สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>

สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ

ความดันโลหิตสูง

ภาวะความดันโลหิตสูง เป็นภาวะที่ค่าความดันโลหิตขณะบีบตัวมีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 140 มิลิเมตรปรอท และ/หรือค่าความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัว มีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 90 มิลิเมตรปรอท

อาการ

อาจมีอาการเวียนศีรษะหลังจากนั้นอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดบริเวณท้ายทอยช่วงเวลาเช้า หลังตื่นนอน คลื่นไส้ อาเจียนโดยไม่ทราบสาเหตุ หากเป็นมากๆจะมีเลือดกำเดาไหล หอบ นอนราบไม่ได้ อาจมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมด้วย

การป้องกัน

1. ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน
2. งดสูบบุหรี่
3. จำกัดเกลือไม่ให้เกินวันละ 1 ช้อนชา
4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที
5. ลดการดื่มแอลกอฮอล์
6. รับประทานอาหารที่มีโปตัสเซียมสูง เช่น ถั่ว ส้ม น้ำเต้าหู้ ในรายที่ต้องรับประทานยาขับปัสสาวะ
7. รับประทานผัก ผลไม้
8. รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม เช่น นมขาดไขมัน
9. หลีกเลี่ยงภาวะเครียด ฝึกสมาธิ และการผ่อนคลาย
10. หมั่นตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ
11. คอยสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ตามัว ปวดศีรษะรุนแรง ควรรีบพบแพทย์

การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคความดันโลหิตสูง

1. ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน

• ควบคุมน้ำหนักร่างกายให้พอดี
• หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำและสม่ำเสมอ
• ลดอาหารเค็ม
• งดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด
• ควรงดเหล้า
• หลีกเลี่ยงจากสิ่งที่ทำให้หงุดหงิด โมโห ตื่นเต้น นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ
• รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ
• หมั่นตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำ

มาตรฐานการคัดกรองความดันโลหิต

มาตรฐาน: ในที่นี้หมายถึงมาตรฐานสัมพัทธ์ คือมาตรฐานที่มาจากผลการทบทวนแนวปฏิบัติ ขั้นตอนการบริการที่มีคุณภาพเพียงพอในการลดความเสี่ยงในประชากร ตามเงื่อนไขทรัพยากรของประเทศในปีนั้นๆ

มาตรฐานการคัดกรองความดันโลหิต:

1. บริการตรวจวัดระดับความดันโลหิต โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขด้วยเครื่องมือและการวัดที่ได้มาตรฐานตามแนวเวชปฏิบัติเพื่อการคัดกรอง
2. บริการแจ้งค่าและอธิบายความหมายระดับความดันโลหิตที่วัดได้
3. บริการแนะนำการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมกับระดับความดันโลหิต

หมายเหตุ :

ก) เครื่องมือวัดความดันโลหิตที่มีมาตรฐานเพื่อการคัดกรองได้แก่

• เครื่องมือวัดความดันโลหิตชนิดปรอท ที่มีการสอบเทียบค่าเป็นระยะ
• เครื่องมือวัดดิจิตอลชนิด Cuff พันรอบแขน ที่มีขนาดเหมาะสมกับผู้ถูกคัดกรอง

ข) การวัดที่ได้มาตรฐานตามแนวเวชปฏิบัติ โดยเฉพาะ

• ให้นั่งพักก่อนอย่างน้อย 5 นาที
• วัดอย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกัน 3 – 5 นาที

ค) บริการแจ้งค่าและอธิบายความหมายระดับความดันโลหิตที่วัดได้ แก่ผู้ที่ได้รับการคัดกรอง และอธิบายความหมายของระดับความดันโลหิตต่อโอกาสเสี่ยงการเป็นโรคความดันโลหิตสู และโรคหัวใจหลอดเลือดอื่นๆ
ง) แนะนำการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมกับระดับความดันโลหิตและโอกาสความเสี่ยงของผู้ถูกคัดกรอง ทั้งนี้สามารถแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1) กลุ่มที่มีระดับความดันโลหิตซีสโตลิค 130 – 139 มิลลิเมตรปรอท และความดันโลหิตไดแอสโตลิค 80 - 89 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป

ความหมาย: เป็นระดับความดันโลหิตที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูงในสิบปีและเริ่มมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคหัวใจและอัมพาต โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ร่วมด้วย
แนะนำ: การปฏิบัติตัวลดเค็ม เพิ่มกินผัก ออกกำลังกาย ลดน้ำหนักในกรณีที่น้ำหนักเกิน

กลุ่มที่ 2) กลุ่มที่มีระดับความดันโลหิตซีสโตลิคมากกว่าหรือเท่ากับ 140 มิลลิเมตรปรอทและความดันโลหิตไดแอสโตลิคมากกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท
ความหมาย: สงสัยว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง
แนะนำ : ให้ส่งต่อไปรับการวินิจฉัยโดยแพทย์

กลุ่มที่ 3) กลุ่มที่มีระดับความดันโลหิตซีสโตลิคมากกว่าหรือเท่ากับ 180 มิลลิเมตรปรอทและความดันโลหิตไดแอสโตลิค มากกว่า 110 มิลลิเมตรปรอท
ความหมาย: ถือว่าเป็นความดันโลหิตสูงที่อันตราย
แนะนำ : ให้ตรวจวัดซ้ำอีกครั้ง ถ้าระดับความดันยังสูงอยู่ ให้ส่งต่อทันทีเพื่อการวินิจฉัยและรักษา

กลุ่มที่ 4) กลุ่มที่มีระดับความดันโลหิตซีสโตลิคน้อยกว่า130 มิลลิเมตรปรอท
ความหมาย: ยังถือว่าไม่เป็นโรคและโอกาสเสี่ยงน้อย
แนะนำ : อย่างไรก็ตามให้ระมัดระวังน้ำหนักเกินและการขาดการเคลื่อนไหวที่เพียงพอเพื่อป้องกันโรค โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในเขตเมือง ชุมชนแออัด และวิถีชีวิตนั่งๆนอนๆ

เอกสารอ้างอิง
กรมควบคุมโรค. แนวทางการดูแลรักษาความดันโลหิตสูงในเวชปฏิบัติทั่วไป.
สำนักโรคไม่ติดต่อ: นนทบุรี,....................
กรมการแพทย์. คู่มือสุขภาพประจำตัวผู้สูงอายุ, 2549
กรมการแพทย์. คู่มือแนวทางการจัดตั้งและดำเนินการคลินิกผู้สูงอายุ.
สถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ, 2549.

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย