สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ระบอบรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

(Constitutionalism and Thai Constitutions)

ความหมายของรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย
การบัญญัติ การบังคับใช้ และการตีความกฎหมายรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ กับ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญ กับการปกครองของประเทศอื่นๆ
รัฐธรรมนูญกับการปกครองของไทย
เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญไทย
บรรณานุกรม

เปรียบเทียบรัฐธรรมนูญไทย

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 15 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”

เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่สภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) แต่งตั้ง โดยประกาศใช้ในวันที่ 9 ธันวาคม 2534 มี 223 มาตรา รัฐสภาประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน จำนวน 300 คน และสมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้ง จำนวน 270 คน โดยประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นรองประธานรัฐสภา รัฐมนตรีต้องไม่เป็นราชการประจำ การบริหารประเทศของคณะรัฐมนตรีจะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยไม่ต้องลงมติไว้วางใจจากรัฐสภา

กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้คล้ายกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 (2521) อย่างมาก คือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยผู้สนับสนุนคณะ รสช. เป็นส่วนใหญ่ได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาหนึ่งคณะ เพื่อทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยกรรมาธิการ 20 คน มาจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 8 คน และมาจากที่อื่นซึ่งโดยมากเป็นนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จำนวน 14 คน โดยมีนายมัชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน และเมื่อคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ก็ให้นำเสนอสภานิติบัญญัติพิจารณารับหลักการ จากนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็จะแต่งตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวอีกคณะหนึ่ง เพื่อแก้ไขปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวในวาระที่ 2 ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้มีเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญเกิดขึ้นหลายประการอันเป็นเหตุให้มีการเรียกร้องให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้หลังประกาศใช้บังคับได้ไม่นาน

ประการแรก แม้ว่าคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานนั้นจะพยายามรับฟังเสียงประชาชนผู้รักประชาธิปไตย และยึดหลักประชาธิปไตยเป็นแนวในการยกร่างรัฐธรรมนูญค่อนข้างมาก เพื่อมิให้ถูกมองว่าคณะกรรมาธิการฯ ร่างรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์ในการสืบทอดอำนาจให้แก่คณะรสช. แต่หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้พิจารณาและตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญประกอบด้วย นายโอสถ โกสิน เป็นประธาน และสมาชิกสภาอื่นอีก 24 คน เป็นกรรมาธิการ มีหน้าที่พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญนี้ในวาระที่สอง

ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยเริ่มระแวงว่า คณะกรรมาธิการฯ ชุดใหม่จะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญนี้ในวาระที่สอง จึงพยายามกดดันมิให้คณะกรรมาธิการ ฯ กระทำดังกล่าว และเมื่อปรากฏว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่นี้เปิดโอกาสให้แกนนำของคณะรสช. เช่น พลเอกสุจินดา คราประยูร และพลอากาศเอก เกษตร โรจนนิล จะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้แล้ว แม้ว่าคณะบุคคลที่รักประชาธิปไตยจะไม่พอใจบทบัญญัติบางมาตราที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยเฉพาะการนำเอาบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521 มาใส่ไว้ ซึ่งเท่ากับเป็นการถอยหลังเข้าคลอง แต่พวกเขาก็ไม่ขัดขวางการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2534 ด้วยคะแนนเสียง 262 ต่อ 7 และงดออกเสียง 4 ให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ขึ้นกราบบังคับทูลฯ เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ต่อไป โดยหวังว่าจะขอแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ หลังจากประกาศใช้บังคับแล้ว

เพราะฉะนั้น หลังจากที่คณะ รสช. ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในวันที่ 9 ธันวาคม 2534 แล้ว พรรคการเมือง นักการเมือง และประชาชนที่รักประชาธิปไตย จึงพยายามเรียกร้องให้พรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ส่งเสริมสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 มีนาคม 2535 แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใน 4 ประเด็น คือ

1. ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา
2. ให้มีสมัยประชุมสามัญของรัฐสภาสองสมัย
3. ลดอำนาจวุฒิสภาลงเหลือเพียงอำนาจในการกลั่นกรองร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น
4. ให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ปรากฏว่า หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2535 พรรคการเมืองที่สนับสนุนคณะ รสช. ซึ่งมีพรรคสามัคคีธรรมเป็นแกน ร่วมกับพรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร รวม 195 เสียง ไม่ให้แสดงความกระตือรือร้นในการตอบสนองความต้องการของประชาชนซึ่งมีพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังธรรม และพรรคความหวังใหม่ ให้การสนับสนุน รวมทั้งกลับสนับสนุน ให้พลเอกสุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมซึ่งมีมลทินในการถูกสหรัฐห้ามเข้าประเทศฐานพัวพันกับพ่อค้ายาเสพติด ทำให้เขาไม่สามารถรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ โดยพลเอกสุจินดา คราประยูร ประกาศว่า เขายอม “เสียสัตย์เพื่อชาติ” ในการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ ซึ่งทำให้ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยไม่พอใจอย่างมาก และสนับสนุนให้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ฟังเสียงประชาชนตามข้อเสนอของศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี และคณะ ซึ่งได้นำความขึ้นกราบทูลฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้อำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎร

นอกจากนั้น ประชาชนโดยเฉพาะคนชั้นกลางที่ใช้โทรศัพท์มือถือได้ไปร่วมชุมนุมกับพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ท้องสนามหลวงในตอนค่ำของวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 เพื่อเรียกร้องให้พลเอกสุจินดา คราประยูร ลาออกและแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าวแล้ว จนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดคล้ายเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 อีกครั้งหนึ่ง แต่รุนแรงและยาวนานกว่าระหว่างวันที่ 17-21 พฤษภาคม 2535 หลังจากที่ฝ่ายรัฐบาลได้ใช้กำลังเข้าปราบปรามฝ่ายค้านที่ชุมนุมกันอยู่ที่ถนนราชดำเนิน ยังผลให้ประชาชนผู้ต่อต้านรัฐบาลจำนวนหลายร้อยถูกจับ ได้รับบาดเจ็บ สูญหาย และเสียชีวิต เป็นจำนวนมาก รวมทั้งอาคารจองทางราชการหลายแห่งถูกเผา อาทิ กรมประชาสัมพันธ์ และกองสลากกินแบ่ง ซึ่งเคยถูกเผามาแล้วครั้งหนึ่ง ในเหตุการณ์คล้ายกันเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516

แต่หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแผ่พระบารมี หัวหน้าของทั้งสองฝ่าย คือ พลเอกสุจินดา คราประยูร และ พลตรีจำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าเพื่อรับฟังพระบรมราโชวาทให้ “รู้รักสามัคคี” ในตอนค่ำของวันที่ 20 พฤษภาคม 2535 เหตุการณ์รุนแรงซึ่งเรียกว่า “พฤษภาทมิฬ” จึงยุติลงโดยเด็ดขาดในวันที่ 21 พฤษภาคม 2535 ยังผลให้พลเอกจินดา คราประยูร แสดงความรับผิดชอบ ด้วยการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2535

หลังจากนั้น ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญใน 4 ประเด็นดังกล่าว ซึ่งพรรคฝ่ายค้านได้เสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภามาหลายวันแล้วก็ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ในวาระที่ 1 และ 2 ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2535 และในที่สุดก็ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่ 3 ในวันที่ 10 มิถุนายน 2535

นอกจากนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังมีการแก้ไขในสาระสำคัญอีก 2 ครั้ง โดยในครั้งแรกซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในเดือนมกราคม พ.ศ.2538 ระหว่างที่นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี มีสาเหตุสืบเนื่องมาจากกระแสความเรียกร้องต้องการของประชาชน นักวิชาการ นักการเมืองที่รักประชาธิปไตย และสื่อมวลชน เคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลและรัฐสภา

จนกระทั่ง สภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีนายชุมพล ศิลปอาชา เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2536 และสามารถจัดทำรายงานเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถึง 25 ประเด็นด้วยกัน อาทิ ให้มีศาลรัฐธรรมนูญ และลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 20 ปี ลงเหลือ 18 ปี เป็นต้น ปรากฏว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นต่าง ๆ ดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่เพียงประเด็นเดียว คือ ลดอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงเหลือ 18 ปี เท่านั้น

ในขณะเดียวกันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 159 คน โดยมีพรรคชาติไทยเป็นแกนนำ ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเช่นกัน และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ในคราวประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 1 (สมัยวิสามัญ) ในวันที่ 4 มกราคม 2538 ในวาระที่สาม ด้วยคะแนนเสียง 591 จากจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ทั้งสองสภา 630 คน ในขณะนั้น

ส่งผลให้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 5 มีผลใช้บังคับในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2538 ครั้งนี้ถือว่าเป็นการแก้ไขในสารถสำคัญอีกครั้งหนึ่ง รวมกันถึง 188 มาตรา ครอบคลุมสาระสำคัญเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย จำนวนวาระและอำนาจหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา หลักเกณฑ์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คณะกรรมการการเลือกตั้ง ศาลปกครองและการกระจายอำนาจการเงินการคลังให้แก่ท้องถิ่น ทั้งนี้ ประกอบด้วยการแก้ไขหมวดและมาตราดังต่อไปนี้

แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 3 ถึง หมวด 11 มาตรา 24 ถึงมาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 ซึ่งเป็นเรื่องที่ว่าด้วย

- สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย (หมวด 3)
- หน้าที่ของชนชาวไทย (หมวด 4)
- แนวนโยบายแห่งรัฐ (หมวด 5)
- รัฐสภา (หมวด 6)
- คณะรัฐมนตรี (หมวด 7)
- ศาล (หมวด 8)
- การปกครองท้องถิ่น (หมวด 9)
- ตุลาการรัฐธรรมนูญ (หมวด 10) และ
- การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (หมวด 11)

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2538 จะมีผลทำให้รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2534 มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นก็ตาม แต่ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยจำนวนหนึ่งก็ยังไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยอ้างว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีที่มาจากคณะ รสช. และเรียกร้องให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

โดยเฉพาะเรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร ได้ลงทุนเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ด้วยการอดข้าวประท้วง หน้าอาคารรัฐสภาเป็นเวลานานตั้งแต่เดือนเมษายน 2538 พอดีในระยะเดียวกันนี้ คณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งประธานรัฐสภานายมารุต บุนนาค ตั้งขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2537 โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี เป็นประธานเพื่อทำหน้าที่ศึกษาหาแนวทางในการพัฒนาประชาธิปไตย ได้นำเสนอรายงานการศึกษาให้แก่ประธานรัฐสภาเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2538 โดยรายงานดังกล่าวได้เสนอให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งสามารถทำได้โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 มาตรา 311 เสียใหม่ อนุญาตให้มีการร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้

ในที่สุด สภาร่างรัฐธรรมนูญก็ได้รับการสถาปนาขึ้นโดยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534 (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2539 ประกอบด้วย สมาชิกจำนวน 99 คน เลือกจากผู้ที่มีคุณสมบัติทางการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี แยกเป็น 2 ประเภท คือ สมาชิกจากจังหวัดต่าง ๆ 76 จังหวัด ๆ ละ 1 คน รวม 76 คน กับสมาชิกประเภทผู้เชียวชาญด้านรัฐศาสตร์ 8 คน ด้านกฎหมายมหาชน 8 คน และผู้เชี่ยวชาญในการบริหารราชการแผ่นดิน 7 คน รวม 23 คน ซึ่งรัฐสภาเป็นผู้เลือกตั้งตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ คือ ให้ผู้สมัครเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ในแต่ละจังหวัดเลือกกันเองให้เหลือ 10 คน ซึ่งรัฐสภาจะเลือกไว้เพียงจังหวัดละ 1 คน ส่วน สสร. ประเภทผู้เชี่ยวชาญจำนวน 23 คนนั้น มาจากการเสนอชื่อสถาบันการศึกษาของรัฐต่าง ๆ โดยรัฐสภาจะเลือก สรร.ดังกล่าวจากผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อในสาขาความเชี่ยวชาญต่าง ๆ ตามจำนวนที่กำหนดไว้ ซึ่งรัฐสภาได้ประชุมเพื่อดำเนินการเลือก สสร. ตามจำนวนและวิธีการดังกล่าว ในวันที่ 29 ธันวาคม 2539 และมอบหมายให้ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใจ 240 วัน นับแต่วันได้รับเลือกตั้ง เพื่อนำเสนอรัฐสภาให้ความเห็นชอบต่อไป โดยรัฐสภาไม่มีอำนาจแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่สภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องเกรงว่ารัฐสภาจะแก้ไขเพิ่มเติมตามอำเภอใจเหมือนในสมัยก่อนอีกต่อไป

« ย้อนกลับ | หน้าถัดไป »

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 มีชื่อว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” (ฉบับชั่วคราว)
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 5 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 6 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2495”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 7 มีชื่อว่า “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 8 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 9 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2516
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 11 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 12 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2520
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 14 มีชื่อว่า “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 15 มีชื่อว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540
การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย