สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
เศรษฐศาสตร์การเมืองและระบบโลก
ปัญหาของอำนาจและความรู้ ณ จุดเปลี่ยนแห่งสหัสวรรษ
ศาสตราจารย์ โรเบิร์ต ดับเบิลยู ค๊อกซ์ เขียน
ศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก
พงษ์ไพจิตร แปลและเรียบเรียง
ทฤษฎีว่าด้วยกิจกรรมของมนุษยชาติ
ไม่อาจสั่งสมและพัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ ทฤษฎีเกิดขึ้นตามหลังประวัติศาสตร์
ดังนั้นเมื่อโครงสร้างและปัญหาของยุคหนึ่ง ถูกทดแทนด้วยโครงสร้างและปัญหาใหม่ ๆ
จึงต้องมีการคิดทฤษฎีใหม่เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงนั้น ทั้งนี้
จะเห็นได้ชัดกรณีการเมืองระดับโลก แนวคิดและการแบ่งกลุ่มต่าง ๆ
ซึ่งเคยใช้กันอยู่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองจนเป็นที่ยอมรับกันกว้างขวางนั้นกำลังถูกท้าทายอย่างหนักหน่วง
เนื่องจากสภาวะประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไปช่วงเร็ว ๆ นี้
ความรู้หรือทฤษฎีซึ่งเป็นที่ยอมรับกันแล้วมีพลังเฉื่อยในตัวเอง
ทั้งนี้ก่อนที่องค์ความรู้ดังกล่าวจะได้รับการยอมรับนั้น
จะต้องมีการลงทุนทั้งเวลาและความพยายามเป็นอย่างมากมาก่อนหน้านั้นแล้ว
จึงมิอาจถูกสลัดทิ้งไปได้ง่าย ๆ นอกจากนั้น ถึงแม้จะตระหนักกันว่า
สภาวการณ์ที่สนับสนุนทฤษฎีดั้งเดิมเปลี่ยนไปแล้ว
นักคิดที่ชาญฉลาดอาจปรับภูมิปัญญาที่ตนคุ้ยเคยกับสถานการณ์ใหม่ และความคิดใหม่
โดยมิได้เปลี่ยนความคิดของตนเองเลย ดังเช่นที่ แซมมวล ฮันติงตัน (Samuel
Huntington) ปรับการมองโลกที่มีความขัดแข้งในกรอบสงครามเย็น (Cold War)
คือความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประเทศทุนนิยมกับกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์เป็นแนวความคิดเรื่อง
โลกถูกคุกคามด้วย ความขัดแย้งของอารยธรรม (clash of civilizations)
คือความขัดแย้งระหว่างอารยธรรมตะวันตกกับอารยธรรมจีน
(ฮันติงตันมีความหวาดกลัวการแผ่ขยายของอารยธรรมจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลางด้วย
ถึงกระนั้น สภาวการณ์ใหม่ทางประวัติศาสตร์กระตุ้นให้มีการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ ซึ่งมีรากฐานจากสมมติฐานที่แตกต่างจากเดิม และนำเสนอแนวทางใหม่ ๆ สภาวะความรู้
เรื่องการเมืองระดับโลกและสังคมโลกในขณะนี้เป็นผลจากความพยายามในสองส่วนด้วยกัน ส่วนหนึ่งคือการพยายามค่อย ๆ ปรับองค์ความรู้เดิมทีละเล็กทีละน้อย กับอีกส่วนหนึ่งเป็นความพยายามคิดไปข้างหน้า เพื่อจินตนาการว่าอนาคตจริง ๆ แล้วจะเป็นอย่างไรแล้วจึงพยายามแสวงหาตามหลักเหตุผลว่า องค์ความรู้รูปแบบใหม่ที่จะนำมาใช้เพื่อทำความเข้าใจและเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติควรจะเป็นอะไร สภาพการที่เกิดซ้อนกันดังกล่าวเป็นภาวะที่พบเสมอเมื่อระบบโลกกำลังอยู่ในช่วงการพลิกผันขั้นรากฐาน
อย่างไรก็ตาม ของจริงบางอย่างยังคงอยู่ รัฐอาจจะถอยร่นบทบาทเดิม2 บางประการ แต่จะสวมบทบาทใหม่ ๆ โลกาภิวัตน์ด้านเศรษฐกิจไม่ทำให้รัฐหายไปมากไปกว่าคำกล่าวที่ว่าสังคมนิยมโซเวียตจะทำให้รัฐหดหาย รัฐเป็นผู้กำหนดกรอบของโลกาภิวัตน์ เสมือนดังที่ โพลันยิ (Polanyi) ชี้ว่ารัฐเป็นผู้กำหนดกรอบให้ระบบตลาดอยู่ในความควบคุมของสังคมเมื่อ คริสตศตวรรษที่ 193 รัฐสามารถเป็นเอเย่นต์ที่นำระบบเศรษฐกิจโลกเข้าอยู่ใต้การควบคุมของสังคม ต้องไม่ลืมว่ารัฐเป็นสังเวียนซึ่งผู้ที่ท้าทายผลกระทบต่อสังคมจากโลกาภิวัตน์จะต่อสู้ได้ ประวัติศาสตร์มิได้จบลงที่โลกาภิวัตน์ด้านเศรษฐกิจ แม้ว่านักคิดบางคนจะยืนยันเช่นนั้น4 ประวัติศาสตร์จะก้าวต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งพร้อมทั้งสามารถกำหนดรูปแบบโครงสร้างของความคิดและผู้ทรงอำนาจทางการเมืองใหม่ได้ ขณะนี้โอกาสได้เปิดขึ้นแล้วเพื่อพัฒนารูปแบบองค์ความรู้ที่เอื้อต่อนวัตกรรมเช่นว่านั้น
ช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา องค์ความรู้เรื่องการเมืองระดับโลกถูกสร้างขึ้นโดยวนเวียนอยู่กับภาวะสงครามเย็นเป็นหลัก การสร้างความรู้เพื่อนำมาแก้ปัญหาความขัดแย้งระดับโลก ถูกคิดขึ้นเพื่อให้ประยุกต์ใช้ได้กับการแก่งแย่งแข่งขันระหว่างมหาอำนาจยักษ์ใหญ่ 2 ประเทศ5 องค์ความรู้ดังกล่าวพอจะใช้บรรลุจุดประสงค์นั้นได้ แต่ขีดจำกัดคือองค์ความรู้นั้นละเลยตัวแปรอื่นใดที่ไม่เกี่ยวกับการแก่งแย่งแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่
สำหรับมวลมนุษยชาติอันเป็นส่วนใหญ่ของโลกนั้น เรื่องอื่น ๆ สำคัญยิ่งกว่า อันได้แก่ การดำรงชีพภายใต้สภาพความหิวโหย โรคภัยไข้เจ็บ ความขัดแย้งที่รุนแรง และยังมีเรื่องของการถูกปฏิเสธความเป็นตัวตนด้านวัฒนธรรม สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นรองเรื่องที่เกี่ยวกับการต่อสู้หรือผลประโยชน์ของประเทศมหาอำนาจยักษ์ใหญ่สองประเทศของโลกสงครามเย็น อุดมการณ์ 2 อุดมการณ์หลักที่แข่งขันกันคือ ทุนนิยมโลกและคอมมิวนิสต์โลกเป็นเพียงสองเกมที่ให้เล่นได้ ซึ่งต่างก็ให้ภาพว่าจะนำสู่โลกเสรีและอิสรภาพของชนชาติ แต่เมื่อการควบคุมต่าง ๆ ภายใต้กรอบสงครามเย็นถูกยกเลิกไป ความหลากหลายสภาวะของมนุษยชาติที่เคยถูกบดบังอยู่ก็กลับสู่ที่สว่างมองเห็นได้ชัดเจน ตั้งแต่นั้นมาการอธิบายโลกในกรอบเดิม ๆ ของ neo-realism พร้อมทั้งข้อเสนอทางออกเดิม ๆ ก็ใช้ไม่ได้อีกต่อไป
เพื่อที่จะแสวงหาฐานคิด เพื่อสร้างองค์ความรู้ทางเลือก เราควรทำความเข้าใจว่าเรามาถึง ณ จุดนี้ได้อย่างไร ต่อจากนั้นจึงจะเน้นไปที่กลุ่มตัวปัญหาที่เราต้องเผชิญ ณ วันใหม่ของสหัสวรรษ
ต้นตอของขบวนการโลกาภิวัตน์
โครงสร้างอำนาจของทุน
การปรับโครงสร้างการผลิต
บทบาทของหนี้
โครงสร้างของโลกาภิวัตน์
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมืองของโลก
ความเปราะบางของระเบียบโลกใหม่
อัตลักษณ์และความรู้ : การเผชิญหน้ากับอนาคต
ความล้าสมัยของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฯ
กระบวนการทางการเมืองและระเบียบโลก
พลังท้าทายของสรรพสิ่งมีชีวิต
ทางออกสู่รูปแบบใหม่ของสังคมเศรษฐกิจ
เชิงอรรถ