สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ระบอบรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

(Constitutionalism and Thai Constitutions)

ความหมายของรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย
การบัญญัติ การบังคับใช้ และการตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ กับ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ กับการปกครองของประเทศอื่นๆ
รัฐธรรมนูญกับการปกครองของไทย
เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญไทย
บรรณานุกรม

การบัญญัติ การบังคับใช้ และการตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญ

การบัญญัติรัฐธรรมนูญ

การบัญญัติรัฐธรรมนูญ หรือ การตรากฎหมายรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจาก อำนาจจัดให้มีรัฐธรรมนูญ (pouvior constituent) เมื่อผู้มีอำนาจสูงสุดของรัฐในขณะนั้นตกลงใจที่จะให้มีรัฐธรรมนูญใช้ในการปกครองประเทศการดำเนินการทำให้เกิดบัญญัติว่าด้วยการบริหารการปกครองประเทศก็เริ่มต้น

ผู้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ

ผู้ที่มีอำนาจในการให้รัฐธรรมนูญจะแต่งตั้งมอบหมายให้บุคคลหรือคณะบุคคลคณะหนึ่งให้มีอำนาจหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญ การมอบหมายอำนาจหน้าที่ก็ต้องทำเป็นกฎหมาย พร้อมทั้งให้กรอบความคิดและเนื้อหาที่สำคัญและจำเป็นกับคณะผู้ร่างด้วยเช่นของประเทศไทย รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6 ) พ.ศ. 2539 ให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อจัดร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

การดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ

คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญจะดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญโดยพิจารณาประเด็นสำคัญดังนี้

1. เนื้อหาที่จะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญประเทศประชาธิปไตยต้องบ่งบอกหลักการใหญ่ที่สำคัญคือ เสรีภาพ สิทธิ ความเสมอภาค และหน้าที่ของประชาชน การกำหนดอำนาจอธิปไตย การตรวจสอบ และการถ่วงดุลการใช้อำนาจอธิปไตย และวิธีดำเนินการทางการเมือง ที่จะทำให้หลักการเหล่านี้เป็นจริงในทางปฏิบัติ ทั้งนี้ผู้ร่างจะต้องทราบถึงเป้าหมายและเจตจำนงของประเทศว่าต้องการให้มีการจัดการโดยวิธีการใด อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ร่างมาจากการมอบหมายอำนาจของผู้ที่มีอำนาจให้มีกฎหมาย บทบัญญัติจึงมักจะมาตามความประสงค์จากผู้มีอำนาจ เช่นรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. 1958 คณะผู้ร่างได้ใช้ความคิดของนายพล De Gaulle หัวหน้ารัฐบาลขณะนั้นมากำหนดในรัฐธรรมนูญว่าด้วยการขยายอำนาจของประธานาธิบดีและสมาชิกรัฐสภาจะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีคราวเดียวกันไม่ได้ (เกรียงไกร, 2543 หน้า 50) หรือการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ที่เป็นไปเพื่อให้มีการปฏิรูปการเมืองโดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขปัญหาการทุจริตการเลือกตั้ง จึงทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติให้มีคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เข้ามาทำหน้าที่จัดการการเลือกตั้ง

นอกจากนี้รัฐธรรมนูญอาจจะกำหนดเรื่องแนวนโยบายเพื่อเป็นแนวทางในการบริหารประเทศเช่นรัฐบาลของไทย ตั้งแต่ฉบับ พ.ศ. 2492 จนถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 รัฐธรรมนูญของสาธรณรัฐอิตาลี ค.ศ. 1948 และรัฐธรรมนูญของไอร์แลนด์ หรืออาจกำหนดให้ภาษาชาติต่างๆ เป็นภาษาราชการเพราะภายในประเทศประกอบด้วยคนเชื้อชาติต่างกัน เช่น รัฐธรรมนูญประเทศสวิส และแคนาดา (สมยศ, 2535 หน้า 78-80)

2. การเขียนรัฐธรรมนูญ

สิ่งที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องคำนึงถึงในการเขียนคือ

2.1 รัฐธรรมนูญควรบอกได้ถึงความเป็นมาและวิธีการจัดทำเพื่อให้ทราบถึงเจตนารมณ์ของการจัดทำและสามารถนำไปใช้และการตีความด้วย การเขียนในส่วนนี้ก็คือการอารัมภาบทหรือคำปรารภ (บางท่านเห็นว่าคือตัวบทแต่บางท่านก็ไม่เห็นด้วย) คำปรารภของรัฐธรรมนูญมีประโยชน์ดังนี้ (สมยศ, 2535 : 81)

