สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ระบอบรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

(Constitutionalism and Thai Constitutions)

ความหมายของรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย
การบัญญัติ การบังคับใช้ และการตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ กับ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ กับการปกครองของประเทศอื่นๆ
รัฐธรรมนูญกับการปกครองของไทย
เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญไทย
บรรณานุกรม

เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญไทย

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”

เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2489 มีบทบัญญัติรวมทั้งสิ้น 96 มาตรา รัฐบาลของดร. ปรีดี พนมยงค์ ได้ให้เหตุผลในการนำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นใช้แทนรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ใช้มานานกว่า 14 ปีแล้วสมควรจะได้มีการปรับปรุงบทเฉพาะกาลว่าด้วยการแต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ซึ่งได้รับการต่ออายุจนถึงปี 2495 จึงเป็นบทเฉพาะกาลที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ของบ้านเมืองในเวลานั้นสมควรเลิกเสีย ทั้งนี้ก็เพื่อทำ “ให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น” และเพื่อให้เป็นไปตามพระราชปรารถนาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ประสงค์จะให้ประชากรของพระองค์ “ดำรงอิสราธิปไตยโดยสมบูรณ์”

ด้วยเหตุนี้ จึงปรากฏว่าแม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะได้ใช้หลักการของ “การปกครองในระบบรัฐสภา” เหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 แต่แนวทางในการดำเนินการปกครองเป็นประชาธิปไตยมากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 อย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้บัญญัติให้มี 2 สภา คือ สภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งทั้งสิ้น ยกเว้นในวาระเริ่มแรกเท่านั้นที่อนุญาตให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 เป็นผู้เลือกตั้งสมาชิกของวุฒิสภา นอกจากนั้น แม้ว่าวุฒิสภาจะทำหน้าที่เป็นเพียงสภายับยั้งร่างกฎหมายของสภาผู้แทน และควบคุมการบริหารงานของรัฐมนตรีได้น้อยกว่าสภาผู้แทน แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นสมาชิกวุฒิสภาสูงกว่าของผู้ที่จะเป็นสมาชิกสภาผู้แทน กล่าวคือ ในขณะที่ผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนนั้นจะต้องมีอายุตั้งแต่ 23 ปีขึ้นไป และมีคุณวุฒิจบประถมศึกษาก็พอ ผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภาจะต้องมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี หรือเทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเคยเป็นข้าราชการไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากองหรือเทียบเท่า ซึ่งแสดงว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการให้วุฒิสภาเป็นสภาของผู้ซึ่งมีวัยวุฒิและคุณวุฒิสูง

นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้มีบทบัญญัติห้ามมิให้ข้าราชการประจำเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองในขณะเดียวกัน คือข้าราชการประจำจะเป็นรัฐมนตรีหรือสมาชิกรัฐสภาในขณะเดียวกันไม่ได้ซึ่งย่อมหมายความว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องการให้แยกข้าราชการประจำกับข้าราชการการเมืองออกจากกันโดยเด็ดขาดนั่นเอง อันเป็นหลักการที่ประเทศประชาธิปไตยส่วนมากในโลกยึดถือกันมานานแล้ว
ยิ่งกว่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังได้บัญญัติรับรองว่า ชนชาวไทยมีเสรีภาพที่จะรวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ไม่ได้บัญญัติรับรองไว้ การที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้อนุญาตให้ชนชาวไทยใช้เสรีภาพในเรื่องนี้ได้ ย่อมจะช่วยทำให้ชนชาวไทยมีโอกาสที่จะรวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องรักษาผลประโยชน์ของตน และถ่วงดุลอำนาจของกลุ่มชนอื่น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอำนาจตามกฎหมาย เช่น กลุ่มข้าราชการ เป็นต้น

การที่บุคคลสำคัญของคณะราษฎรเองซึ่งยังมีอิทธิพลอยู่มากในเวลานั้น ประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่มีบทบัญญัติให้สิทธิเสรีภาพแก่ราษฎรอย่างกว้างขวาง และจำกัดอำนาจของพวกตนเองเช่นนี้ น่าจะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า คณะราษฎรมิใช่เป็นพวกที่หวงอำนาจและขาดอุดมการณ์ประชาธิปไตยเสียหมดทุกคน

เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขาดขบวนการเมืองที่เข็มแข็งที่จะคอยพิทักษ์เสียแล้ว ประกอบกับรัฐธรรมนูญรัฐธรรมนูญฉบับได้ถูกใช้บังคับในระหว่างที่ประชาชนกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่แร้นแค้น โดยที่รัฐบาลก็แก้ไม่ตกจึงยังผลให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่มีอายุสั้นที่สุด คือ มีอายุเพียง 18 เดือนเท่านั้นก็ถูกประกาศยกเลิกโดยคณะรัฐประหาร เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490

« ย้อนกลับ | หน้าถัดไป »

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 มีชื่อว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” (ฉบับชั่วคราว)
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2495”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 7 มีชื่อว่า “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 8 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 9 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2516
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 11 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 12 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2520
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 14 มีชื่อว่า “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 15 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย