ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

พระอภิธรรม 7 คัมภีร์

คัมภีร์ที่ 1 พระธรรมสังคณี
คัมภีร์ที่ 2 พระวิภังค์
คัมภีร์ที่ 3 ธาตุกถา
คัมภีร์ที่ 4 ปุคคลบัญญัติ
คัมภีร์ที่ 5 กถาวัตถุ
คัมภีร์ที่ 6 ยมก
คัมภีร์ที่ 7 มหาปัฏฐาน

คัมภีร์ที่ 2 พระวิภังค์

บาลี
ปญฺจกฺขนฺธา รูปกฺขนฺโธ, เวทนากฺขนฺโธ, สญฺญากฺขนฺโธ, สงฺขารกฺขนฺโธ วิญฺญาณกฺขนฺโธ. ตตฺถ กตโม รูปกฺขนฺโธ? ยงฺกิญฺจิ รูปํ อตีตานาคตปจฺจุปฺปนฺนํ, อชฺฌตฺตํ วา พหิทฺธา วา, โอฬาริกํ วา สุขุมํ วา, หีนํ วา, ปณีตํ วา, ยํ ทูเร วา, สนฺติเก วา, ตเทกชฺฌํ ภิสญฺญูหิตฺวา, อภิสงฺขิปิตฺวา อยํ วุจฺจติ รูปกฺขนฺโธ.

คำแปล
ขันธ์ 5 ทั้งหลาย คือ รูปขันธ์, เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์, วิญญาณขันธ์. ในขันธ์ 5 เหล่านั้น รูปขันธ์ เป็นไฉนเล่า ? รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบันก็ดี, เป็นภายในหรือภายนอกก็ดี, หยาบหรือละเอียดก็ดี, เลวหรือประณีตก็ดี, หรือว่า รูปใดมีอยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้, พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงรวมรูปนั้นแล้วย่อเป็นอันเดียวกัน ตรัสเรียกว่า “รูป” นี้ว่า เป็นรูปขันธ์ ฯ

ย่อสภาวะในคัมภีร์นี้
ขันธ์ 5 หมายถึง รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ฯ

  1. รูปขันธ์ หมายเอารูป 28 ที่แจกออกเป็น มหาภูตรูป 4 และอุปาทายรูป 24
  2. เวทนาขันธ์ หมายเอาเวทนาเจตสิก 1 แจกออกเป็น สุข ทุกข์ อุเบกขาเวทนา
  3. สัญญาขันธ์ หมายเอาสัญญาเจตสิก 1 ที่แจกออกเป็น รูป สัททะ คันธะ รสะ โผฏฐัพพะ และ ธัมมสัญญา 6
  4. สังขารขันธ์ หมายเอาเจตสิก 50 ที่เหลือปรุงแต่งจิตให้เป็นบุญบ้าง บาปบ้าง เป็นอัพยากฤตบ้าง
  5. วิญญาณขันธ์ หมายเอาจิต 89 หรือ 121 ที่ทำหน้าที่ เห็น ได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง และรู้ธัมมารมณ์
  6. คำว่า “ขันธ์” ในที่นี้ หมายความว่า ขันธ์แต่ละขันธ์ ก็จะต้องกองด้วยลักษณะ 11 อย่างดังที่ได้กล่าวมาแล้ว คือ จะเป็นรูปขันธ์หรือนามขันธ์ก็ตาม ก็จะต้องกองไว้ด้วยลักษณะ 11 คือ อดีต, อนาคต, ปัจจุบัน, ภายใน, ภายนอก, หยาบ, ละเอียด, เลว, ประณีต, ไกล, ใกล้, ฯ
  7. ความหมายอีกอย่างหนึ่ง คำว่า “ขันธ์” หมายความว่า ทรงไว้ซึ่งความสูญเปล่า เน่าเสีย ทั้งนี้ก็เพราะว่า รูปทั้งหลายตั้งแต่เกิดปรากฏมาแต่ต้นจนกระทั่งเสียชีวิต ก็มิได้มีรูปใดหลงเหลืออยู่เลย กล่าวคือ เกิดมาเท่าไร ก็สูญไปหมดเท่านั้น แม้เวทนาคือสุข ทุกข์ หรือเฉย ๆ ความจำเช่นจำรูป จำเสียง จำกลิ่น เป็นต้น สังขารคือความรัก ความชัง ความอิสสาริษยา เป็นต้น หรือวิญญาณที่เคยได้เห็น ได้ยิน ดมกลิ่น ลิ้มรส เป็นต้น เท่าที่เคยมีมาแล้วตั้งแต่หนุ่มสายตลอดจนเฒ่าแก่ ก็มิได้เหลืออยู่เลย เมื่อมีมาแล้วก็หมดไปอย่างนี้

 

ข้อที่ควรสังเกต อันที่จริง คัมภีร์วิภังค์ที่แปลว่า แจกคัมภีร์นี้องค์พระมหามุนีสัมมาสัมพุทธเจ้า มิได้ทรงแจกไว้เพียงขันธวิภังค์เท่านั้น แต่ทรงแจกไว้ในพระคัมภีร์นี้ทั้ง 18 วิภังค์ คือ นอกจากขันธวิภังค์แล้ว ก็ยังมี อายตนวิภังค์ ธาตุวิภังค์ สัจจวิภังค์ อินทรียวิภังค์ ปฏิจจสมุปปาทวิภังค์ สติปัฏฐานวิภังค์ สัมมัปปธานวิภังค์ อิทธิปาทวิภังค์ โพชฌังควิภังค์ มัคควิภังค์ ฌานวิภังค์ อัปปมัญญาวิภังค์ สิกขาปทวิภังค์ ปฏิสัมภิทาวิภังค์ ญาณวิภังค์ ขุททกวัตถุวิภังค์ และธัมมหทัยวิภังค์ และทรงแจกไว้ทั้งอภิธรรมภาชนีย์ และสุตตันตภาชนีย์ตลอดถึงปัญหาปุจฉกะ โดยแจกไปตามติกะ และทุกะ ซึ่งผู้ใคร่การศึกษา และปฏิบัติจะทราบรายละเอียดได้ในคัมภีร์วิภังค์นี้ทั้งหมด

ตัวย่างที่ควรทราบ ทรงแจกขันธ์ตามภิธรรมภาชนีย์เป็นต้นว่า รูปขันธ์มีอย่างเดียวคือรูปทั้งหมด ไม่ใช่เหตุ, เป็นอเหตุกะไม่มีเหตุ ไม่ประกอบด้วย สัมปยุตเหตุเป็นต้นไปจนกระทั่งถึงธรรมที่ไม่เที่ยง และเป็นธรรมที่ถูกความเก่าคร่ำคร่าครอบงำแล้ว รวม 44 อย่าง จากนั้นก็ทรงแจกเป็น 2 อย่างไปจนถึงรูป 11 อย่าง แล้วจึงทรงแจกเวทนาขันธ์ต่อไป จนครบขันธ์ 5

สำหรับสุตตันตภาชนีย์นั้น ก็ทรงขยายรูป 11 ลักษณะออกไปแต่ละอย่าง ๆ เช่นรูปที่เป็นอดีตก็ทรงแจกออกไปเป็น 9 ลักษณะ มีอดีตล่วงไปแล้ว นิรุทธะดับไปแล้วเป็นต้น ทรงแจกทั้งมหาภูตรูป และอุปาทายรูป แม้นามขันธ์ก็ทรงแจกเช่นกัน และทรงแจกออกเป็นมูลหนึ่ง มูลสองเป็นต้นไป เมื่อจบแล้วก็ตั้งเป็นปัญหาปุจฉกะ คือตั้งเป็นคำถาม เช่นถามว่า รูปขันธ์ และนามขันธ์เป็นกุศลเท่าไร? อกุศลเท่าไร? อัพยา กฤตเท่าไร? แจกอกไปจนจบติกะแล้วก็แจกทุกะอีก 100 จนจบ แม้ที่เหลืออีก 17 วิภังค์ก็ทรงแจกโดยนัยนี้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้นรายละเอียดต่าง ๆ ผู้ใคร่ในการศึกษาสภาวะของธรรมชั้นสูงจะทราบได้จากคัมภีร์วิภังค์ทั้งหมด ฯ

จบคัมภีร์วิภังค์

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย