องการด้านชีวะ จิต และสังคม มนุษย์ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลและสิ่งแวดล้อม และมีบทบาทหน้าที่ในสังคม การรับรู้ของบุคคลทั้งภายในและภายนอกมีผลกระทบต่อกระบวนการปฏิสัมพันธ์

สุขภาพ คือ สภาวะที่ไม่อยู่นิ่งของชีวิต ตลอดช่วงชีวิตของบุคคลจะมีการปรับตัวต่อภาวะเครียด ต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งภายในและภายนอก เพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุด สุขภาพ เป็นองค์ประกอบของชีววิทยา จิตวิทยา และสังคมวิทยา

การพยาบาล เป็นกระบวนการปฏิบัติ การตอบสนอง การมีปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสาร ที่พยาบาลช่วยเหลือบุคคลให้ได้รับความต้องการขั้นพื้นฐาน และสามารถเผชิญกับความเจ็บป่วยได้

แนวคิดของการพยาบาลตามทฤษฎีของคิง สรุปได้ ดังนี้

  1. มนุษย์เป็นองค์ประกอบของชีว จิต สังคม ซึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก
  2. พฤติกรรมของมนุษย์เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ในระบบของบุคคล สัมพันธภาพส่วนบุคคลและสังคม
  3. ระบบบุคคล เป็นคุณลักษณะที่เกิดจากการรับรู้สิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลต่อกระบวนการปฏิสัมพันธ์ทั้งภายในบุคคลและสังคม
  4. การรับรู้ เป็นกระบวนการ คนจะรับรู้และมีประสบการณ์บนพื้นฐานของการตระหนักรู้ในอดีต ปัจจุบัน และทำนายอนาคต เหตุการณ์ที่ดำเนินไปเป็นกระบวนการที่ย้อนกลับไปมา ซึ่งบุคคลควรทำความเข้าใจ
  5. สุขภาพ เป็นสภาวะที่ไม่หยุดนิ่ง จะต้องมีการปรับตัวต่อสภาวะเครียดทั้งภายในและภายนอก
  6. สุขภาพ พิจารณาได้จาก การทำหน้าที่ของบุคคลทั้งตนเอง ระหว่างบุคคล และสังคม
  7. สุขภาพ จะรวมถึงองค์ประกอบภายในและภายนอกทางชีววิทยา องค์ประกอบจิตวิทยาด้านอารมณ์และสติปัญญา และองค์ประกอบทางสังคมด้านเศรษฐกิจ ประชากร และศาสนา
  8. สุขภาพ เป็นกระบวนการทำงานผสมผสานระหว่างร่างกาย จิตใจของบุคคลในการปรับตัวต่อสิ่งแวดล้อมทั้งภายในและภายนอก
  9. การพยาบาล เป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือกลุ่ม ให้ถึงซึ่งการมีสุขภาพดี โดยใช้การสังเกตความต้องการ พฤติกรรมของบุคคล ทั้งด้านชีวจิตสังคม การมีสัมพันธภาพระหว่างบุคคลโดยการติดต่อสื่อสารและสร้างสัมพันธภาพ และพัฒนาระบบสังคม โดยเน้นที่สถานะ บทบาท และหน้าที่ในสังคม

การประยุกต์ใช้ในการพยาบาล

รูปแบบการดูแลตามทฤษฎีของคิง มีความชัดเจนในเรื่องการเน้นการพัฒนาบุคคลในฐานะองค์ประกอบทางชีวะ จิต สังคม ทั้งระหว่างบุคคล และระบบสังคม มีปฏิสัมพันธ์ทั้งภายในและภายนอก รูปแบบการดูแลเน้นที่ระบบการสร้างสัมพันธภาพ การมีปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติการพยาบาลตามแนวคิดของคิงได้เน้นว่าเป็นกระบวนการของปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้รับบริการที่เป็นไปอย่างมีเป้าหมายร่วมกัน ผู้รับบริการจะมีส่วนร่วมในกระบวนการพยาบาลโดยตลอด ซึ่งตรงกับแนวคิดปัจจุบันที่เน้นการดูแลผู้ป่วยโดยให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการดูแลตนเอง พยาบาลมีบทบาทในการกระตุ้น แนะนำ ส่งเสริม ให้ความรู้ ให้คำปรึกษา และสร้างสัมพันธภาพ

การใช้กระบวนการพยาบาลตามแนวคิดทฤษฎีการพยาบาลการบรรลุเป้าหมายของคิง สามารถดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้

1. การประเมินภาวะสุขภาพ

ระบบบุคคลในความหมายของคิง หมายถึง องค์ประกอบรวมของชีว จิตและสังคม ของบุคคลที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม มีบทบาทหน้าที่ มีการรับรู้ทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคม การมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ดังนั้น พยาบาลจะประเมิน วิเคราะห์ และให้ข้อวินิจฉัยทางการพยาบาล โดยมุ่งสืบค้นข้อมูลของผู้ป่วย ในด้านต่าง ๆ ดังนี้

  • การรับรู้เกี่ยวกับอัตมโนทัศน์
  • ภาพลักษณ์ของตน
  • การเจริญเติบโต และพัฒนาการ
  • ช่วงเวลาของเหตุการณ์ในชีวิต
  • ระบบระหว่างบุคคล โดยประเมินข้อมูลต่าง ๆ ดังนี้
  • การมีปฏิสัมพันธ์ของผู้ป่วยในด้านความคิด และพฤติกรรม
  • การติดต่อสื่อสารของผู้ป่วยกับบุคคลอื่น
  • การมีปฏิสัมพันธ์อย่างมีเป้าหมาย
  • การปฏิบัติตามบทบาท
  • ความเครียด
  • ระบบสังคม ประเมินข้อมูลต่าง ๆ ดังนี้
  • องค์กร
  • หน้าที่รับผิดชอบ
  • อำนาจ
  • สถานการณ์
  • การตัดสินใจ

2. การวินิจฉัยทางการพยาบาล

การวินิจฉัยทางการพยาบาลตามแนวคิดทฤษฎีการพยาบาลของคิงเน้นที่การประเมินพร้อม ๆ ไปกับการวิเคราะห์สภาพปัญหา และสาเหตุของปัญหาของผู้ป่วยอย่างละเอียดทั้ง 3 ระบบ จากนั้นนำไปสู่การกำหนดเป้าหมาย และวางแผนการพยาบาล พร้อมทั้งกำหนดกิจกรรมเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย

3. การวางแผนการพยาบาล

การวางแผนการพยาบาลประกอบด้วย การกำหนดเป้าหมาย และกิจกรรมการพยาบาลเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่กำหนด พยาบาลต้องคำนึงถึงหลักการ ดังนี้

  • เป้าหมายที่เน้นองค์ประกอบรวมของชีวะ จิต และสังคม
  • เป้าหมายที่ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการกำหนด
  • มีกิจกรรมที่มองเห็นชัดเจนว่าสามารถบรรลุผลได้ตามที่กำหนด
  • เป็นเป้าหมายเชิงบวกที่เน้นการเจริญเติบโตและการพัฒนาไปในทางที่ดี
  • เป็นเป้าหมายที่เพิ่มศักยภาพของผู้ป่วยในการเรียนรู้ การเผชิญปัญหา และปรับตัวในสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างเหมาะสม

4. การปฏิบัติการพยาบาล

  • การปฏิบัติการพยาบาลจะเป็นการปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด พยาบาลจะปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลโดยการสื่อสารและสัมพันธภาพเพื่อการบำบัดอย่างมีเป้าหมายทุกระยะ
  • การสอนและการให้คำปรึกษาโดยคำนึงถึงเป้าหมายที่กำหนด
  • จัดโอกาสและประสบการณ์เพื่อการเรียนรู้และปรับพฤติกรรมที่มีปัญหา และเป็นอุปสรรคต่อ

การบรรลุเป้าหมาย

ใช้เทคนิคและเทคโนโลยีเพื่อบรรลุเป้าหมายส่งเสริม สนับสนุน ให้กำลังใจ และให้ข้อมูลย้อนกลับ โดยเน้นการพัฒนาส่งเสริมให้ผู้เรียนบรรลุเป้าหมายที่กำหนด

5. การประเมินผลการพยาบาล

การประเมินผลเป็นขั้นตอนในการนำข้อมูลที่ได้รวบรวมไว้ทั้งหมดตั้งแต่ผู้ป่วยเริ่มเข้ารับการบำบัดรักษา จนกระทั่งได้ให้การพยาบาลเสร็จสิ้นแล้วมาวิเคราะห์เปรียบเทียบสรุปผล และในระยะที่มีปัญหาหรือไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด พยาบาลจะต้องวิเคราะห์สาเหตุทบทวนแผนโดยเริ่มต้นรวบรวมข้อมูลใหม่

ทฤษฎีทางการพยาบาลของรอย
การประยุกต์แนวคิดทฤษฎีการปรับตัวของรอยในกระบวนการพยาบาลจิตเวช
ทฤษฎีทางการพยาบาลของคิง (King’s Theory)
กระบวนการพยาบาลจิตเวชตามแนวคิดทฤษฎีการพยาบาลของโอเร็ม
บทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ และคุณลักษณะของพยาบาลจิตเวช
ประวัติความเป็นมาของการพยาบาลขั้นสูง สาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช
ทีมสุขภาพจิต
สิทธิของผู้ป่วยจิตเวช
แนวคิดเกี่ยวกับการพยาบาลสุขภาพจิตชุมชน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย