ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>

จริยธรรม

ความหมายของคุณธรรมจริยธรรม
ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรม
แนวคิด หลักการ ทฤษฏีทางคุณธรรมจริยธรรม
ธรรมชาติของมนุษย์ทางด้านคุณธรรมจริยธรรม
ทฤษฏีทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรม
เกณฑ์การตัดสินจริยธรรม
จริยธรรมของคนไทย
ค่านิยมและจรรยาบรรณ

ทฤษฏีทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรม

ทฤษฏีความต้องการของมาสโลว์

 (Maslow is Theory of Need Gratification)

มาสโลว์ (Maslow) เป็นนักจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม ซึ่งนักจิตวิทยากลุ่มนี้เชื่อว่าโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เกิดมาดีและพร้อมที่จะทำสิ่งดี ถ้าความต้องการของมนุษย์ได้รับการตอบสนองอย่างเพียงพอ มาสโลว์ (Maslow) เป็นผู้หนึ่งที่ได้ศึกษาค้นคว้าถึงความต้องการของมนุษย์ โดยมองเห็นว่ามนุษย์ทุกคนล้วนแต่มีความต้องการที่จะสนองความต้องการให้กับตนเองทั้งสิ้น ซึ่งความต้องการมนุษย์ มีมากมายหลายอย่างด้วยกัน เขาได้นำความต้องการเหล่านั้นมาจัดเรียงเป็นลำดับจากขั้นต่ำไปขั้นสูงสุดเป็น 5 ขั้น ด้วยกัน

1. ความต้องการด้านร่างกาย (physiological needs) เป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ความต้องการอาหาร น้ำดื่ม อากาศ การพักผ่อน ความต้องการทางเพศ ความต้องการความอบอุ่น ต้องการขจัดความเจ็บป่วย และต้องการรักษาความสมดุลของร่างกาย ทุกคนต้องการสิ่งเหล่านี้เหมือนกัน อาจแตกต่างกันเป็นรายบุคคล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเพศ วัย และสถานการณ์ ฯลฯ ความต้องการปัจจัย 4 ดังกล่าวข้างต้น หากเพียงพอแล้ว มนุษย์จะพัฒนาในขั้นต่อไป

2. ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย (safety needs) เมื่อได้รับความพึงพอใจทางด้านร่างกายแล้ว มนุษย์จะพัฒนาไปสู่ขั้นที่สองคือ ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย สิ่งที่แสดงถึงความต้องการขั้นนี้คือ การที่มนุษย์ชอบอยู่อย่างสงบ มีระเบียบวินัย ไม่รุกรานผู้อื่น ความต้องการระดับนี้อาจแยกย่อยได้ดังนี้

  • ความมั่นคงในครอบครัว การมีบ้านแข็งแรงปลอดภัย มีความรักใคร่ปรองดองกันในครอบครัว
  • ความมั่นคงปลอดภัยในอาชีพ มีรายได้ยุติธรรม ไม่ถูกไล่ออก งานไม่เสี่ยงอันตราย ผู้บังคับบัญชาดีมีความยุติธรรม ฯลฯ
  • มีหลักประกันชีวิต เช่น มีผู้ดูแลเอาใจใส่ยามชรา ยามเจ็บไข้

3. ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ (belongingness and love need)

  • ความต้องการมีเพื่อน
  • ความต้องการการยอมรับจากกลุ่ม
  • ต้องการแสดงความคิดเห็นในกลุ่ม
  • ต้องการรักคนอื่นและได้รับความรักจากคนอื่น
  • ต้องการความรู้สึกว่าสังคมเป็นของตน

4. ความต้องการเกียรติยศชื่อเสียง และความภาคภูมิใจ (sefl- esteem need) ได้แก่

  • ต้องการยอมรับความคิดเห็นหรือข้อเสนอ
  • ต้องการเกียรติยศชื่อเสียงจากสังคม
  • ต้องการนับถือตนเอง มีความมั่นใจตนเอง ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น
  • ต้องการได้รับการยกย่องนับถือจากผู้อื่น
  • ต้องการความมั่นใจในตนเอง และรู้สึกตนเองมีคุณค่า

5. ความต้องการตระหนักในตนเอง (self-actualization need) ได้แก่

  • ต้องการรู้จักตนเอง ยอมรับตนเอง เปิดใจรับฟังคำวิจารณ์โดยไม่โกรธ
  • ต้องการรู้จักแก้ไขตนเองในส่วนที่ยังบกพร่อง
  • ต้องการพัฒนาตนเอง พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นเกี่ยวกับตนเอง
  • ต้องการค้นพบความจริง พร้อมที่จะเปิดเผยตนเองโดยไม่มีการปกป้อง
  • ต้องการเป็นตัวของตัวเอง ประสบความสำเร็จด้วยตัวเอง

แนวคิดตามทฤษฏีของมาสโลว์ จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาบุคคลให้เป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรม บุคคลที่พัฒนาถึงขั้นตระหนักในตนเอง (self-actualization) เป็นบุคคลที่มีจริยธรรม มีวินัยในตนเอง และมีบุคลิกภาพประชาธิปไตย การพัฒนาจากขั้นต้นไปสู่ขั้นต่อ ๆ ไปนั้น ต้องอาศัยความ “พอ” ของบุคคล ซึ่งความพอนี้ นอกจากจะขึ้นกับสภาพทางกายแล้ว ยังขึ้นอยู่กับความรู้สึกพอดีด้วย จึงมิได้หมายความว่าทุกคนจะต้องได้รับการสนองตอบความต้องการพื้นฐานเท่า ๆ กัน แต่เป็นไปตามลำดับขั้นเหมือน ๆ กัน

พรรณี ช. เจนจิต (2538 :461-476) ได้กล่าวถึงลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ตามแนวคิดของมาสโลว์ว่ามาสโลว์กำหนดความต้องการของมนุษย์จากขั้นต่ำสุดไปสู่ขั้นสูงสุดเป็น 7 ชั้น ด้วยกัน โดยที่มนุษย์จะมีความต้องการในขั้นสูงต่อไป ถ้าความต้องการในขั้นต้น ๆ ได้รับการตอบสนองแล้ว

ลำดับ 7 ขั้นของความต้องการมีดังนี้

ความต้องการทางสุนทรียะ
ความต้องการที่จะรู้และเข้าใจ
ความต้องการที่จะตระหนักในความสามารถของตนเอง
ความต้องการการยอมรับและได้รับการยอมรับ
ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ
ความต้องการความปลอดภัย
ความต้องการทางด้านร่างกาย

(Abraham H. Maslow, “A Theory of Hunman Motivation” Psychological Review vol. 50. 1943 . PP 340-396. อ้างในพรรณี ช. เจนจิต 2538 : 463)

ความต้องการทั้ง 7 ขั้น มาสโลว์แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 ความต้องการขั้นที่ 1 – 4 เรียกว่า “ความต้องการขั้นต่ำ”
กลุ่มที่ 2 ความต้องการขั้นที่ 5 - 7 เรียกว่า “ความต้องการขั้นสูง”

ซึ่งความต้องการของ 2 กลุ่ม มีความแตกต่างกัน ดังนี้

ความต้องการขั้นต่ำ

1. มนุษย์ทำทุกวิถีทางเพื่อให้สำเร็จหรือขจัดความต้องการขั้นต่ำ เช่น เมื่อหิว ก็ต้องหาอาหารมากินเพื่อขจัดความหิว

2. แรงจูงใจอันเนื่องมาจากความต้องการขั้นต่ำจะนำไปสู่การกระทำเพื่อลดความตึงเครียดต่าง ๆ ทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายอยู่ในสภาพสมดุล เช่น คนที่ต้องการการยอมรับนับถือจะทำทุกสิ่งให้ได้มาซึ่งการยอมรับนับถือ ความมีชื่อเสียง

3. การที่มนุษย์สามารถสนองความต้องการขั้นต่ำ ทำให้หลีกเลี่ยงจากความทุกข์หรือความเจ็บป่วยได้ เช่นอากาศหนาว เราจะนอนไม่หลับจนกว่าจะได้เสื้อหรือผ้าห่มจึงจะนอนหลับ

4. การที่มนุษย์สามารถสนองความต้องการขั้นต่ำจะรู้สึกว่าพ้นจากความทุกข์ พ้นจากความกระวนกระวาย จะเกิดความรู้สึกว่าไม่ต้องการสิ่งใดอีกแล้วในขณะนั้น

5. การสนองความต้องการขั้นต่ำจะมีลักษณะเป็นครั้งคราว หรือเป็นเป็นเวลา และมีลักษณะที่ใช้หมดไปในแต่ละครั้ง

6. ความต้องการขั้นต่ำซึ่งต้องการการตอบสนอง จากปัจจัยภายนอกนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนมีประสบการณ์ร่วมกัน เช่น รู้ว่าความหิวเป็นเช่นไร หรือความต้องการความรัก การยอมรับจากกลุ่มเป็นอย่างไร

7. ความสนองต้องการขั้นต่ำ ซึ่งต้องการอาศัยปัจจัยภายนอกนั้น ส่วนใหญ่ผู้อื่นเป็นผู้สนองให้ ซึ่งจะทำให้คนเกิดความรู้สึกที่ต้องคอยพึ่งพาผู้อื่น ซึ่งจะนำความรู้สึกไม่เป็นตัวของตัวเอง ทำอะไรต้องคอยระมัดระวังการยอมรับของผู้อื่นคอยดูว่า ผู้อื่นจะคิดอย่างไรกับตน

8. คนที่มีลักษณะของความต้องการขั้นต่ำ ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่คอยพึ่งพาผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบุคคลที่เห็นว่าจะสนองความต้องการให้ได้ ซึ่งจะกลายเป็นคนสัมพันธภาพกับบุคคลอื่นในวงจำกัด ไม่สนใจที่จะสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลที่ไม่สามารถทำประโยชน์ให้ได้

9. คนที่มีลักษณะของความต้องการขั้นต่ำ มีแนวโน้มจะยึดตนเป็นศูนย์กลาง ไม่คอยคำนึกถึงปัญหา มักจะคำนึกถึงเรื่องส่วนตัว

10. คนที่มีลักษณะของความต้องการขั้นต่ำ จะช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องคอยขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น เมื่อเข้าที่คับขันหรือประสบปัญหายุ่งยากต่างๆ



ความต้องการขั้นสูง

1. มนุษย์จะแสวงหาความพึงพอใจขั้นสูงสุด เช่น แสวงหาความรู้ หรือทำประโยชน์ให้สังคมโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน นอกจากความพึงพอใจ

2. แรงจูงใจที่เนื่องมาจากความต้องการขั้นสูง จะทำให้คนมีความสบายใจอยู่ได้แม้ในสภาพที่มีความตึงเครียด เช่น ทนได้แม้นแต่คำนินทาว่าร้าย ไม่สะดุ้งสะเทือนเพราะตระหนักดีถึงความสามารถที่ตนจะทำประโยชน์ให้แก่สังคมเกินกว่าจะไปสนใจคำพูดของคนบางคนหรือคำพูดของคนบางกลุ่ม

3. การที่สามารถสนองความต้องการขั้นสูงได้ จะทำให้เกิดความสุข มีสุขภาพจิตดี เช่น คนที่มีความปรารถนาจะศึกษาค้นคว้าโดยมิได้มีสิ่งล่อใจอื่นใด จะมีความสุข ความอิ่มใจ มากกว่าการกระทำที่หวังสิ่งตอบแทน

4. การสนองความต้องการขั้นสูง จะนำไปสู่ความพึงพอใจและความปรารถนา จะแสวงหาความสุข ในขั้นต่อไป เช่นการแสวงหาโดยมิได้หวังสิ่งตอบแทนจะทำให้ผู้ที่แสวงหาเกิดความสุข ความพึงพอใจ โดยไม่มีที่สิ้นสุด

5.การสนองความต้องการขั้นสูง เป็นเรื่องต่อเนื่องกันไปไม่มีที่สิ้นสุด

6. ความต้องการขั้นสูง เป็นประสบการณ์เฉพาะตัว ทั้งนี้เพราะความแตกต่างระหว่างบุคคล เช่น บางคนฟังดนตรี หรือมองพระจันทร์แล้วเกิดความซาบซึ้งจนน้ำตาไหล ซึ่งเป็นความรู้สึกเกินกว่าจะบรรยายให้ผู้ใดรับทราบได้

7. การสนองความต้องการขั้นสูงนั้น แต่ละคนจะเป็นผู้สนองความต้องการให้กับตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่การพึ่งตนเองหรือนำตนเองได้ เป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องวิตกกังวลว่าใครจะคิดอย่างไรกับตน ซึ่งสามารถทำงานได้เต็มที่

8. คนที่มีลักษณะของความต้องการขั้นสูง จะเป็นคนที่พึ่งตนเองได้ จะเป็นผู้สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับคนทั่วไป ไม่ใช่สร้างสัมพันธ์เฉพาะกับคนที่จะทำประโยชน์ให้เท่านั้น

9. คนที่มีลักษณะของความต้องการขั้นสูง จะเป็นคนคำนึกถึงปัญหามากกว่า ไม่ค่อยคำนึกถึงเรื่องส่วนตัว เป็นผู้ทำงานเพื่องาน มุ่งผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว

10. คนที่มีลักษณะของความต้องการขั้นสูง จะสามารถช่วยเหลือตนเองได้ดี แม้เมื่อเข้าที่คับขันทั้งนี้เพราะมีความเชื่อมั่นในตนเอง สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆได้ด้วยตนเอง

แนวคิดของนักวิจิตวิทยาที่เกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมดังกล่าวข้างต้น เป็นพื้นฐานประการหนึ่งที่ผู้บริหารควรนำมาพิจารณาประกอบการพิจารณาคุณธรรมจริยธรรมของตนเองและบุคคลที่อยู่ในบังคับบัญชา เพื่อเป็นแนวทางพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของตนเองและในปกครองด้วย วิชาจิตวิทยาเป็นศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสาขาหนึ่งของวิทยาศาสตร์ ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรม การกระทำ และการะบวนการคิดไปพร้อมๆ กับการศึกษาถึงเรื่องสติปัญญา ความคิด ความรู้ ความเข้าใจ การให้เหตุผล เรื่องของตนเอง หรือเรื่องของมนุษย์ และพยายามอธิบายเกี่ยวกับวิธีการปรับตัวของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าเป็นทางทฤษฎีจิตวิทายาด้านบุคลิกภาพจิตวิทยาการเรียนรู้ จิตวิทยาพัฒนาการ จิตวิทยาความแตกต่างระหว่างบุคคล จิตวิทยาสังคม ล้วนเป็นเรื่องศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติ เหตุแห่งความเป็นมาและผลที่เกิดขึ้น การศึกษาในแนวจิตวิทยาจึงเป็นการศึกษาที่ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งคนทั่วไปค่อนข้างยอมรับในหลักการทฤษฎีว่าเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือ

แต่อย่างไรก็ตาม การพิจารณาตัดสินว่า เรื่องใดควรเชื่อหรือไม่ควรเชื่อขอให้ถือตามหลักคำสอนของพระพุทธองค์ ในบทกาลามสูตรที่ว่าการเชื่อสิ่งใดให้ถือปฏิบัติตามหลัก 10 ประการ คือ อย่าเชื่อเพราะฟังตามกันมา อย่าเชื่อเพราะถือปฏิบัติสืบต่อกันมา อย่าเชื่อเพราะเสียงเล่าลือ อย่าเชื่อเพราะการอ้างตำราหรือคัมภีร์ อย่าเชื่อด้วยว่าเป็นตรรกะ อย่าเชื่อด้วยการอมุมาน อย่าเชื่อด้วยความคิดตามแนวเหตุผล อย่าเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีของตน อย่าเชื่อเพราะมองเห็น รูปลักษณะน่าเชื่อ และอย่าเชื่อเพราะนับถือว่าผู้บอกนั้นเป็นครูของเรา แต่ให้เชื่อต่อเมื่อได้พิจารณาเห็นด้วยปัญญาของตนเองและปฏิบัติตามจนเห็นจริงแล้วจึงค่อยเชื่อว่าจริง

ศรัทธา และปัญญา

“......ศรัทธาความเชื่อนั้น
กล่าวได้ว่ามีสองอย่างได้แก่
ศรัทธาที่มีผู้อื่นชักนำ กับ
ศรัทธาที่เกิดขึ้นในตัวเอง
ศรัทธาอย่างไหนก็ตาม
อาจให้ผลได้ทั้งทางดีและทางเสื่อม
ขึ้นอยู่กับวิธีการสร้างขึ้น
ถ้าสักแต่ว่าเชื่อ
ไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาแล้ว
ก็ไม่ได้ประโยชน์จากปัญญานั้น
อาจเกิดโทษก็ได้
จำเป็นต้องใช้ปัญญาความรู้เหตุรู้ผล
พิจารณาวิเคราะห์ให้ถ่องแท้ก่อน
ว่าเรื่องใดสิ่งใดมาจากความคิดที่ดีหรือความคิดที่ชั่ว
แล้วปลูกศรัทธาลง
แต่ในส่วนที่เกิดจากความคิดที่ดี
จึงจะได้ประโยชน์เต็มเปี่ยม...”

พระบรมราโชวาท
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช

ทฤษฏีของเพียเจต์ (Piaget is Theory of lntellectual Development)
ทฤษฏีพัฒนาจริยธรรมของโคลเบิร์ก (Kolberg)
ทฤษฏีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic Theory)
ทฤษฏีความต้องการของมาสโลว์ (Maslow is Theory of Need Gratification)

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย