สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

เศรษฐศาสตร์การเมืองและระบบโลก

ต้นตอของขบวนการโลกาภิวัตน์
โครงสร้างอำนาจของทุน
การปรับโครงสร้างการผลิต
บทบาทของหนี้
โครงสร้างของโลกาภิวัตน์
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมืองของโลก
ความเปราะบางของระเบียบโลกใหม่
อัตลักษณ์และความรู้ : การเผชิญหน้ากับอนาคต
ความล้าสมัยของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฯ
กระบวนการทางการเมืองและระเบียบโลก
พลังท้าทายของสรรพสิ่งมีชีวิต
ทางออกสู่รูปแบบใหม่ของสังคมเศรษฐกิจ
เชิงอรรถ

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมืองของโลก

โครงสร้างการเมืองโลกใหม่ เกิดขึ้นจากวิกฤตระเบียบโลกหลังสงครามโลกครั้ง ที่ 2 ระบบอำนาจอธิปไตยของรัฐชาติ (ตามแนวของระบบเวสฟาเลีย ที่ยุโรป) ที่เน้นความเป็นอธิปไตยของรัฐชาติ คือรัฐชาติแต่ละแห่งมีอำนาจอิสระที่รัฐชาติอื่นมิอาจละเมิดได้ นั้นลดความสำคัญลง อำนาจอธิปไตยมีความหมายยืนยันความเป็นตัวตน หรืออัตลักษณ์ (identity) ทางด้านวัฒนธรรมมากขึ้น ๆ ความหมายที่เป็นอำนาจเหนือระบบเศรษฐกิจของประเทศหดหายไป

ความหมายของ ‘อำนาจอธิปไตย’ ของรัฐชาติที่เปลี่ยนไป เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการก่อตัวของกลุ่มภูมิภาคต่าง ๆ (macro-regionalism) ที่สำคัญ ๆ 3 กลุ่ม ได้แก่ สหภาพยุโรป เขตเอเชียตะวันออกมีญี่ปุ่นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และเขตอเมริกาเหนือมีสหรัฐอเมริกาเป็นศูนย์กลาง และหมายจะดึงเอาลาตินอเมริกาทั้งหมดมาอยู่ในเขตด้วย กลุ่มภูมิภาคต่าง ๆ ที่ก่อตัวขึ้นไม่น่าที่จะพัฒนาเป็นเศรษฐกิจอิสระที่แยกจากกัน เหมือนโลกสมัยเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่แห่งทศวรรษ 1930 (Great Depression) ทั้งนี้ธุรกิจที่ตั้งอยู่ ณ แต่ละภูมิภาคต่างก็มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจโยงใยกันกับภูมิภาคอื่น ๆ มาก ดังนั้นเขตภูมิภาค จึงน่าจะเป็นเพียงกรอบเศรษฐกิจ-การเมืองเพื่อเอื้อต่อการสะสมทุน และการแข่งขันกันดึงเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการเพิ่มอัตราส่วนของตลาดสินค้า นอกจากนั้นการตั้งเขตภูมิภาค เปิดโอกาสให้มีการพัฒนารูปแบบทุนนิยมแบบต่าง ๆ ได้

ณ ฐานรากของโครงสร้างระเบียบโลกคือ พลังทางสังคม (social forces) ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมดั้งเดิม คือขบวนการสหภาพแรงงานและขบวนการชาวนา มิอาจพัฒนา ไปได้เพราะผลกระทบของขบวนการโลกาภิวัตน์ แต่ขบวนการสหภาพแรงงานยังมีพลังด้าน ประสบการณ์ การจัดองค์กร และอุดมการณ์ ซึ่งยังสามารถกำหนดอนาคตของสังคมได้ แต่ต้องดึงพันธมิตรกลุ่มใหม่ ๆ นอกกลุ่มแรงงานรับจ้างมาร่วมขบวนการด้วยให้ได้ มิฉะนั้นพลังจะค่อย ๆ หดหายไปเรื่อย ๆ

ขบวนการทางสังคมกลุ่มใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นมุ่งเน้นไปที่ประเด็นเรื่อง สิ่งแวดล้อมอิตถีเพศนิยม (feminism) และขบวนการเพื่อสันติ และได้ขยายไปตามที่ต่าง ๆ ในโลก ขบวนการประชาชนและขบวนการประชาธิปไตย ผุดขึ้นที่ประเทศซึ่งรัฐบาลควบคุม หรือปราบปราม ประชาชน แต่ภาครัฐมีความเปราะบาง ที่ฟิลิปปินส์และตามมาด้วยอินโดนีเซีย ขบวนการ ประชาชนล้มล้างรัฐบาล แต่ยังมิอาจเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจได้อย่างถึงรากถึงโคน ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมหลายขบวนการกระตุ้นความตื่นตัวเรื่องอัตลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นประเด็น ชนชาติ ชาตินิยม ศาสนา หรือความต่างเพศ ขบวนการประชาชนระดับท้องถิ่นเป็นการยืนยันสิทธิของประชาชนก่อนที่ระบบรัฐจะถูกสถาปนาขึ้น

อัตลักษณ์ใหม่ มีบทบาทเข้าทดแทนแนวคิดเรื่องชนชั้นที่เคยเป็นศูนย์ของความขัดแย้งในสังคม ในทำนองเดียวกับเรื่องชนชั้น อัตลักษณ์ได้พลังมาจากความคับข้องใจเพราะถูกเอาเปรียบ จึงมีมูลเหตุเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ นำไปสู่การประท้วงที่ครอบคลุมประเด็นกว้างกว่าเรื่องของอัตลักษณ์ อย่างไรก็ตาม มูลเหตุทางเศรษฐกิจนั้นมักไม่ชัดเจนคือถูกบดบัง จึงอาจถูกปลุกปั่นให้ขบวนการต่าง ๆ ขัดแย้งกันเอง ถ้ายิ่งเกิดในภาวะที่ว่าโครงสร้างทางการเมืองกำลังไร้เสถียรภาพและปัญหาเศรษฐกิจขั้นรากฐานมิอาจได้รับการแก้ไขได้ง่าย ๆ มีอันตรายว่าแนวโน้มสู่ ระบบอำนาจรัฐรวมศูนย์ที่อยู่ได้เพราะการสนับสนุนของมวลชนอาจก่อตัวพัฒนาเป็นลัทธิอำนาจนิยมแนวฟาสซิสม์ [คือระบบรัฐพรรคเดียว ใช้ความรุนแรง ชาตินิยม การเชิดชูชนชาติ และการทหารเพื่อปราบผู้คัดค้านและเพื่อครองอำนาจเผด็จการ สนับสนุนระบบการผลิตเอกชนภายใต้การควบคุมของรัฐ ระบบนี้ถูกนำมาใช้ที่อิตาลีเป็นครั้งแรก ค.ศ. 1922 - ผู้แปล] ประชาธิปไตย และ ‘อำนาจ’ ประชาชนอาจเคลื่อนไหวไปตามแนวทางอุดมการณ์ขวาจัด หรือซ้ายจัดก็ได้

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย