สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ระบอบรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

(Constitutionalism and Thai Constitutions)

ความหมายของรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย
การบัญญัติ การบังคับใช้ และการตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ กับ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ กับการปกครองของประเทศอื่นๆ
รัฐธรรมนูญกับการปกครองของไทย
เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญไทย
บรรณานุกรม

เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญไทย

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2495”

ประกาศใช้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2495 มีบทบัญญัติทั้งหมด 123 มาตรา คณะรัฐประหารได้ให้เหตุผลในการนำเอารัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 กลับมาใช้บังคับ โดยแก้ไขบทบัญญัติบางมาตราว่า รัฐธรรมนูญฉบับนั้นเหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนั้น “ยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญฉบับอื่น ๆ ที่เคยมีมาแล้ว” ซึ่งนับว่าเป็นเหตุผลที่ไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังได้เลย ทั้งนี้ก็เพราะมูลเหตุที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประสบความยุ่งยากในการบริหารประเทศตามแนวทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 เพราะไม่สามารถคุมเสียงของสมาชิกส่วนใหญ่ในวุฒิสภาได้ และต้องใช้เงินซื้อเสียงของสมาชิกสภาผู้แทนตลอดเวลา จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงหาทางออกโดยการนำเอารัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 กลับมาใช้ อันเป็นรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้คณะรัฐมนตรีสามารถคุมเสียงของสมาชิกในรัฐสภาซึ่งมีสภาเดียว คือ สภาผู้แทนราษฎรได้อย่างเด็ดขาด โดยวิธีการแต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 เข้าไปนั่งในสภาผู้แทนเท่ากับจำนวนของสมาชิกประเภทที่ 1 ซึ่งราษฎรเลือกตั้ง

ข้อแตกต่างประการแรกก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนดวิธีการลดจำนวนสมาชิกประเภทที่ 2 เป็น 2 ระยะ คือ 5 ปีลดครั้งหนึ่งตามเกณฑ์ของจำนวนราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งจบการศึกษาชั้นประถมศึกษา โดยอนุญาตให้ราษฎรในจังหวัดนั้นเลือกผู้แทนเพิ่มขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง เท่ากับจำนวนผู้แทนที่จังหวัดนั้นมีอยู่แล้วในสภาผู้แทน และเมื่อครบ 10 ปีแล้ว สมาชิกประเภทที่ 2 จะหมดวาระทั้งหมด คงมีแต่สมาชิกประเภทที่ 1 อยู่ในสภาเท่านั้น ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ไม่ได้กำหนดให้มีการลดจำนวนสมาชิกประเภทที่ 2 เป็น 2 ระยะ แต่กำหนดให้เลิกพร้อมกันทั้งหมด หลังจากใช้รัฐธรรมนูญมาแล้วครบ 10 ปี

ประการที่ 2 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เอาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 ที่ห้ามฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ว่าในคดีใด ๆ มาบัญญัติไว้ด้วย (มาตรา 4) ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ไม่ได้บัญญัติห้ามไว้ ซึ่งยังผลให้ราษฎรผู้หนึ่งฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นคดีแพ่งต่อศาลได้ในระหว่างที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้นำเอาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 ที่กำหนดให้คณะองคมนตรีทำหน้าที่ถวายความเห็นต่อกษัตริย์ในพระราชกรณียกิจทั้งปวง ที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ไม่ได้บัญญัติไว้มาบัญญัติไว้ด้วย

ประการที่ 3 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ บัญญัติรับรองเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง ทั้งนี้ภายใต้บังคับกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ไม่ได้บัญญัติรับรองไว้ แต่เนื่องจากรัฐบาลไม่ยอมออกกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองจนกระทั่งปี 2489 จึงยังผลให้ชนชาวไทยไม่สามารถใช้เสรีภาพดังกล่าวได้ก่อนหน้านั้น

ปรากฏว่าจอมพล ป. พิบูลสงคราม สามารถใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 เป็นเครื่องมือในการปกครองประเทศไทยอย่างสะดวกผ่านทางสมาชิกสภาผู้แทนประเภทที่ 2 ซึ่งเขาแต่งตั้งจากบรรดานายทหารและข้าราชการพลเรือนที่เป็นพรรคพวกช่วยสนับสนุนและควบคุมสมาชิกสภาผู้แทนประเภทที่ 1 บางคนบางกลุ่มมิให้ก่อกวนเสถียรภาพของรัฐบาล ยังผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 บางกลุ่ม โดยเฉพาะสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งไม่สามารถทำหน้าที่ฝ่ายค้านและตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิผล

นอกจากนั้น แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะรับรองเสรีภาพในการตั้งพรรคการเมือง และดำเนินกิจกรรรมทางการเมืองได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่สมาชิกสภาผู้แทนทุกคนรวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนที่สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายพรรคการเมืองรองรับ จึงทำให้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ใช้วิธีการรวบรวมสมาชิกสภาผู้แทนอิสระโดยตั้งให้เป็น “คณะกรรมการนิติบัญญัติ” นอกสภาผู้แทนคอยช่วยกลั่นกรองร่างกฎหมายของรัฐบาลโดยจัดให้มีการประชุมคณะกรรมการนิติบัญญัติดังกล่าวที่บ้าน “มนังคศิลา” ก่อนวันประชุมสภาผู้แทนประจำสัปดาห์ เพื่อขอให้สมาชิกสภาผู้แทนดังกล่าวสนับสนุนร่างกฎหมายของรัฐบาล

แต่เนื่องจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งนิยมรัฐธรรมนูญฉบับนี้เสื่อมอิทธิพลลงเรื่อย ๆ ทั้งในหมู่ประชาชนและผู้นำฝ่ายทหารบก เนื่องจากปล่อยให้มีการเลือกตั้งสกปรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 และพยายามบังคับให้รัฐมนตรีที่เป็นทหารประจำการถอนตัวออกจากธุรกิจการค้า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกซึ่งไม่ยอมถอนตัวจากธุรกิจการค้าแต่ยอมลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี จึงทำรัฐประหารยึดอำนาจเป็นผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 จอมพล ป. พิบูลสงครามหลบหนีออกนอกประเทศ แต่คณะรัฐประหารภายใต้การนำของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็มิได้เลิกล้มรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในตอนนั้น และสนับสนุนให้มีรัฐบาลนำโดยพลเรือนชั่วคราว เพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ในเดือนธันวาคม 2500

หลังจากนั้นจอมพลสฤษดิ์ จึงจัดตั้งพรรคชาติสังคมขึ้น โดยรวมเอาบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคยสนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้าไว้ด้วยและสนับสนุนให้พลโท ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งว่า พลโทถนอม กิตติขจร ไม่สามารถบริหารประเทศตามแนวรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ต่อไป จึงได้ทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยให้เหตุผลว่าต้องการจะมีรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม เพื่อให้การปกครองประเทศเป็นไปโดยเรียบร้อยยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 จึงทำให้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 ใช้บังคับได้เพียง 6 ปี กับ 7 เดือนเศษ แต่คณะปฏิวัติก็ไม่ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในทันที เหมือนคณะรัฐประหารชุดก่อน และใช้อำนาจปฏิวัติเป็นเครื่องมือในการปกครองประเทศอยู่เป็นเวลา 3 เดือนกับ 7 วัน จึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

« ย้อนกลับ | หน้าถัดไป »

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 มีชื่อว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” (ฉบับชั่วคราว)
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2495”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 7 มีชื่อว่า “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 8 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 9 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2516
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 11 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 12 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2520
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 14 มีชื่อว่า “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 15 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย