วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

ชีวิตและพันธุกรรมกำหนดของความเป็นมนุษย์

ปิแอร์ ลุยกิ ลุยสิ, มหาวิทยาลัยโรมา อิตาลี

ทฤษฏีวิวัฒนาการของดาร์วินสู่ยุคพันธกรรมมนุษย์

ขอทบทวนความคิดหลักๆของทฤษฏีดาร์วิน ดังต่อไปนี้

สปีซีส์นั้นไม่ตายตัว แต่ปรับเปลี่ยนตามเวลา

เป็นไปได้อย่างไร? สาเหตุหลักน่าจะมาจากสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาตินั้นเปลี่ยนไปเรื่อยๆ สิ่งมีชีวิตถ้าจะอยู่รอด ก็ต้องปรับเปลี่ยนตามไปด้วย

สิ่งมีชีวิตมีการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม

เมื่อพูดถึงเรื่องการปรับตัว เราต้องเข้าใจก่อนว่าไม่ใช่สมาชิกทุกคนในเผ่าพันธุ์ จะมีความสามารถในการปรับตัวเท่าเทียมกัน กลุ่มที่ปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ก็จะสืบพันธุ์มากกว่า อยู่รอดมากกว่า ในที่สุดคนรุ่นใหม่ก็จะมีลักษณะด้านบวกนี้มากกว่า ซึ่งกลไกนี้นำไปสู่...

การคัดเลือกตามธรรมชาติ (Natural Selection)

พื้นฐานสำคัญของทฤษฏีวิวัฒนาการและเป็นคำอธิบายการเกิดสปีซีส์ใหม่ๆ การเกิดสปีซีส์ใหม่ ก็คือ เมื่อไรก็ตามที่สิ่งมีชีวิตใหม่นี้ไม่สามารถที่จะสืบพันธุ์กับสปีซีส์เดิมได้ สปีซีส์ต้นกำเนิดไม่จำเป็นต้องหายไปหมดอย่างสิ้นเชิง และอาจจะมีชีวิตรอดอยู่ต่อไปได้ และเพราะเหตุนี้ สัตว์สปีซีส์ใหม่ๆหลายๆสปีซีส์ อาจจะคงอยู่ร่วมกับบรรพบุรุษเดียวกันคู่กันไปได้ ดังนั้นทั้งหมดก็จะมี...

บรรพบุรุษร่วม (sharing a common ancester)

โดยที่แต่ละสปีซีส์ก็จะมีส่วนที่ปรับเปลี่ยนแปลงไป แต่ยังคงอาจจะสังเกตเห็นที่มา หรือจุดเริ่มต้นการเกิดวิวัฒนาการได้

พึงตระหนักว่าชาร์ล ดาร์วิน สรุปหลักการข้างต้นทั้งหมดนี้ ทั้งๆที่ปราศจากความรู้ใดๆในเรื่อง พันธุกรรม จนกระทั่งมีพระองค์หนึ่งในวัดแห่งหนึ่งที่ออสเตรีย ชื่อ เกรกอรี เมนเดล พัฒนาและนำเสนอ ทฤษฎีพันธุศาสตร์ขึ้น โดยอาศัยการศึกษารูปลักษณะทางพันธุกรรมในต้นไม้ ในตอนนั้นดาร์วินได้เริ่ม ตีพิมพ์หนังสือ (ปี 1858) และมีชื่อเสียงโด่งดังแล้ว เมนเดลได้เขียนจดหมาย ไปหาดาร์วิน และพูดเรื่องทฤษฏีพันธุกรรมให้ดาร์วินอ่าน แต่ทว่าดาร์วินไม่เคยได้อ่านจดหมายเหล่านี้เลย

จนต่อมาถึง จุดเริ่มของศตวรรษที่ยี่สิบ ผลงานของเมนเดลได้ถูกค้นพบจึงเป็นที่ปรากฏขึ้นมา ตอนแรกนั้นงานของ เมนเดลดูเหมือนจะขัดแย้งกับงานของดาร์วิน ในช่วงนี้หัวข้อพันธุกรรมดูจะเป็นที่นิยมมาก มีงานหลายชิ้นออกมา อาทิ T.H. Morgan, R.A. Fischer, J.B.S. Haldane, S’ Wright โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปี 1930 หนังสือเรื่อง The genetic theory of Natural Selection ที่ฟิชเชอร์สามารถ แสดงให้คนอื่นเข้าใจเรื่อง Mendelian genetics และทฤษฎีวิวัฒนาการโดยธรรมชาติ นั้นสอดคล้องกันเป็นอย่างดี (Pigliucci amd Müller, 2010)

การเกิดขึ้นของวิชาพันธุศาสตร์ประชากร (population genetics) เป็นเครื่องมือสำคัญต่อการ พัฒนาทฤษฏีที่ภายหลังรู้จักกันในนามของ ทฤษฎีสังเคราะห์ยุคใหม่ the Modern Synthesis (หรือ Modern Evolutionary Synthesis หรือ New Synthesis และมีบางคนส่วนน้อยเรียกเป็นทฤษฎีดาร์วินใหม่) ปรากฏเป็นผลงานชิ้นสำคัญในหนังสือ “วิวัฒนาการ: การสังเคราะห์ยุคใหม่ (Evolution: the modern synthesis)” สำนักพิมพ์อัลเลน และเออร์วิน กรุงลอนดอน เขียนขึ้นโดยจูเลียน ฮักซลี (หลานชายของ T.H. Huxley) การศึกษารวบรวมที่นำเอาพันธุกรรมประชากรมาพิจารณาและวิเคราะห์สังเคราะห์ ทำให้สามารถมองเห็นถึงความสำคัญของการเกิดพันธุกรรมแปรรูป (mutation) และความหลากหลาย ภายในสารพันธุกรรมของประชากรทั้งหมด กระบวนการวิวัฒนาการเป็นกระบวนการที่ทำให้ความถี่ หรือปริมาณของยีนส์ใดๆในประชากรทั้งหมดเกิดการเปลี่ยนแปลง

คำอธิบายของทฤษฎีสังเคราะห์ ยุคใหม่นี้เองที่เพิ่มมิติใหม่แก่ทฤษฎีของชาร์ล ดาร์วิน ที่มุ่งเน้นไปเรื่องของสิ่งมีชีวิต (organism) การเกิดวิวัฒน์ของสปีซีส์ใหม่ (speciation) และรายละเอียดของแต่ละเผ่าพันธุ์ (individuals) ทฤษฎีสังเคราะห์ยุคใหม่ประสานรวมเอากลไก ทางวิวัฒนาการหลายประการ เข้ากับทฤษฎี คัดเลือกตามธรรมชาติ (อาทิ การสุ่มลดของพันธุกรรมบางสายพันธุ์) ในทฤษฎีนี้เองที่บ่งชี้ว่า ลักษณะต่างๆของสิ่งมีชีวิตถูกถ่ายทอดโดยสารพันธุกรรมที่เรียกว่ายีนส์ ทฤษฎีสังเคราะห์ ยุคใหม่ตั้งข้อสังเกตว่าการเกิดสปีซีส์ใหม่เป็นผลเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมทีละเล็ก ทีละน้อย สะสมมากขึ้นเรื่อยๆจนเกิดเผ่าพันธุ์ใหม่ในที่สุด (อีกนัยหนึ่ง วิวัฒนาการในระดับมหภาคก็คือ ผลรวมสะสมของวิวัฒนาการระดับจุลภาคนั่นเอง)

ก้าวใหญ่ต่อไปที่ทำให้เราเข้าใจกระบวนการวิวัฒนาการกลับไปอยู่ที่ระดับโมเลกุล นั่นคือ การค้นพบและอธิบายโครงสร้างของสารพันธุกรรม (DNA) จากความเข้าใจในโครงสร้างของ DNA ทำให้เราเข้าใจถึงหน้าที่พื้นฐานสองประการของ DNA ประการแรกคือความสามารถในการจำลองตนเอง โดยตัว DNA เองจะไม่สามารถทำการจำลองตนเองได้ เพราะจะต้องอาศัยเอนไซม์ และกระบวนการขั้นตอน ทางชีววิทยามากมาย จังหวะขั้นตอนที่ถูกต้อง กระนั้นก็ตาม DNA เป็นโครงสร้างของ สารโมเลกุลใหญ่อย่างเดียวที่มีคุณสมบัติจำลองตนเอง จากการที่มีโครงสร้างเกลียวซ้อนสอง (double helix) และการเชื่อมต่อกันระหว่างโมเลกุลจำเพาะภายใน DNA คือคู่ของอดีนีน-ธัยมีน (A-T) และกวานีน-ไซโตซีน (G-C) ความเข้าใจในโครงสร้าง DNA และการสร้าง copy ของสารพันธุกรรมเป็นความ เข้าใจที่สำคัญมากทำให้เกิดก้าวใหญ่ของความรู้เรื่องวิวัฒนาการ ต่อทั้งวงการวิทยาศาสตร์ และต่อคนธรรมดาๆทั่วๆไป

ต่อมาได้เกิดโครงการศึกษาพันธุกรรมมนุษย์ (human genome project) ด้วยความใฝ่ฝันที่เราจะมีข้อมูลครบถ้วนของระบบพันธุกรรมของมนุษย์ จากการประเมินว่า พันธุกรรมมนุษย์ประกอบด้วยการเรียงตัวของคู่โมเลกุลจำเพาะถึงสามพันล้านคู่ ผลปรากฏว่ามนุษย์มี สารกำหนดพันธุกรรมอยู่ทั้งหมดประมาณ 25000 ถึง 30000 ยีนส์ ซึ่งเป็นผลสรุปสำคัญ ประการแรกของโครงการนี้ และเมื่อพิจารณาจากความจริงที่ว่า ชีวิตของมนุษย์ต้องอาศัย โปรตีนทั้งหมดประมาณ 100,000 โปรตีน แปลว่ายีนแต่ละยีนต่างก็มีส่วนร่วมในหน้าที่ต่างๆมากมาย ทำลายความเชื่อดั้งเดิมที่ว่า “หนึ่งยีน หนึ่งโปรตีน” ไปอย่างสิ้นเชิง ความรู้ใหม่นี้ทำให้เราเข้าสู่วิกฤติใหม่ ของความเข้าใจเรื่องพันธุศาสตร์

ผลการศึกษานี้ได้กลายเป็นข่าวใหญ่ในสื่อต่างๆ ใครๆต่างก็เรียกพันธุกรรมมนุษย์ว่าเป็น “คัมภีร์แห่งชีวิต” (book of life) ซึ่งเป็นคำที่ใช้แล้วก่อให้เกิดความสับสนและตีความมากมาย และเราพึงตระหนักด้วยในเรื่องที่จะคิดใคร่ครวญต่อไป โนเบิล (Noble, 2006) กล่าวไว้ชัดเจนว่า การที่เรารู้เรื่องยีนในตอนนี้ ไม่ได้มีส่วนช่วยแม้แต่น้อย ในการที่จะทำให้เราเข้าใจว่าทำไมสุนัขจึงเป็นสุนัข ทำไมมนุษย์จึงเป็นมนุษย์

สถานการณ์ไม่ได้ช่วยเลยที่ทั้งสื่อมวลชน หรือแม้กระทั่งในสถาบันการศึกษา มีการขยายคำอธิบายมากเกินจริงถึงความสำคัญของยีนส์ต่อชีวิตของเรา เกิดความเข้าใจ ไปถึงกับว่ามีการพูดถึง “การกำหนดชีวิตจากยีน (genetic determinism)” มีตั้งแต่ยีนอ้วน ยีนมุทะลุ และยีนยอดนิยมเช่นยีนอายุยืน อาจจะเริ่มต้นมาจากการพูดของดอคิน (Dawkins, 1976) เรื่องยีนเห็นแก่ตัว (selfish gene) ที่ว่าสิ่งมีชีวิตที่จะถูกคัดเลือกให้อยู่รอด คือพันธุกรรม ที่ต้องทำให้สิ่งมีชีวิตนั้นๆได้เปรียบในการอยู่รอดและแพร่พันธุ์ มุมมองชีวิตที่ใช้ยีนกำหนด ทุกสิ่งทุกอย่างนี้เป็นระบบความคิดตัดทอนแบบใหม่ (novel reductionism) ที่สรุปเอาง่ายๆว่ายีน เป็นตัวกำหนดทุกสิ่งทุกอย่าง ความคิดนี้สมควรถูกต่อต้าน และทำให้ชัดเจนก่อนจะสายเกินไป เดนิส โนเบิล ได้เขียนหนังสืออธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนมาก

ในความเป็นจริงแล้ว การคิด หรือสรุปว่ายีนใดยีนหนึ่งจะเป็นตัวทำให้เกิดพฤติกรรม หรือหน้าที่ต่างๆที่ซับซ้อนได้นั้น เป็นการคิดที่ไม่มีเหตุผลสักเท่าไร พิจารณาถึงกระบวนการ ทางชีวภาพแต่ละอย่าง จะต้องอาศัยลำดับการทำงานของยีนมากมาย ตามลำดับ ตามขั้นตอน เข้าด้วยกันจึงจะเป็นไปได้ การร่วมมือกันของกลุ่มยีนส์เป็นลักษณะสำคัญของการทำงาน และรวมทั้งการเกิดวิวัฒนาการ

เราพึงตระหนักว่า ยีนแต่ละยีนนั้นถูกอ่านโดยโปรตีน ถูกสร้างก็โดยโปรตีน เครือข่ายการทำงานของยีนส์ ต้องถูกพิจารณาวิเคราะห์ร่วมไปกับเครือข่ายการทำงานของโปรตีน ทั้งหมดนี้เป็นระบบเกี่ยวเนื่อง เชื่อมโยงระหว่างสารพันธุกรรมและวิวัฒนาการ และความเป็นองค์รวมทั้งหมดของระบบ อย่างที่โนเบิล ได้เขียนไว้ (2006) การสอดประสานเครือข่ายทั้งหมดนี้เองถูกกำหนดโดยสิ่งมีชีวิตเอง ชีวิตที่แท้เป็นตัวกำหนดยีนและหน้าที่ของมัน แทนที่จะเป็นแบบตรงกันข้าม

คำถามที่เหลืออยู่ตอนนี้ก็คือ ถ้าอย่างนั้นพันธุกรรมของเรามีผลอย่างไรบ้างล่ะ ต่อพฤติกรรม ต่อชีวิตในแต่ละวัน และต่ออนาคตของมนุษย์?
การกำหนดความเป็นมนุษย์ (The Determinants of our being human)

แม้ว่าเราจะไม่เชื่อใน “คัมภีร์แห่งชีวิต” (book of life) แต่ก็เป็นความจริงที่แสดงออกมา ตั้งแต่มีชีวิตเกิดขึ้นว่ายีนของมนุษย์นั้นมีประวัติวิวัฒนาการอันยาวนาน และกำหนดพฤติกรรม ของเราไว้จำนวนมาก สัญชาติญาณกำหนดพฤติกรรมส่วนใหญ่ของสัตว์ และเป็นที่แน่นอนว่า สัญชาติญาณนั้นมาจากพันธุกรรมเป็นพื้นฐาน มนุษยนั้นมีความแตกต่างจากสัตว์ทั้งหมด ไม่เพียงแค่รูปร่าง แต่ทั้งพฤติกรรม วิถีชีวิต และความแตกต่างทั้งหมดนี้ก็ไม่ต้อง สงสัยว่าส่วนใหญ่ จะมาจากการตกทอดมาทางพันธุกรรม แต่จะเป็นสัดส่วนสักเท่าไรล่ะ? (คำถามนี้ไม่ได้ตั้งเป้าหมาย ไปทางการกำหนดชีวิตจากยีน หรือไปทางสังคมชีววิทยา แต่เพื่อเพิ่มมุมมองในเรื่องวิวัฒนาการของมนุษย์ คำสำคัญจากข้างต้นก็คือ “สัญชาติญาณ” เรากำลังพูดถึงสัญชาติญาณพื้นฐานของมนุษยชาติ เพียงแต่สำหรับมนุษย์ เราปราถนาจะหาคำที่ดีกว่านี้

ลองกลับไปพิจารณาถึงหลักวิวัฒนาการของดาร์วินบางประการดู อะไรคือความหมายที่แท้จริงของ “การอยู่รอดของผู้ที่เหมาะสมที่สุด” (survival of the fittest) อันที่จริงดาร์วินไม่ได้เป็นผู้ใช้คำๆนี้ แต่ใช้คำว่า “การดิ้นรนเพื่ออยู่รอด” (struggle for life) คำว่าการอยู่รอดของผู้ที่เหมาะสมที่สุดนั้นนำมาโดยสเปนเซอร์ และกลุ่มผู้คนที่เชื่อในทฤษฎีดาร์วิน (Spencer, 1854) ซึ่งก็คือในสังคมมนุษย์นั้น คนที่เหมาะสมที่สุดได้แก่คนที่รวยกว่า และมีการศึกษาสูงกว่า คนเหล่านี้ที่จะมีชีวิตอยู่รอดและพัฒนา ส่วนผู้อ่อนแอยากจนนั้นก็ควรจะเป็นไปตามยถากรรม มัลธุส คนสำคัญ อีกคนหนึ่งในยุค วิกตอเรียก็เห็นด้วยกับการแปลความทำนองนี้ โดยคิดว่านี่เป็นตัวอย่างการกำหนดของวิวัฒนาการ (Malthus 1798)

แท้ที่จริงความเชื่อแบบดาร์วิน (Darwinism) ไม่ได้มีอะไรสัมพันธ์กับความคิดของกลุ่ม ความเชื่อทางสังคมแบบดาร์วิน (social Darwinism) ที่ตีขลุมตีความเอาเองว่าการพัฒนา ของสังคมของมนุษย์นั้น เป็นไปตามวิวัฒนาการชีวภาพ คล้ายๆกับของสัตว์ขั้นต่ำ และการเหมา เชื่อมโยงเรื่อง “ตามธรรมชาติ” อย่างชีวิตตามธรรมชาตินั้น จะสอดคล้องไปกับด้านของคุณธรรมด้วย แต่กระนั้นก็ตามแม้ว่าเราจะไม่เอา ตามกลุ่มความเชื่อทางสังคมแบบดาร์วินก็ดี หรือกลุ่มอนุรักษ์นิยม ทางสังคมชีววิทยา การคัดเลือกตามธรรมชาติก็ยังคงมีนัยยะแห่งการแข่งขัน หรือการประชันกัน ระหว่างกลุ่มชีวิตที่มีความแตกต่างกัน ส่วนจะมากน้อยแค่ไหน ที่เป็นเรื่องของสัญชาติญาณ จะมากน้อยแค่ไหนที่เป็นการกำหนดโดยพันธุกรรม ที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมมนุษย์ เป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจน

สัตว์เซลล์เดียวขั้นพื้นฐานธรรมดา
การผุดกำเนิด
ระบบจัดการตนเอง
ระบบอัตตกำเนิด
การไร้ซึ่งจุดจำเพาะเจาะจงหรือศูนย์กลางแห่งชีวิต
การรับรู้
วิถีภายในตัวเองของการรู้ตัว
ทฤษฏีวิวัฒนาการของดาร์วินสู่ยุคพันธกรรมมนุษย์
ภาพรวมและอนาคตที่กำลังผุดกำเนิด
พันธุกรรมของมนุษย์จะส่งผลอะไรกับเรา

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย