ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>
ความหมายของคุณธรรมจริยธรรม
ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรม
แนวคิด หลักการ ทฤษฏีทางคุณธรรมจริยธรรม
ธรรมชาติของมนุษย์ทางด้านคุณธรรมจริยธรรม
ทฤษฏีทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรม
เกณฑ์การตัดสินจริยธรรม
จริยธรรมของคนไทย
ค่านิยมและจรรยาบรรณ
ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรม
สิ่งที่น่าสนใจในอันดับต่อไปคือ จริยธรรมเกิดขึ้น ได้อย่างไร
ต้นกำเนิดของจริยธรรมที่เป็นแหล่งที่มาที่สำคัญของจริยธรรมด้วย
เพราะวรรณคดีเป็นที่รวบรวมแนวคิดทางจริยธรรม
ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดจริยธรรม ดังรายละเอียดที่กล่าวต่อไปนี้
แหล่งที่มาของจริยธรรม
แหล่งที่เป็นบ่อเกิดของจริยธรรมที่เป็นแหล่งสำคัญ มีดังนี้
1. ปรัชญา
วิชาปรัชญาคือวิชาที่ว่าด้วยหลักแห่งความรู้และความจริง
สาระของปรัชญาจะกล่าวถึงลักษณะของชีวิตที่พึงปรารถนาควรเป็นอย่างไร
ธรรมชาติของมนุษย์ สภาพสังคมที่ดี
ความคิดเชิงปรัชญาจะแถลงออกมาเป็นความเชื่ออย่างมีเหตุผล
จนคนต้องยอมรับว่าเป็นความคิดที่ได้รับการพิจารณาไตร่ตรองรอบคอบแล้วปรัชญาจะกล่าวถึงเรื่องเกี่ยวกับความดี
ความงาม ค่านิยม เพื่อจะได้ยึดเป็นหลักปฏิบัติประจำตัวต่อไป
2. ศาสนา คำสอนของศาสดาในศาสนาต่างๆ
ตามที่ศาสดาเหล่านั้นท่านได้ปฏิบัติเองและสั่งสอนให้ผู้อื่นปฏิบัติตาม
จนเกิดผลดีงามของการปฏิบัตินั้นเป็นที่ประจักษ์มาแล้ว เช่น
หลักคำสอนของพระพุทธศาสนา คำสอนของศาสนาคริสต์ หรือข้อปฏิบัติของศาสนาอิสลาม
เป็นต้น
3. วรรณคดี
หนังสือวรรณคดีเป็นหนังสือที่มีมาตรฐานทั้งด้านเนื้อหาสาระ คุณค่าและวิธีแต่ง
จนเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป
ชาติที่เจริญด้วยวัฒนธรรมย่อมมีวรรณคดีเป็นของตนเองในหนังสือวรรณคดีจะมีแนวคิด
คำสอนที่เป็นแนวปฏิบัติได้ เช่น สุภาษิตพระร่วง โคลงโลกนิติ สุภาษิตสอนหญิง
จึงกล่าวได้ว่าวรรณคดีก็เป็นแหล่งกำเนิดหรือเป็นที่รวบรวมแนวคิดทางจริยธรรมด้วย
4. สังคม สิ่งที่สังคมกำหนดนับถือร่วมปฏิบัติด้วยกัน
อันได้แก่ ขนบธรรมเนียมประเพณี
ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ถือปฏิบัติกันในสังคมและยอมรับสืบทอดกันมา
5. การเมืองการปกครอง ในระบอบการเมืองการปกครอง
ได้กำหนดข้อบังคับระเบียบกฎหมายของบ้านเมือง จรรยาบรรณต่างๆ
ซึ่งเป็นข้อบังคับหรือแนวปฏิบัติ
เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขและเพื่อความยุติธรรมโดยทั่วกัน
การเกิดจริยธรรมในมนุษย์แต่ละคน อาจเกิดได้จากลักษณะต่อไปนี้
