สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

ทฤษฎีทางการพยาบาล

อ.มณีรัตน์ พันธุ์สวัสดิ์

ประวัติความเป็นมาของการพยาบาลขั้นสูง สาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช

การพัฒนาบทบาทการพยาบาลขั้นสูง สาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชนับเป็นสาขาแรกที่มีขึ้นในประเทศ สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1955 หลักสูตรนี้ได้รับการพัฒนาจาก ดร.เพลบพลาว ผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นมารดาของการพยาบาลจิตเวช โดยในช่วงเริ่มต้นท่านได้พัฒนาหลักสูตรเพื่อผลิตพยาบาลผู้เชี่ยวชาญทางคลินิกด้านจิตเวช (psychiatric clinical nurse specialist: CNS) เพื่อให้มีความรู้ความชำนาญทางด้านการบำบัด (therapy) เพื่อให้การพยาบาลทางคลินิกแก่ผู้ป่วยจิตเวชที่มีอาการซับซ้อน หลักสูตรมุ่งเน้นที่การเรียนทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมนุษย์ ทักษะการสัมภาษณ์ทางจิตเวช การประมวลจิตพลวัตร การทำกลุ่มบำบัด และการตรวจด้านร่างกาย ให้บริการกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อนในโรงพยาบาล ตลอดจนเป็นที่ปรึกษา (consultant) ให้กับพยาบาลอื่นๆ และทีมงานสุขภาพในการดูแลผู้ป่วยจิตเวช ต่อมาได้มีการพัฒนาหลักสูตรพยาบาลเวชปฏิบัติด้านจิตเวชขึ้น (Psychiatric nurse practitioner: NP) เพื่อผลิตพยาบาลที่มีความสามารถในการให้การดูแลรักษาเบื้องต้น (primary care) โดยหลักสูตรนี้ได้เพิ่มกระบวนวิชาจิตเภสัชวิทยา (psychopharmacology) การตรวจร่างกาย และการตรวจรักษาเบื้องต้น โดยพยาบาลที่จบหลักสูตร CNS จะทำงานในโรงพยาบาลระดับ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ส่วนพยาบาลที่จบหลักสูตร NP จะทำงานในโรงพยาบาลระดับ ปฐมภูมิ

สำหรับประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2544 สภาการพยาบาลได้มีมติกำหนดการปฏิบัติการพยาบาลออกเป็น 2 ระดับ คือ การปฏิบัติการพยาบาลทั่วไป (General Nursing Practice: GN) และการปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง (Advanced Practice Nurse: APN) หลังจากนั้นทางสภาการพยาบาลได้ออกประกาศ ฯ ในปี พ.ศ. 2545 เกี่ยวกับหลักสูตรฯ และการสอบวุฒิบัตรของพยาบาลผู้มีความรู้ ความชำนาญเฉพาะสาขา ประกอบด้วย 5 สาขาด้วยกัน ได้แก่ สาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช สาขาการพยาบาลผู้ใหญ่ สาขาการพยาบาลชุมชน สาขาการพยาบาลแม่และเด็ก และสาขาการพยาบาลผดุงครรภ์ โดยทางสภาการพยาบาลได้กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์สมัครสอบขอรับวุฒิบัติ และได้ดำเนินการสอบปีแรกในปี พ.ศ. 2545 สำหรับสาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชขั้นสูง พบว่าในปี 2550 มีพยาบาลผู้มีคุณสมบัติ และผ่านการสอบเพื่อขอรับวุฒิบัตรฯ ดังกล่าวทั่วประเทศทั้งหมด 17 คน ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชในระดับ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ มีเพียง 2 คนที่เป็นอาจารย์พยาบาลจิตเวชที่ทำงานในมหาวิทยาลัย โดยในระยะเริ่มแรก สภาการพยาบาลได้มุ่งเน้นบทบาทการเป็นพยาบาลผู้เชี่ยวชาญทางคลินิก (Clinical Nurse Specialist) มากกว่าพยาบาลเวชปฏิบัติ (Nurse Practitioner)

การพยาบาลขั้นสูง สาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช (Advanced Practice Nursing ,APN)

ขอบเขตการปฏิบัติงานของ APN สาขาการพยาบาลสุขภาพจิต และจิตเวชที่สภาการพยาบาลได้ร่างไว้ (สภาการพยาบาล, 2545) ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชั้นหนึ่งที่ได้รับวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพพยาบาลสาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชมีบทบาทของการปฏิบัติงานดังต่อไปนี้ บทบาทในการปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงมีดังนี้

1. Direct Clinical Practice
2. Expert Coaching and Guidance/ Educator
3. Consultant 4. Collaboration
5. Researcher
6. Change agent
7. Ethic decision making

Direct Clinical Practice

เป็นการให้การพยาบาลโดยตรง โดยใช้กลยุทธ์ในการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ที่ให้การพยาบาลที่มีคุณภาพ ลักษณะที่แสดงถึงการเป็นผู้ปฏิบัติการพยาบาลโดยตรง คือ

  1. ให้การพยาบาลแบบองค์รวม โดยคำนึงถึง กาย จิต สังคม จิตวิญญาณ ตลอดจนความเป็นปัจเจกบุคคล วัฒนธรรมของผู้ป่วย และครอบครัว
  2. พยาบาลและผู้ป่วยร่วมกันตัดสินใจในการรักษาพยาบาล เน้นให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
  3. ให้การพยาบาลโดยมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิก และมีความเชื่อมั่นในการปฏิบัติการพยาบาล
  4. การให้การพยาบาลโดยใช้องค์ความรู้จากงานวิจัย หรือหลักฐานเชิงประจักษ์มาเป็นข้อมูล ในการปฏิบัติการพยาบาล
  5. มีบทบาทในการสอน การให้คำแนะนำอย่างผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติการพยาบาล

Expert Coaching and Guidance/ Educator

บทบาทในการเป็นผู้สอนและให้คำแนะนำ โดยใช้กระบวนการระหว่างบุคคล เป็นบทบาทเพื่อวางแผน และดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความรู้ให้แก่พยาบาลและผู้รับบริการตามปัญหาและความต้องการ

Consultant

บทบาทการเป็นผู้ให้และผู้ขอคำปรึกษา แก่ผู้ป่วย ครอบครัว และผู้ร่วมงาน การให้การปรึกษาแก่ผู้ร่วมวิชาชีพเพื่อให้เกิดการพัฒนาตนเองในด้านความรู้ ความสามารถในการบริการจัดการภายในองค์กร

Collaboration

ความร่วมมือกันระหว่างบุคลากรในทีมสุขภาพเพื่อใช้ความรู้และความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่ายในการเสริมประโยชน์ซึ่งกันและกัน นำไปสู่การวางแผนดูแลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้รับบริการและครอบครัว
การประสานงานเป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป โดยที่แต่ละฝ่ายมีความมุ่งมั่นในทางสร้างสรรค์เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับผู้รับบริการ จุดเน้นคือเป็นการดูแลร่วมกันกับสหสาขาวิชาชีพ (Multidisciplinary)

หน้าที่รับผิดชอบ

- ร่วมกันรับผิดชอบต่อการให้การบริการ
- มีการแลกเปลี่ยนความรู้ความชำนาญต่อกัน ร่วมกันปฏิบัติงาน ร่วมกันตัดสินใจ

Researcher

บทบาทของการเป็นผู้วิจัยและใช้ผลงานวิจัย ถือว่าเป็นบทบาทที่มีความสำคัญต่อวิชาชีพอย่างมากเพราะการที่ APN จะพัฒนาองค์ความรู้ในวิชาชีพจำเป็นต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อนำมาปรับปรุงความรู้และปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

Change agent

บทบาทการเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการจะเป็นผู้นำได้นั้นต้องมีความรู้ ประสบการณ์ และมีทักษะในการใช้ความรู้ คิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นผู้ที่มีโลกทัศน์กว้าง มองการณ์ไกล มีความคิดสร้างสรรค์ ในการที่จะเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติแบบเดิมๆ และให้เกิดการยอมรับทั้งในสาขาวิชาชีพเดียวกัน และวิชาชีพอื่นๆ

Ethic decision making

ในการให้บริการทางคลินิกมักมีปัญหาการตัดสินใจเชิงจริยธรรมเกิดขึ้นอยู่เสมอ ประเด็นปัญหาเชิงจริยธรรมที่พบบ่อย เช่น การปฏิเสธการรักษา การตัดสินการสิ้นสุดของชีวิต การรักษาความลับของผู้รับบริการ การให้บริการสุขภาพแก่ผู้ที่มีวงเงินจำกัด ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่ท้าทายกระบวนการตัดสินใจเชิงจริยธรรมของพยาบาล ปัญหาทางจริยธรรมเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งซับซ้อน ดังนั้นจึงควรมีการเตรียมความพร้อมที่จะต่อสู้กับประเด็นปัญหาเชิงจริยธรรม โดยพัฒนาความรู้และทักษะในการตัดสินทางจริยธรรม ซึ่งสมรรถนะนี้ขึ้นอยู่กับการนำความรู้ด้านจริยศาสตร์และใช้เหตุผลทางคลินิกร่วมกันก็ได้ และสุดท้ายคือการประเมินผล ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นอาจแสดงให้เห็นถึงความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง ระบุแหล่งทรัพยากรที่เหมาะสม บางครั้งผลลัพธ์ที่ได้ออกมานั้นอาจจะสามารถทำนายรูปแบบและการป้องกันการเกิดประเด็นปัญหาเชิงจริยธรรมในอนาคต

การพัฒนาบทบาทในฐานะผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูงนั้นพยาบาลต้องคำนึงถึงความแตกต่างของบุคคลด้วย การที่พยาบาลมีความเข้าใจในความแตกต่างด้านวิถีชีวิต ทัศนคติ ความเชื่อ ค่านิยม วัฒนธรรมและประเพณี ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสริมในการพัฒนาบทบาทได้ดียิ่งขึ้น และที่สำคัญพยาบาลจะต้องมองเห็นและยอมรับในศักยภาพของตนเอง และนำความรู้ความสามารถมาใช้ในการปฏิบัติการพยาบาล เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของผู้ร่วมวิชาชีพ และสหสาขาวิชาชีพ ต่อบทบาทของ APN ที่เรากำลังปฏิบัติอยู่นั่นเอง

ทฤษฎีทางการพยาบาลของรอย
การประยุกต์แนวคิดทฤษฎีการปรับตัวของรอยในกระบวนการพยาบาลจิตเวช
ทฤษฎีทางการพยาบาลของคิง (King’s Theory)
กระบวนการพยาบาลจิตเวชตามแนวคิดทฤษฎีการพยาบาลของโอเร็ม
บทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ และคุณลักษณะของพยาบาลจิตเวช
ประวัติความเป็นมาของการพยาบาลขั้นสูง สาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช
ทีมสุขภาพจิต
สิทธิของผู้ป่วยจิตเวช
แนวคิดเกี่ยวกับการพยาบาลสุขภาพจิตชุมชน

เอกสารอ้างอิง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย