สุขภาพ ความงาม อาหารและยา สมุนไพร สาระน่ารู้ >>
สาระความรู้เกี่ยวกับสุขภาพ
อารมณ์และการปฐมพยาบาลด้านจิตใจ
อารมณ์เป็นสภาวะทางจิตใจที่มีการปรับเปลี่ยนตามสภาพแวดล้อมที่มากระตุ้น ทั้งที่มาจากภายใน ได้แก่ ความคิด ความเจ็บปวด และที่มาจากสิ่งเร้าภายนอก เช่น บุคคล อุณหภูมิ เสียง แสง ดินฟ้าอากาศ อารมณ์ของคนเรามีทั้งด้านดีและด้านไม่ดี อารมณ์ทางด้านไม่ดีจะส่งผลเสียต่อร่างกาย จิตใจและสัมพันธภาพระหว่างบุคคล จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมและจัดการกับอารมณ์
ธรรมชาติของอารมณ์
1. อารมณ์มักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่กว่าจะสงบลงได้ต้องใช้เวลานาน ซึ่งจะนานเพียงใดขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอารมณ์ สิ่งเร้าหรือสถานการณ์ในขณะนั้น
2. คน 2 คน เมื่ออยู่ในสถานการณ์เดียวกัน
จะรับรู้และมีการแสดงออกต่างกันขึ้นอยู่กับ
- ความคิด / การรับรู้
- ความเชื่อ
- ประสบการณ์
3. อารมณ์ เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล มีความแตกต่างกันตรงที่อารมณ์จะเกิดผลกระทบที่รุนแรงและซับซ้อนกว่า เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะส่งผลต่อร่างกาย เช่น ใจสั่น หัวใจเต้นแรง เหงื่อออก ปากแห้ง มือ-เท้าเย็น กล้ามเนื้อเกร็ง คลื่นไส้คล้ายจะเป็นลม ฯลฯ
4. ในคน ๆ หนึ่ง สามารถเกิดอารมณ์หลายอย่างได้ในเวลาเดียวกัน
อารมณ์พื้นฐาน
มี 8 ชนิด (4 คู่ตรงข้าม)
1. การยอมรับ การรังเกียจ / ขยะแขยง
2. ความกลัว ความโกรธ
3. ประหลาดใจ ความคาดหวัง
4. ความเศร้า ความสุข / สนุกสนาน
อารมณ์ที่พบบ่อย ได้แก่ อารมณ์สุข อารมณ์เศร้า อารมณ์โกรธ และอารมณ์กลัว
อารมณ์สุข
เมื่อใดก็ตามที่คนเราสมหวังในสิ่งที่ต้องการ
อย่างน้อยที่สุดคือความต้องการขั้นพื้นฐาน
ก็จะทำให้เรามีความสุขมีเหตุการณ์สำคัญในชีวิต 2
เหตุการณ์ที่ทำให้ความสุขของคนเราลดต่ำลง คือ การสูญเสียคู่ครอง และการสูญเสียงาน
อารมณ์เศร้า
เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นเพราะการสูญเสียสิ่งที่ต้องการหรือสิ่งที่มีค่า
ความรุนแรงของอารมณ์ขึ้นอยู่กับคุณค่าของสิ่งที่สูญเสีย เช่น สูญเสียคนรัก
ฯลฯอาการแสดงออก คือ ร้องไห้ นอนไม่หลับ กินไม่ได้ หงุดหงิด แยกตัว หลีกหนีสังคม
เป็นต้น
อารมณ์โกรธ
เป็นความรู้สึกไม่พึงพอใจ
เป็นปฏิกิริยาต่อความผิดหวังหรือถูกขัดขวางในสิ่งที่ต้องการ หรือถูกคุกคาม
ถูกดูถูกเหยียดหยาม ซึ่งทำให้เกิดความคับข้องใจ
อารมณ์กลัว
เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อคนเรารู้สึกว่าตนเองขาดความปลอดภัย
โดยเฉพาะในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งจะเกิดต่อเมื่อมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาทำให้เกิดขึ้น
วิธีการจัดการอารมณ์
เมื่ออารมณ์ใดๆ เกิดขึ้นก็ตาม เช่น โกรธ เกลียด กลัว เศร้า ท้อแท้ เบื่อหน่าย หวาดหวั่น วิตกกังวล สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ให้รับรู้ว่าอารมณ์เหล่านี้ได้เกิดขึ้นกับเรา บอกย้ำกับตนเองว่า ขณะนี้ เรารู้สึก..... เมื่อรู้ตัวว่าเกิดอารมณ์นั้นแล้ว ต่อไปให้หลีกเลี่ยงจากสถานการณ์เหล่านั้นก่อน หรือพยายามหาทางหยุดยั้งหรือผ่อนคลายอารมณ์เหล่านั้น ซึ่งมีหลายวิธีที่จะนำเสนอ ต่อไปนี้
1. หาคนที่ไว้วางใจได้เพื่อพูดคุยระบายอารมณ์
2. ออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ตนเองสนใจ
3. การฝึกกิจกรรมผ่อนคลายต่าง ๆ ได้แก่
การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
กล้ามเนื้อที่ควรฝึกมี 10 กลุ่มด้วยกันคือ
1. แขนขวา
2. แขนซ้าย
3. หน้าผาก
4. ตา แก้มและจมูก
5. ขากรรไกร ริมฝีปากและลิ้น
6. คอ
7. อก หลัง และไหล่
8. หน้าท้อง และก้น
9. ขาขวา
10. ขาซ้าย
วิธีการฝึก มีดังนี้
- นั่งในท่าที่สบาย
- เกร็งกล้ามเนื้อไปทีละกลุ่ม ค้างไว้สัก 10 วินาที แล้วคลายออก
จากนั้นก็เกร็งใหม่สลับกันไปประมาณ 10 ครั้ง ค่อย ๆ ทำไปจนครบทั้ง 10 กลุ่ม
- เริ่มจากการกำมือ และเกร็งแขนทั้งซ้ายขวา แล้วปล่อย
- บริเวณหน้าผาก ใช้วิธีเลิกคิ้วให้สูง หรือขมวดคิ้วจนชิดแล้วคลาย
- ตา แก้ม และจมูก ใช้วิธีหลับตาปี๋ ย่นจมูก แล้วคลาย
- ขากรรไกร ริมฝีปาก และลิ้น ใช้วิธีกัดฟัน
เม้มปากแน่นและใช้ลิ้นดันเพดานโดยหุบปากไว้แล้วคลาย
- คอ โดยการก้มหน้าให้คางจรดคอ เงยหน้าให้มากที่สุด แล้วกลับสู่ท่าปกติ
- อก หลัง และไหล่ โดยหายใจเข้าลึก ๆ แล้วเกร็งไว้ ยกไหล่ให้สูงที่สุดแล้วคลาย
- หน้าท้องและก้น ใช้วิธีแขม่วท้องขมิบก้น แล้วคลาย
- งอนิ้วเท้าเข้าหากัน กระดกปลายเท้าขึ้นสูง เกร็งขาซ้ายและขาขวา แล้วปล่อย
การฝึกเช่นนี้ จะทำให้รับรู้ถึงความเครียดจากการเกร็งกล้ามเนื้อกลุ่มต่าง ๆ และรู้สึกสบาย เมื่อคลายกล้ามเนื้อออกแล้ว ดังนั้น ครั้งต่อไปเมื่อเครียดและกล้ามเนื้อเกร็งจะได้รู้ตัว และรีบผ่อนคลายโดยเร็ว ก็จะช่วยได้มาก
ฝึกการหายใจอย่างผ่อนคลาย
การฝึกการหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อกระบังลมบริเวณหน้าท้องแทนการหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อหน้าอกเมื่อหายใจเข้า หน้าท้องจะพองออก และเมื่อหายใจออกหน้าท้องจะยุบลง ซึ่งจะรู้ได้โดยเอามือวางไว้ที่หน้าท้องแล้วคอยสังเกตเวลาหายใจเข้าและหายใจออก หายใจเข้าลึก ๆ และช้า ๆ กลั้นไว้ชั่วครู่แล้วจึงหายใจออกลองฝึกเป็นประจำทุกวัน จนสามารถทำได้โดยอัตโนมัติการหายใจแบบนี้จะช่วยให้ร่างกายได้รับออกซิเจนมากขึ้น ทำให้สมองแจ่มใส ร่างกายกระปรี้กระเปร่า ไม่ง่วงเหงาหาวนอน พร้อมเสมอสำหรับภารกิจต่าง ๆในแต่ละวัน
การฝึกสมาธิ
เลือกสถานที่ที่เงียบสงบ ไม่มีใครรบกวน เช่น ห้องนอน ห้องทำงานที่ไม่มีคนพลุกพล่าน หรือมุมสงบในบ้านหาที่นั่งให้สบาย หากนั่งบนเก้าอี้ ให้นั่งหลังตรง ไม่พิงพนัก เท้าชิด มือปล่อยวางให้สบายไว้บนตัก หากนั่งพื้น อาจนั่งขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบก็ได้ตามแต่ที่ถนัด ขอให้อยู่ในท่าที่สบาย สังเกตลมหายใจเข้าออก โดยสังเกตลมที่มากระทบปลายจมูกหรือริมฝีปากบน ให้รู้ว่าขณะนั้นหายใจเข้าหรือออก หายใจเข้าท้องพอง หายใจออกท้องยุบหายใจเข้านับ 1 หายใจออกนับ 1 นับไปเรื่อยๆ จนถึง 5 เริ่มนับใหม่ จาก 1 6 แล้วพอ กลับมานับใหม่ จาก 1 7 แล้วพอ กลับมานับใหม่ จาก 1 8 แล้วพอ กลับมานับใหม่ จาก 1 9 แล้วพอ กลับมานับใหม่ จาก 1 10 แล้วพอ ย้อนกลับมาเริ่ม 1 5 ใหม่ วนไปเรื่อยๆ ขอเพียงจิตใจจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออกเท่านั้น อย่าคิดฟุ้งซ่านเรื่องอื่น เมื่อจิตใจแน่วแน่จะช่วยขจัดความเครียด ความวิตกกังวล ความเศร้าหมอง เกิดปัญญาที่จะคิดแก้ไขปัญหาและเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิตได้อย่างมีสติ มีเหตุมีผล และยังช่วยให้สุขภาพร่างกายดีขึ้นด้วย
การปฐมพยาบาลด้านจิตใจ
การปฐมพยาบาลด้านจิตใจ คือ การให้การช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์รุนแรง เช่น ผู้สูญเสีย ผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้ที่รอดชีวิต ทุกเพศ ทุกวัย ไม่เลือกชนชั้นและศาสนาโดยการเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ให้กำลังใจ ปลอบโยน เพื่อให้ผู้ประสบเหตุการณ์รุนแรงมีความรู้สึกที่ดีขึ้น ลดความเครียด ช่วยประเมินความต้องการเร่งด่วน และส่งเสริมการปรับตัว การปฐมพยาบาลทางด้านจิตใจเป็นการช่วยเหลือประคับประคองที่ควรกระทำทันทีหลังเกิดเหตุการณ์หรือเรียกง่ายๆ คือ การปฐมพยาบาลด้านจิตใจ เป็นการ สร้างความอุ่นใจ ให้ข้อมูลที่จำเป็น เน้นเครือข่ายที่ให้ความช่วยเหลือ ไม่ใช่การค้นหารายละเอียดของเหตุการณ์รุนแรงและความสูญเสีย
การปฐมพยาบาลด้านจิตใจ ไม่ใช่การบำบัด หรือการให้บริการปรึกษา แต่เป็น
- การให้ความช่วยเหลือโดยใช้ระยะเวลาสั้นๆ
- เน้นความต้องการเชิงปฏิบัติ เท่า ๆ กับความต้องการทางจิตใจ
- ผู้ให้ความช่วยเหลือทางสุขภาพจิตจะมีบทบาทเป็น เพื่อนที่ให้ความเห็นอกเห็นใจ
ไม่ใช่ ผู้เชี่ยวชาญ
การช่วยให้บุคคลรู้สึกสะดวกสบายและการให้การสนับสนุนทางจิตใจแก่ผู้ประสบภัยพิบัตินั้น เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของการให้การปฐมพยาบาลด้านจิตใจ การอยู่เป็นเพื่อน การปกป้องพวกเขาไม่ให้ต้องได้รับอันตรายเพิ่มขึ้นอีก การตอบสนองความต้องการทางกายภาพ การแสดงความเห็นอกเห็นใจและการให้ความสำคัญกับสิ่งที่พวกเขาได้ประสบมา ล้วนเป็นงานที่สำคัญของผู้ให้ความช่วยเหลือทางสุขภาพจิตทั้งสิ้น
การดูสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยก็ถือเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง เพราะผู้ประสบภัยจำนวนมากต้องประสบกับภัยที่คุกคามกับความปลอดภัยของเขามามากแล้ว จำเป็นต้องได้รับการดูแลให้กลับฟื้นคืนสู่สภาพปกติ การช่วยให้ผู้ประสบภัยได้พบกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูง ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้พวกเขารู้สึกปลอดภัยอีกครั้งหนึ่ง
การเชื่อมโยงกับบุคคลกับระบบการให้การช่วยเหลือและแหล่งให้ความช่วยเหลือต่างๆ ที่มีอยู่ เป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่จะต้องเชื่อมโยงผู้ประสบภัยกับระบบการช่วยเหลือและบริการต่างๆ ที่มีขึ้น และควรได้มีการติดตามดูแลและช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือต่อไป