(1) ถือเป็นข้อความของรัฐธรรมนูญเหมือนดังได้บัญญัติไว้เป็นบทมาตราต่าง ๆ ของรัฐธรรมนูญ
(2) เป็นการชี้เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้นจึงอาจนำไปใช้เครื่องมือในการตีความรัฐธรรมนูญได้

2.2 ถ้อยคำที่ใช้ในรัฐธรรมนูญต้องมีความแน่นอนชัดเจน(definite) ไม่กำกวมเพื่อไม่ให้เข้าใจได้ในหลายกรณี จนนำไปสู่การตีความรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดปัญหาในการนำรัฐธรรมนูญไปใช้

2.3 ควรเขียนเนื้อหาในหลักการใหญ่ที่สำคัญ ส่วนรายละเอียดสามารถกำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นได้

2.4 รัฐธรรมนูญที่ดีต้องสั้นพอสมควร (brief) (เดชชาติ)

2.5 ไม่ควรเขียนรัฐธรรมนูญให้ตายตัวผูกมัดจนเกินไป เช่น การจำกัดอำนาจของสภานิติบัญญัติในการออกกฎหมายมากเกินไป โดยยอมให้ออกกฎหมายได้เฉพาะกรณีเป็นต้น ทั้งนี้เพราะการบัญญัติกฎหมายให้เป็นการผูกมัดเช่นนี้ถ้าไม่สามรถแก้ไขเพิ่มเติมได้และเกิดมีความจำเป็นต้องแก้ไขการผูกมัดเช่นว่านั้นก็จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วยการปฏิวัติ (สมยศ, 2535 หน้า 82-83)

2.6 มีความเหมาะสมกับสภาพอันแท้จริงของรัฐ (เดชชาติ)

2.7 ควรให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นด้วย เช่นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540

2.8 ควรเขียนเนื้อหาให้ครบ

2.9 ควรให้มีผู้รักษารัฐธรรมนูญ เพื่อให้รัฐธรรมนูญสามารถดำเนินไปได้อย่างเรียบร้อย

3. การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ

เมื่อคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำเสร็จแล้วขั้นตอนต่อไปเป็นหน้าที่ของผู้ที่มีอำนาจในการออกกฎหมายตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย คือ รัฐสภา เช่นรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ค.ศ. 2958 ซึ่งเมื่อร่างเสร็จแล้วจะต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาแห่งรัฐนี้ (Conseil d’Etat) และเช่นของไทยที่เมื่อสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จัดทำร่างเสร็จแล้วก็ต้องส่งให้รัฐสภาพิจารณาและให้ความเห็นชอบ
นอกจากนี้อาจให้ประชาชนลงมติเห็นชอบด้วยก็ได้ เช่นของฝรั่งเศส (วันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1958) หรือของไทยที่รัฐสภา พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6 ) พ.ศ. 2539 กำหนดว่าถ้าสมาชิกรัฐสภาให้ความเห็นชอบไม่ถึงครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดให้ประชาชนออกเสียงประชามติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างที่ ส.ส.ร. จัดทำขึ้น

การพิจารณาในความเห็นชอบของสภานี้ รัฐสภาอาจมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขร่างเดิมได้ดังเช่นของฝรั่งเศสหรือให้แก้ไขเพิ่มเติมไม่ได้ก็ได้ เช่นของไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2539 มาตรา 211 ปีณรส

การประกาศใช้

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว ฝ่ายบริหารจะนำไปประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป สำหรับประเทศไทย การประกาศใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญนี้มีทั้งประกาศให้ใช้ทันที (ณ วันประกาศ) คือรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475(1) 2475(2) 2490 2519 2511 กำหนดวันใช้ในรัฐธรรมนูญ เช่นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 และวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เช่นรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 2495 2511 2534(2) 2540 ส่วนรัฐธรรมนูญการปกครอง พ.ศ. 2502 2515 2520 และ 2534(1) ไม่มีการกำหนด รัฐธรรมนูญของญี่ปุ่น (3 พฤษภาคม ค.ศ. 1946) กำหนดวันประกาศใช้ และรัฐธรรมนูญของเยอรมนีประกาศใช้วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

« ย้อนกลับ | หน้าถัดไป »

การบัญญัติรัฐธรรมนูญ
การบังคับใช้กฎหมายของรัฐธรรมนูญ
การยกเลิกการใช้กฎหมายของรัฐธรรมนูญ
การป้องกันรัฐธรรมนูญ
การตีความรัฐธรรมนูญ
องค์กรที่ทำหน้าที่ตีความตามรัฐธรรมนูญ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย