สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

ทฤษฎีทางการพยาบาล

อ.มณีรัตน์ พันธุ์สวัสดิ์

การประยุกต์แนวคิดทฤษฎีการปรับตัวของรอยในกระบวนการพยาบาลจิตเวช

การประยุกต์แนวคิดหลักของรอย คือ การส่งเสริมความสามารถในการปรับตัวของผู้ใช้บริการทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านสรีรวิทยา ด้านอัตมโนทัศน์ ด้านบทบาทหน้าที่ และด้านความสัมพันธ์พึ่งพาระหว่างกัน โดยเริ่มต้นที่การประเมินสภาพผู้รับบริการ การวินิจฉัยสภาพปัญหา และความต้องการความช่วยเหลือของผู้ใช้บริการ การวางแผน การเลือกใช้วิธีการพยาบาลและประเมินผล ดังนี้

1. การประเมินพฤติกรรมของผู้ป่วย (Assessment of Patient’s Behaviors)

การประเมินพฤติกรรมของผู้ป่วยตามแนวคิดทฤษฎีการปรับตัวของรอย มีวิธีการดำเนินการตามลำดับ ดังนี้

การรวบรวมข้อมูล เพื่อการประเมินระดับความสามารถในการปรับตัวของผู้ป่วย โดยเน้นพฤติกรรมการปรับตัวทั้ง 4 ด้าน คือ

  1. การปรับตัวตามความต้องการด้านสรีรวิทยา (Physiological need)
  2. การปรับตัวด้านอัตมโนทัศน์ (Self – Concept)
  3. การปรับตัวด้านบทบาทหน้าที่ (Role – Function)
  4. การปรับตัวด้านความสัมพันธ์พึ่งพาระหว่างกัน (Interdependency relations)

พยาบาลต้องใช้เทคนิคการสังเกต การสัมภาษณ์ การตรวจร่างกาย และการตรวจทางห้องทดลองต่าง ๆ ประกอบการประเมิน

การวิเคราะห์และตัดสินพฤติกรรมการปรับตัวของผู้ป่วย (Judgement of Behavior as Adaptive Maladaptive) เป็นการประเมินระดับความสามารถในการปรับตัวของผู้ป่วยโดยใช้ข้อมูลที่ได้รวบรวมมาในขั้นตอนที่ 1 นำมาพิจารณาตัดสินความสามารถในการปรับตัว (Adaptive) หรือความไม่สามารถในการปรับตัว (Maladaptive) โดยคำนึงถึงสภาวะของผู้ป่วยแต่ละราย และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง

การประเมินองค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการปรับตัวของผู้ป่วย (Assessment of Influencing Factors) เป็นการประเมินเพื่อสืบค้นหาสาเหตุของพฤติกรรมที่เน้นปัญหาของผู้ป่วยโดยพิจารณาสิ่งเร้าที่มีอิทธิพลต่อการปรับตัว 3 ด้าน ดังนี้

  1. ประเมินสิ่งเร้าโดยตรง เป็นการค้นสาเหตุโดยตรงของพฤติกรรมที่เป็นปัญหา
  2. ประเมินสิ่งเร้าร่วมหรือสิ่งเร้าที่เกี่ยวข้อง เป็นการค้นหาสาเหตุอื่น ๆ ที่น่าจะเกี่ยวข้องกับสภาพพฤติกรรมตามปัญหาของผู้ป่วย
  3. ประเมินสิ่งเร้าแฝง เป็นการค้นหาสาเหตุที่อยู่ภายในตัวผู้ป่วย เช่น ความคิด ความรู้สึก เจตคติต่อการบริการของพยาบาล และสถานบริการพยาบาล และพฤติกรรมอื่น ๆ ซึ่งจะได้จากการสนทนาและรับฟังผู้ป่วยพูดระบายความรู้สึก

2. การระบุปัญหา (Probing Identifying)

เป็นขั้นตอนในการวินิจฉัยปัญหาของผู้ป่วยภายหลังได้ข้อมูลที่ได้มีการวิเคราะห์ถูกต้องครบถ้วนแล้ว นำข้อมูลที่ได้มากำหนดเป็นข้อวินิจฉัยทางการพยาบาล จัดลำดับความสำคัญของปัญหาโดยพิจารณาตามเกณฑ์ดังนี้

  • ปัญหาสำคัญด่วนต้องช่วยเหลือทันที คือ ปัญหาที่คุกคามชีวิต ความมั่นคงปลอดภัยของตัวผู้ป่วย ครอบครัว และผู้ใกล้ชิด
  • ปัญหาสำคัญรองลงมาต้องได้รับการช่วยเหลือโดยเร็ว คือ ปัญหาที่คุกคามการเปลี่ยนแปลงในทางเสื่อมของผู้ป่วยและครอบครัว
  • ปัญหาสำคัญที่ต้องการการช่วยเหลือ คือ ปัญหาที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาและเติบโตของผู้ป่วยและครอบครัว

3. การกำหนดเป้าหมายการพยาบาล (Goal Setting)

เป็นการกำหนดเป้าหมายปลายทางที่ต้องการให้เกิดขึ้นในผู้ป่วยภายหลังดำเนินกิจกรรมการพยาบาลไปแล้ว ในแนวคิดทฤษฎีการปรับตัวของรอย คือ การช่วยให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมที่เป็นปัญหา ไปสู่พฤติกรรมที่เหมาะสม พฤติกรรมที่ผู้ป่วยมีการปรับตัวดีอยู่แล้ว พยาบาลจะตั้งเป้าหมายสูงขึ้น โดยส่งเสริมให้มีการปรับตัวให้ดียิ่งขึ้น เป้าหมายดังกล่าว ควรเป็นเป้าหมายที่เกิดขึ้นได้จริงภายหลังจากที่ได้ปฏิบัติการพยาบาลเสร็จสิ้นลงแล้ว

4. การปฏิบัติการพยาบาล (Intervention : Selection of Approach)

เป็นการกระทำต่อผู้ป่วยโดยพิจารณาตามแผนการพยาบาลและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง พยาบาลผู้ปฏิบัติการพยาบาลจะใช้สติปัญญาในการปฏิบัติการพยาบาล โดยพิจารณาตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ และปัญหาของผู้ป่วยที่เกิดขึ้นขณะนั้น ซึ่งในการพยาบาลจิตเวชนั้น พยาบาลจะต้องพิจารณาข้อมูลและสถานการณ์ และเลือกวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมตลอดเวลา เพราะผู้ป่วยจิตเวชจะมีสภาวะของจิตใจและพฤติกรรมที่ไม่อยู่นิ่ง

5. การประเมินผลการพยาบาล (Evaluation)

เป็นขั้นตอนของการสรุป และวิเคราะห์ประสิทธิผลของสิ่งที่ได้ปฏิบัติไปแล้ว โดยการสังเกตจากพฤติกรรมการปรับตัวของผู้ป่วย และข้อมูลที่รวบรวมได้จากผู้ป่วยโดยตรง หรือจากบุคลากรอื่น ๆ อาจใช้การสังเกต การตรวจสอบ และนำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบกับข้อมูลก่อนทำการพยาบาล และสรุปผลบางครั้งอาจพบว่า สภาพของผู้ป่วยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น พยาบาลจะต้องค้นหาสาเหตุของพฤติกรรมที่เป็นปัญหาใหม่ รวมทั้งกำหนดเป้าหมาย วางแผน และเลือกกิจกรรมการพยาบาลใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไป

ทฤษฎีทางการพยาบาลของรอย
การประยุกต์แนวคิดทฤษฎีการปรับตัวของรอยในกระบวนการพยาบาลจิตเวช
ทฤษฎีทางการพยาบาลของคิง (King’s Theory)
กระบวนการพยาบาลจิตเวชตามแนวคิดทฤษฎีการพยาบาลของโอเร็ม
บทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ และคุณลักษณะของพยาบาลจิตเวช
ประวัติความเป็นมาของการพยาบาลขั้นสูง สาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช
ทีมสุขภาพจิต
สิทธิของผู้ป่วยจิตเวช
แนวคิดเกี่ยวกับการพยาบาลสุขภาพจิตชุมชน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย