สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

ทฤษฎีทางการพยาบาล

อ.มณีรัตน์ พันธุ์สวัสดิ์

บทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ และคุณลักษณะของพยาบาลจิตเวช

จอห์นสัน (Johnson, 1989) ได้สรุปคุณสมบัติเฉพาะของพยาบาลจิตเวชไว้ดังนี้

1. มีทักษะในการสื่อสารเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับบุคคลที่มีปัญหาทางจิต
2. เป็นแบบอย่างของพฤติกรรมการปรับตัวที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้รับบริการที่มีปัญหาการปรับตัว ได้เรียนรู้ตามแบบอย่างที่ดี เนื่องจากพยาบาลเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้รับบริการมากที่สุด
3. เป็นผู้ชี้นำในการจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการบำบัดรักษาได้
4. สามารถให้การสนับสนุน ช่วยเหลือ เพื่อการบำบัดรักษาได้
5. สามารถให้การสนับสนุน ช่วยเหลือผู้รับบริการทางจิตและครอบครัวได้
6. มีความสามารถในการทำงานเป็นทีม เป็นผู้นำและเป็นสมาชิกที่ดีของทีมสุขภาพจิตได้
7. สามารถบำบัดรักษาผู้ที่มีปัญหาทางจิตทั้งรายบุคคลและรายกลุ่มได้
8. สามารถช่วยเหลือผู้รับบริการที่มีปัญหาพิเศษได้ เช่น ผู้รับบริการในภาวะวิกฤต เป็นต้น

คุณลักษณะของพยาบาลจิตเวช

1. มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับทฤษฎีทางจิตเวช การพยาบาลจิตวิทยา สังคมวิทยาปัญหาสังคม เพื่อใช้เป็นแนวทางในการช่วยเหลือผู้รับบริการได้อย่างถูกต้อง
2. ยอมรับในพฤติกรรมของผู้รับบริการและหาแนวทางแก้ไขให้ดีขึ้น
3. มีความสม่ำเสมอในการกระทำและคำพูด เป็นที่ไว้วางใจสำหรับผู้รับบริการมีความจริงใจแสดงให้ผู้รับบริการเห็นว่าพยาบาลสนใจ เข้าใจ และยินดีช่วยเหลือ จริงใจ
4. มีความเป็นอิสระและเชื่อถือในตนเอง
5. มีความอดทน เห็นอกเห็นใจผู้อื่น

บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของพยาบาลจิตเวช

การพยาบาลจิตเวชเป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่จะส่งเสริมและคงไว้ซึ่งการดำรงบทบาท และหน้าที่ของบุคคล ครอบครัว ชุมชน เพื่อให้บุคคลมีสุขภาพจิตดี มีบุคลิกภาพที่มั่นคง มีวิธีการแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม เป็นที่ยอมรับของสังคม สามารถพึ่งพาตนเอง และดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้นบทบาทหน้าที่ของพยาบาลจิตเวชกำหนดได้เป็น 2 ระดับ คือ

1. บทบาทหน้าที่ระดับพื้นฐานหรือระดับรอง มีดังนี้

1) เป็นผู้จัดสรรสิ่งแวดล้อมเพื่อการรักษา คือสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับบุคคล เช่นบุคลากรในทีมพยาบาลทุกคนต้องมีเจคติที่ดีต่อผู้รับบริการ ยอมรับพฤติกรรม ผู้รับบริการ สิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับวัตถุและสภาพความเป็นอยู่ พยาบาลมีหน้าที่จัดสภาพหอ ผู้รับบริการให้คล้ายกับบ้าน โดยคำนึงถึงความสะดวก สบาย ความเป็นสัดส่วน ความสวยงาม สุขอนามัย

2) เป็นเสมือนตัวแทนของแม่ เช่นหน้าที่ในการเลี้ยงดูหรือบำรุงเลี้ยงให้ผู้บริการมีความสุขสบายได้รับอาหารเพียงพอ คอยดูแลช่วยเหลือผู้รับบริการช่วยตัวเองจนสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ คอยดูแลห้ามปรามไม่ให้ผู้รับบริการทะเลาะวิวาทกัน จำกัด พฤติกรรมผู้รับบริการที่อาจเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น คอยประคับประคอมจิตใจในระยะต้น ๆ ให้เรียนรู้ประสบการณ์ที่ดีต่าง ๆ ให้แสดงออกทางอารมณ์ที่เหมาะสม

3) เป็นตัวแทนสังคม มีหน้าที่ช่วยให้ผู้รับบริการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ จัดกิจกรรม ต่าง ๆ ที่กระตุ้นให้ผู้รับบริการได้แสดงออกซึ่งความสามารถกล้าแสดงตัวอย่างเหมาะสมในสังคม ได้เคลื่อนไหวออกกำลังกายและเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน

4) เป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ มีหน้าที่รับฟังผู้รับบริการ ให้คำแนะนำช่วยเหลือตามความเหมาะสม การรับฟังอาจไม่ต้องให้คำแนะนำก็ได้ เพราะการที่บุคคลได้มีโอกาสพูด โดยมีบุคคลอื่นรับฟังทำให้เขาได้ระบายความรู้สึกนึกคิด วิตกกังวล เครียด ผู้รับบริการจะมีความรู้สึกตนเองมีคุณค่าและรู้สึกว่าพยาบาลเอาใจใส่และรู้สึกสบายใจขึ้น

5) พยาบาลเป็นเสมือนครูมีหน้าที่สอนกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน แก่ผู้รับบริการที่ขาดความสนใจตัวเอง พยาบาลบอกกล่าวกิจกรรมที่ผู้รับบริการกระทำขณะที่อยู่โรงพยาบาล แนะนำการอยู่ร่วมกันในหอผู้รับบริการ สอนการเล่นเกมส์ต่าง ๆ ตลอดจนกิจกรรมต่าง ๆ

6) ทางการรักษาพยาบาลที่ใช้เทคนิคเฉพาะทางการพยาบาล มีหน้าที่ในการพยาบาลพื้นฐานทุกประเภท ช่วยแพทย์ทำการรักษาทางร่างกาย รวมทั้งการสังเกตพฤติกรรมและบันทึกเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารแก่ทีมการรักษาพยาบาล เพื่อให้ผู้รับบริการได้รับการรักษาพยาบาลถูกต้อง

2. บทบาทหน้าที่ระดับสูงหรือระดับผู้เชี่ยวชาญ มีดังนี้

1) เป็นที่ปรึกษา มีความรู้ความสามารถเฉพาะทาง มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและแนะแนวแก่บุคคลที่มีปัญหาหรือตกอยู่ในภาวะวิกฤต เพื่อลดความเครียด

2) เป็นผู้ติดต่อให้ความร่วมมือ การให้การพยาบาลทั่วไป การให้การช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตในแผนกต่าง ๆ ของโรงพยาบาลโดยประเมินพฤติกรรมให้การวินิจฉัยและวางแผนการพยาบาลแก่ผู้รับบริการ

3) เป็นผู้บำบัดรักษาเบื้องต้น พยาบาลจิตเวชเป็นผู้ชำนาญการเฉพาะทาง มีหน้าที่คัดกรองผู้รับบริการและให้การบำบัดรักษาเบื้องต้นในชุมชนโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลจิตเวช ในขั้นต้นอาจให้คำปรึกษา ให้จิตบำบัดประคับประคองให้ยาตามแผนการรักษาของแพทย์ เช่น ยาลดความวิตกกังวล

4) เป็นผู้นำการบำบัด มีหน้าที่ดังนี้

- สร้างสัมพันธภาพกับผู้รับบริการเชิงการรักษา
- การทำจิตบำบัดประคับประคอง
- เป็นผู้ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้รับบริการ
- เป็นผู้ให้ความรู้
- เป็นผู้นิเทศงานหรือประสานงาน

นอกจากนี้พยาบาลจิตเวชยังต้องดำรงไว้ซึ่งสิทธิของผู้ป่วยและคุณภาพของงานบริการจำเป็นต้องสวมหน้าที่หลายบทบาทในเวลาเดียวกัน ได้แก่ บทบาทของพยาบาล บทบาทของผู้ร่วมทีมสุขภาพจิต และบทบาทของพลเมืองในสังคม

ทฤษฎีทางการพยาบาลของรอย
การประยุกต์แนวคิดทฤษฎีการปรับตัวของรอยในกระบวนการพยาบาลจิตเวช
ทฤษฎีทางการพยาบาลของคิง (King’s Theory)
กระบวนการพยาบาลจิตเวชตามแนวคิดทฤษฎีการพยาบาลของโอเร็ม
บทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ และคุณลักษณะของพยาบาลจิตเวช
ประวัติความเป็นมาของการพยาบาลขั้นสูง สาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช
ทีมสุขภาพจิต
สิทธิของผู้ป่วยจิตเวช
แนวคิดเกี่ยวกับการพยาบาลสุขภาพจิตชุมชน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย