ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>
ความหมายของคุณธรรมจริยธรรม
ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรม
แนวคิด หลักการ ทฤษฏีทางคุณธรรมจริยธรรม
ธรรมชาติของมนุษย์ทางด้านคุณธรรมจริยธรรม
ทฤษฏีทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรม
เกณฑ์การตัดสินจริยธรรม
จริยธรรมของคนไทย
ค่านิยมและจรรยาบรรณ
ธรรมชาติของมนุษย์ทางด้านคุณธรรมจริยธรรม
ผู้บริหารควรเข้าใจในพฤติกรรมของมนุษย์
รวมทั้งบุคคลที่อยู่รอบข้างและผู้ใต้บังคับบัญชา
เพื่อการบริหารงานจะได้เป็นไปด้วยดีมีประสิทธิภาพ โดยธรรมชาติมนุษย์เป็นอย่างไร
เกิดมาพร้อมที่จะเป็นคนดีหรือคนชั่ว หรือไม่ดี ไม่ชั่ว แต่มาดี ชั่ว
เพราะการอบรมเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อมทำให้เป็นในภายหลัง
เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ ในการศึกษาธรรมชาติของมนุษย์นี้
สามารถศึกษาได้หลายแนวทาง เช่น แนวคิดทางปรัชญา แนวจิตวิทยา แนวมานุษยวิทยา
แนวสังคมวิทยาเป็นต้น
แนวคิดเกี่ยวกับมนุษย์ทางพระพุทธศาสนา
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงคำสอนให้เห็นว่า
ธรรมชาติของมนุษย์มีทั้งดีและชั่วติดตัวมาแต่ชาติก่อน (วศิน อินทสระ, 2541 : 81)
กล่าวคือ พระพุทธศาสนายอมรับเรื่องชาติก่อน เรื่องการเวียนว่ายตายเกิด
ช่วงเวียนว่ายตายเกิดก็ได้สั่งสมทั้งดีทั้งชั่ว ดี-ชั่ว เหล่านั้นไม่ได้หายไปไหน
ยังคงอยู่ในจิตของเขา เขาเกิดมาพร้อมทั้งดีและชั่วอยู่แล้ว
จะดีมากขึ้นถ้าได้มาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ได้รับการฝึกฝนอบรมดี และอาจจะชั่วได้
ถ้าได้รับการกระตุ้นให้ชั่ว หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี
บุญมี ปาละวงศ์ (2537 : 99-100) กล่าวว่า
มนุษย์ตามที่นักปราชญ์จำแนกไว้มีหลายประเภท
โดยแบ่งตามคุณธรรมจริยธรรมที่มีอยู่ในจิตใจและการประพฤติปฏิบัติตน ดังนี้
1. วิญญูชน ได้แก่ มนุษย์ผู้รับผิดชอบตามปรกติ
เป็นบุคคลที่สมบูรณ์ด้วยปัญญา หลุดพ้นจากกิเลส มีความคิดระลึกได้ตลอดเวลาทั้งก่อนทำ
ก่อนพูด จัดบุคคลประเภทนี้เป็นอริยชน เป็นผู้ประเสริฐโดยแท้
2. ปัญญาชน ได้แก่ บุคคลได้ศึกษาวิชาการต่าง ๆ ทางคดีโลก เช่น
นักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ เป็นต้น
แต่อาจมีความบกพร่องทางคดีธรรมคือไม่มีความอายแก่ใจในการทำความชั่ว
ไม่เกรงกลัวผลของความชั่วหรือเห็นผิดเป็นชอบ นิยมวัตถุมากกว่าการแสวงหาคุณธรรม
3. กัลยาณชน ได้แก่ บุคคลผู้มีคุณธรรมจริยธรรมดีงาม มีจิตใจดี
เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีเมตตากรุณา รู้บาปบุญคุณโทษ พวกนี้ไม่ค่อยคำนึงถึงวัตถุมากนัก
แต่คำนึงถึงความดีทางด้านจิตใจ
4. กัลยาณปุถุชน ได้แก่ บุคคลธรรมดา เป็นผู้มากด้วยกิเลสตัณหา
แต่ยังรู้ดีรู้ชั่ว รู้บาปบุญคุณโทษอยู่ เห็นคุณค่าทางวัตถุและจิตใจเท่าๆกัน
มีความสำนึกและรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง
5. ปุถุชน ได้แก่ บุคคลผู้หนาด้วยกิเลสตัณหา
ติดอยู่ในความอยากความปรารถนาในรูป เสียง กลิ่นรส สัมผัส ยังมีอวิชชาครอบงำ
ยึดมั่นในตัวตน ยึดถือเรา ถือเขา มีทิฏฐิมานะ
6. พาลชน ได้แก่ คนชั่วร้าย คนเกเร คนไร้สติปัญญาไม่มีเหตุผล
ไม่รู้ดีไม่รู้ชั่ว ไม่รู้ถูกรู้ผิด ชอบเกะกะระรานรังแกผู้อื่น
7. อันธพาลชน ได้แก่ คนชั่วร้าย โง่เขลาเบาปัญญา
ชอบรังแกผู้อื่นทั้งต่อหน้าและหลับหลัง รวมกลุ่มกันเป็นแก็งค์
ชอบก่อกวนสร้างปัญหาให้สังคม
8. เปตชน ได้แก่ คนที่มีลักษณะคล้ายเปรตหรือคนไม่สมประกอบ
อาศัยคนอื่นพอประทังชีวิตไปวันหนึ่ง ๆ ช่วยตัวเองไม่ได้ มีความทุกข์
ความเดือดร้อนอยู่เป็นนิจ ทั้งกายและใจ
แนวคิดเกี่ยวกับมนุษย์ของนักจิตวิทยา
แนวคิดนักจิตวิทยาเกี่ยวกับจริยธรรมของมนุษย์มีความคล้ายคลึงกันในบางส่วนและแตกต่างกันในบางประการดังนี้
(สมพร สุทัศนีย์ , 2541 : 42-43)
1. นักจิตวิทยากลุ่มจิตวิเคราะห์
เชื่อว่าธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์มีความเลวติดตัวมาแต่กำเนิด พฤติกรรมต่างๆ
เกิดจากสัญชาตญาณซึ่งอยู่ภายในตัวตน
2. นักจิตวิทยากลุ่มพฤติกรรมนิยม นักจิตวิทยากลุ่มนี้เชื่อว่า
มนุษย์เกิดมาไม่ดีไม่เลว มนุษย์จะดีเลวขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม
ถ้ามนุษย์อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีก็จะเป็นคนดี
ถ้าอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เลวก็จะเป็นคนเลว มนุษย์จึงเป็นผลผลิตของสิ่งแวดล้อม
3. นักจิตวิทยากลุ่มปัญญานิยม
เชื่อว่ามนุษย์จะดีเลวขึ้นอยู่กับการปรับตัวในสภาพแวดล้อม มนุษย์เป็นผู้มีสติปัญญา
4. นักจิตวิทยากลุ่มมนุษยนิยม
เชื่อว่าเกิดมามาดีโดยกำเนิดพฤติกรรมของมนุษย์เกิดมาจากความต้องการพื้นฐาน
มนุษย์เป็นหน่วยรวมของร่างกายและจิตใจ ซึ่งแสดงความคิด
ความรู้สึกและการกระทำอย่างมีความเกี่ยวข้องกัน ถ้ามีความไม่ปรกติเกิดขึ้นในจิตใจ
อาจก่อผลกระทบอารมณ์ ความรู้สึกและพฤติกรรมได้
กล่าวโดยสรุป นักจิตวิทยามองมนุษย์แตกต่างกัน 3 ลักษณะ คือ
เกิดมาเลวและเกิดมาไม่ดีไม่เลว การเป็นคนดี คนเลว
อาจติดมาโดยกำเนิดหรือเกิดจากสิ่งแวดล้อม
แนวคิดเกี่ยวกับมนุษย์ของนักสังคมวิทยา
นักสังคมวิทยาเชื่อว่าธรรมชาติของมนุษย์คือสัตว์สังคม ต้องอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มีการติดต่อสัมพันธ์กัน การอยู่รวมกันจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์หรือกติกาทางสังคม เพื่อควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม กฎเกณฑ์ดังกล่าว เรียกว่า ปทัสถานทางสังคม (norms) ซึ่งจำแนกได้เป็น 3 ประเภท คือ
1. วิถีประชา (folkways) คือ ระเบียบแบบแผนที่บุคคลควรปฏิบัติ เช่น การบวชก่อนการแต่งงาน
2. จารีตประเพณี (mores) คือ ระเบียบแบบแผนที่บุคคลต้องปฏิบัติ หากฝ่าฝืนถือเป็นการกระทำผิดทางศีลธรรม เช่น การเลี้ยงดูพ่อแม่ยามเฒ่า
3. กฎหมาย (laws) คือ ระเบียบแบบแผนที่บุคคลต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ถ้าฝ่าฝืนต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย
ถ้าบุคคลปฏิบัติตามปทัสถานของสังคมก็จะได้รับการยกย่องชมเชย สังคมยอมรับ และทำให้คนในสังคมอยู่กันอย่างสันติ
กลุ่มสังคมจะมีลักษณะแตกต่างกันตามสภาพความเป็นอยู่ทางธรรมชาติ แบบอย่างของพฤติกรรมและความสัมพันธ์ กลุ่มต่าง ๆ ดังกล่าวมีดังนี้
1. กลุ่มญาติพี่น้อง เป็นกลุ่มที่รวมตัวกันจากความสัมพันธ์ทางสายเลือดจะพบปะกันเสมอ มีความสนใจ ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยมคล้ายกันมาก มีความผูกพันกันมาก จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันในระดับสูง
2. กลุ่มเพื่อนบ้าน ในชนบทมีความสำคัญมาก จะมีความสัมพันธ์กันฉันญาติมิตร คอยให้ความช่วยเหลือกันโดยมีได้หวังผลตอบแทน ส่วนกลุ่มเพื่อนบ้านในเมืองใหญ่จะไม่ค่อยมีลักษณะแบบนี้
3. กลุ่มเพื่อนร่วมงาน จะเป็นกลุ่มมารวมกันในเวลาทำงานเป็นกลุ่มที่ไม่เป็นทางการ ความสัมพันธ์มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับมนุษย์สัมพันธ์ในองค์การนั้น ๆ
4. กลุ่มความสนใจ เกิดจากการความสนใจคล้าย ๆ กัน เช่น กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มทางการเมือง กลุ่มทางเศรษฐกิจ ฯลฯ เป็นการรวมตัวกันเพื่อสนองความต้องการความสนใจในสิ่งเดียวกัน
แนวคิดเกี่ยวกับมนุษย์ของนักบริหาร
แนวคิดเกี่ยวกับมนุษย์ของแมกเกรเกอร์ (Mc Gregor :1966 : 33-34) กล่าวถึงธรรมชาติของมนุษย์ว่ามีพฤติกรรมแตกต่างกันเป็น 2 แบบ คอ
1. ทฤษฏีเอ็กซ์ ( X theory) เชื่อว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่มีความต้องการ (Man is wanting animal) และมีลักษณะอื่นๆ อีกเช่น
- ไม่ชอบทำงาน มักหลบงานเมื่อมีโอกาส การจูงใจให้ทำงานต้องใช้การบังคับ ควบคุม สั่งการ ลงโทษ
- ชอบเป็นผู้ตาม เวลาทำงานต้องคอยตามคำสั่ง พยายามหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ แต่ต้องการความมั่นคงปลอดภัย
- ให้ความสนใจเฉพาะตนเองเท่านั้น ไม่สนใจความต้องการของผู้อื่น
- มักต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
2. ทฤษฏีวาย ( Y theory) เป็นแนวคิดของนักพฤติกรรมศาสตร์ เช่น ลิเคิร์ท (Likert )อาร์กิลิส (Argiris) บุคคลเหล่านี้เชื่อว่ามนุษย์เป็นผู้ชอบการสมาคม (Man is a social man) มนุษย์จะอยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องพบปะพูดคุยและช่วยเหลือกัน แมกเกรเกอร์ (Mc Gregor) ได้สรุปทรรศนะของนักพฤติกรรมศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ไว้ดังนี้
- รักงาน จะทำงานด้วยความสุข เชื่อว่างานเป็นสิ่งที่สนองความต้องการ คนจะหลีกเลี่ยงงานหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชา
- จะทำงานด้วยตัวของเขาเอง มีความรับผิดชอบในการทำงานจนได้รับความสำเร็จ
- ชอบทำงานเป็นกลุ่ม
- จะเรียนรู้จากสถานการณ์ เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบและจะแสวหาความรับผิดชอบเพิ่มขึ้น
- มีความเฉลียวฉลาด มีความคิด จินตนาการสร้างสรรค์ตนและแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ มนุษย์ทุกคนรู้จักตนเองว่าเป็นใคร
จากข้อความดังกล่าวพอสรุปได้ว่า ทฤษฏีวาย ( Y theory)
มองมนุษย์ในแง่บวกมากกว่าทฤษฏีเอ็กซ์ ( X theory) ภายหลังต่อมามีทฤษฏีใหม่เกิดขึ้น
เรียกว่า ทฤษฏีแซด( Z theory)
3. ทฤษฏีแซด( Z theory) เรดดิน (เรดดิน อ้างในศิริโสภาคย์ บูรพาเดชะ
2529 : 69-68) ทฤษฏีแซด( Z theory) เชื่อว่ามนุษย์มีความซับซ้อน (Man is a complex
man) ซึ่งในความจริงมนุษย์มีลักษณะทั่วไปดังนี้
- เป็นผู้มีความตั้งใจในการทำงาน
- ยอมรับทั้งความดีและความชั่ว
- จะถูกผลักดันจากสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมให้ทำสิ่งต่างๆ
- มีเหตุผลเป็นสิ่งจูงใจให้ทำงาน
- มักจะพึ่งพาอาศัยกัน และจะต้องติดต่อเกี่ยวข้องกันในสังคม
- ทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย
จะเห็นได้ว่า ทฤษฏีแซด( Z theory) มีแนวคิดว่ามนุษย์มีลักษณะโดยทั่วไป ไม่ดี
ไม่เลว แต่จะทำสิ่งต่าง ๆ
เพราะมีเหตุจูงใจหรือได้รับอิทธิพลจากสถานการณ์และสิ่งแวดล้อม
จากการวิเคราะห์แนวคิดของนักปรัชญา นักจิตวิทยา นักสังคมวิทยาและนักบริหาร
พบว่ามนุษย์มีจริยธรรมที่แตกต่างกัน มีทั้งดี เลวและไม่ดีไม่เลว
ระดับจริยธรรมของมนุษย์แต่ละคน อาจมีติดตัวมาแต่เกิด
หรือมาพัฒนาได้ในภายหลังจากสภาพแวดล้อม การอบรมเลี้ยงดู และกรอบประเพณีสังคม
จากการศึกษาพอได้แนวคิดว่ามนุษย์ทุกคนต่างมุ่งหวังสภาวะแห่งความสมบูรณ์ที่สุดแห่งตน
ซึ่งสภาวะแห่งความสมบูรณ์ที่สุดเป็นสิ่งที่อยู่ในความสามารถและสติปัญญาของมนุษย์ที่จะสามารถดำเนินไปได้ด้วยตนเอง
แต่เขาจะต้องรับผิดชอบต่อการเสริมสร้างชีวิตตนเองให้พัฒนาสูงขึ้นสู่ระดับที่ดีกว่า
สูงกว่า แต่มนุษย์ขาดคุณธรรมในตัวเอง
จึงทำให้ไม่สามารถพัฒนาตนเองขึ้นสู่ความสมบูรณ์ของชีวิตได้
มนุษย์ยังขาดจิตสำนึกในความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ปล่อยตัวเองเป็นทาสของอารมณ์
ความอยาก กิเลสตัณหา ตลอดเวลา หากมนุษย์สร้างจิตสำนึกให้มั่นคง
และหนักแน่นได้แล้วก็จะเป็นบันไดก้าวไปสู่ความสมบูรณ์ของมนุษย์ต่อไป
การปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา
....พระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนา
เป็นธรรมที่พึงศึกษาด้วยการนำมาพิจารณาในใจ
โดยตั้งต้นแต่ตั้งใจฟัง ตั้งใจเรียน
ตั้งใจพิจารณาจับเหตุจับผล จำแนกเหตุ จำแนกผล
จำแนกข้อที่เป็นสาระและมิใช่สาระ
ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง
เมื่อตั้งใจศึกษาพิจารณาจนเห็นชัดแล้ว
ก็เลือกเฟ้นปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม
คือข้อใดพึงละก็ละ ข้อใดพึงปฏิบัติก็ปฏิบัติ
ข้อใดพึงปฏิบัติก่อนก็ปฏิบัติก่อน
ข้อใดพึงปฏิบัติหลังก็ปฏิบัติหลัง
การศึกษาและการปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนดังนี้
ย่อมนำมาให้ได้สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ความเห็นตรง
นำให้ได้ความเลื่อมใส
ที่ไม่หวั่นไหวในพระธรรม
และนำให้เข้ามาสู่สัทธรรมในพระพุทธศาสนา...
พระบรมราโชวาท
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช