สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ
โรคข้อเข่าเสื่อม
โรคข้อเข่าเสื่อม คือโรคข้อเรื้อรังชนิดหนึ่ง ที่เกิดจากการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อที่พบได้บ่อยมาก ซึ่งเกิดขึ้นได้กับข้อกระดูกหลายส่วนของร่างกาย แต่ตำแหน่งที่พบมากที่สุดคือข้อเข่า พบได้ประมาณครึ่งหนึ่งของโรคข้อเสื่อม ถือเป็นโรคในกลุ่มข้ออักเสบชนิดหนึ่ง พบได้ในทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุพบมากกว่าร้อยละ 80-90
ปัจจัยที่ทำให้เกิดข้อเสื่อม
1. อายุ มักพบในอายุ 45 ปีขึ้นไป และพบมากในผู้สูงอายุ
2. น้ำหนักตัวมาก มีโอกาสเป็นโรคมากขึ้น
3. อุบัติเหตุ ที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อข้อเข่า
4. การใช้ข้อไม่ถูกต้อง เช่นการนั่งยองๆ การนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ
5. การเปลี่ยนแปลงของกระดูกอ่อนที่เกิดจากการอักเสบติดเชื้อในข้อเข่า
การฉีดยาหรือฉีดสารเคมีเข้าในข้อเข่า
อาการของโรคข้อเสื่อม
1. เริ่มจากปวดข้อเป็นๆหายๆ มีอาการปวดมากขึ้น ตามการใช้งาน
อาจจะมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อร่วมด้วย
2. ข้อฝืด ยึดตึง ใช้งานไม่ถนัด บางรายมีข้อติด เช่น
ในช่วงตื่นนอนตอนเช้าเมื่อเคลื่อนไหวในครั้งแรกจะไม่คล่องตัว
3. มีเสียงดังในข้อเข่า ขณะเคลื่อนไหว
4. ข้อเข่าบวม มีของเหลวในข้อ
5. ข้อเข่าโก่งงอ ผิดรูป
วิธีการรักษาทั่วไป
การรักษามุ่งเน้นเพื่อลดอาการปวดและการอักเสบ และให้ข้อเคลื่อนไหวเป็นไปตามปกติ โดยมีแนวทางการรักษาทั่วๆไป ดังนี้
ก. การรักษาแบบไม่ต้องใช้ยา
1. ใช้ความร้อนประคบรอบขา ลดอาการปวด เกร็ง
2. บริหารกล้ามเนื้อเข่าให้แข็งแรงอยู่เสมอ
3. ใส่สนับเข่า เพื่อให้เข่ากระชับ ลดอาการปวด
4. ใช้ไม้เท้าช่วยเดิน ช่วยลดแรงที่กระทำต่อข้อเข่า
5. หลีกเลี่ยงอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม เช่น นั่งพับเพียบ คุกเข่า ขัดสมาธิ นั่งยองๆ
6. ลดน้ำหนักในรายที่อ้วนมาก
ข. การรักษาแบบใช้ยา ได้แก่ การให้ยาแก้ปวด ยาต้านการอักเสบ และยาอื่นๆ
ค. การรักษาโดยการผ่าตัด
การบริหารกล้ามเนื้อรอบเข่า
ท่านั่ง นั่งบนเก้าอี้ มีพนักพิงหลัง เหยียดเข่าทั้งสองข้าง
แล้วตีขาแบบตีกรรเชียงในน้ำ ทำต่อเนื่อง วันละหลายครั้งและเพิ่มขึ้น เหนื่อยให้พัก
และทำต่อ
ท่านอน นอนหงาย ยกขา 2 ข้าง แบบถีบจักรยานกลางอากาศ ถ้าบริหารจนเหนื่อยแล้ว
ให้ใช้หมอนขวางหนุนใต้เข่าและตีนขาสลับกัน วันละหลายครั้ง ทำต่อเนื่อง
เอกสารอ้างอิง :
กรมการแพทย์. คู่มือสุขภาพประจำตัวผู้สูงอายุ, 2549.
กรมการแพทย์. ข้อเข่าเสื่อม. สถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ, 2549.