เกิดจากการเลียนแบบ เป็นกระบวนการที่เกิดจากการเรียนรู้ การยอมรับ
การเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ที่แวดล้อมตนอยู่แล้วนำมาปรับเข้ากับตนเอง
กระบวนการนี้จัดเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็ก
ส่วนใหญ่จะเกิดในครอบครัว โรงเรียน กลุ่มเพื่อนและชุมชน
การสร้างจริยธรรมในตนเอง โดยตัวเองเป็นผู้กำหนดขึ้น
ซึ่งอาจเป็นเรื่องของมโนธรรม เหตุผลหรืออารมณ์ของมนุษย์ นักปรัชญาบางคนเช่นคานต์
(Kant) เชื่อว่า มนุษย์มีกฎจริยธรรมเกิดขึ้นในตนเอง
โดยรู้จักปรับตัวในสภาพธรรมธรรมชาติ (natural self) เข้าด้วยกัน
แล้วเลือกเอาแนวทางที่ดีมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตเกิดจากการเรียนรู้ระบบสังคม
จริยธรรม ค่านิยม ที่ได้จากการวิเคราะห์คุณค่า ความถูกผิดชั่วดี จนกลายเป็นหลักการ
กฎเกณฑ์ ข้อกำหนด แนวศีลธรรม ให้ยึดถือปฏิบัติการบำเพ็ญประโยชน์และพันธสัญญาประชาคม
(utility and social contract)
เป็นการปฏิบัติตามระเบียบก่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชาติมีความสัมพันธ์เป็นมิตรไมตรี
ต่างปฏิบัติตามบทบาท
ใช้สิทธิหน้าที่ทำให้เกิดความสงบสุขและสามัคคีการปฏิบัติตามหลักสากลธรรม
(universal) หลักมโนธรรมสากลที่ครอบคลุมได้ทั้งโลก
เป็นข้อยืนยันคุณความดีของทุกศาสนาว่าล้วนวางแนวทางให้คนหรือศาสนิกชนของตนบำเพ็ญตนอยู่ในคุณงามความดีตามที่ได้สร้างสรรค์หลักธรรมไว้
มีการกล่อมเกลาจิตใจให้ศรัทธาแน่วแน่ในการบำเพ็ญตนให้มีสาระ
มุ่งถึงเป้าหมายของความเชื่อสูงสุดที่ยึดมั่น ซึ่งล้วนเป็นสุคติหรือหนทางดีงาม
หลักจริยธรรมที่ขยายขอบเขตจากจุดเล็กสุดคือเฉพาะตนไปจนถึงสากลโลก
ระดับจริยธรรม
เป้าหมายของคุณงามความดีที่บุคคลได้ปฏิบัติอย่างถูกต้องแล้วนั้น
จะได้รับผลมากน้อยขึ้นอยู่กับระดับสติปัญญาของบุคคลนั้น ๆ
ในทางพระพุทธศาสนาแบ่งระดับจริยธรรมไว้เป็น 2 ระดับ คือ
1. ระดับโลกียธรรม โลกียธรรม ได้แก่ ธรรมอันเป็นวิสัยของโลก
สภาวะเนื่องในโลก เช่น ศีล 5 เป็นต้น
โลกียธรรมเป็นธรรมขั้นต้นสำหรับผู้มีสติปัญญาไม่แก่กล้า
การปฏิบัติตามโลกียธรรมมุ่งให้บุคคลในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสันติสุขไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
ไม่ทำชั่วสร้างแต่คุณงามความดีและทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส
เป็นการน้อมนำเอาพุทธโอวาทมาปฏิบัติในฐานะที่ยังเป็นปุถุชนอยู่
จริยธรรมในระดับโลกียธรรม จะถูกกำหนดออกมาในรูปแบบต่าง ๆ
นอกจากคำสอนของศาสนาแล้วก็ยังมีองค์กรทางสังคม เช่น ระเบียบ กติกา จารีต ประเพณี
วัฒนธรรม ฯลฯ องค์กรทางการเมือง อันได้แก่ กฎหมาย พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด
เป็นต้น
2. ระดับโลกุตตรธรรม โลกุตตรธรรม ได้แก่ ธรรมอันมิใช่โลก
สภาวะพ้นโลก ได้แก่ มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 ผู้บรรลุจริยธรรมระดับนี้จัดเป็นอริยบุคคล
คือผู้พ้นจากกิเลส ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ระดับ จากระดับต่ำไปสู่ระดับสูง ดังนี้
- โสดาบันอริยบุคคล
- สกทาคามีอริยบุคคล
- อนาคามีอริยบุคคล
- อรหันตอริยบุคคล
จริยธรรมทั้งสองระดับนี้ ความสำคัญอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติ การปฏิบัติตามหลักโลกียธรรมโดยเฉพาะส่วนที่เป็นพุทธโอวาทอย่างสมบูรณ์โดยชอบ ก็สามารถยกขึ้นสู่โลกุตตรธรรมได้ อาจถือได้ว่าโลกียธรรมนั้นเป็นธรรมขั้นต้น หากค่อยปฏิบัติฝึกฝนไปตามลำดับก็จะบรรลุถึงโลกุตตรธรรม ดังที่พระพุทธทาสภิกขุ (2529 : 203-204) ได้อธิบายว่า คำว่า โลกียธรรมกับโลกุตตรธรรม มักจะยึดถือกันเป็นหลักตายตัวว่า โลกิยะอยู่ในโลกอีกระบบหนึ่งต่างจากโลกุตตระอยู่นอกโลกอีกระบบหนึ่งต่างหากอย่างนี้ไม่ถูก โลกิยะ มันเป็นชั้นต้น เป็นของมีอยู่แล้วของบุคคลที่ยังไม่รู้อะไร อยู่ในวิสัยของโลกอยู่แล้ว มีแต่จะเลื่อนไปหาโลกุตตระ ไม่ใช่หันหลังให้กันแล้วเดินกันไปคนละทิศละทาง โลกิยะก็แปลว่า มันยังทำอะไรมากไม่ได้ มันยังอยู่บ้านมันยังมีความรู้ต่ำ ยังมีตัวตน ยังมีของตน แต่แล้วมันค่อย ๆ ไปทางของโลกุตตะเพื่อจะไม่มีตัวตน เพื่อจะอยู่เหนือปัญหาทั้งปวงคือเหนือโลก
องค์ประกอบของจริยธรรม
กรมวิชาการ (2535 : 5 ) ได้จัดทำเอกสารการประชุมเกี่ยวกับจริยธรรมไทย สรุปว่า จริยธรรมของบุคคลมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ
ด้านความรู้ (moral reasoning) คือ ความเข้าใจในเหตุผลของความถูกต้องดีงาม สามารถตัดสินแยกความถูกต้องออกจากความไม่ถูกต้องได้ด้วยการคิด
ด้านอารมณ์ความรู้สึก (moral attitude and belief) คือ ความพึงพอใจ ความศรัทธาเลื่อมใส ความนิยมยินดี ที่จะรับจริยธรรมมาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติตน
ด้านพฤติกรรม (moral conduct) คือการกระทำหรือหารแสดงออกของบุคคลในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากอิทธิพลของทั้งสององค์ประกอบข้างต้น
เนื่องจากองค์ประกอบของจริยธรรมประกอบด้วย 3 ส่วน ดังกล่าวข้างต้น การพัฒนาคนในด้านจริยธรรมจึงต้องพัฒนา 3 ด้านไปด้วยกัน ในการดำเนินชีวิตของคนนั้น องค์ประกอบทั้ง 3 ประการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด กล่าวคือ พฤติกรรมของคนที่แสดงออกมาทั้งทางกายและทางวาจานั้น จะมีความสัมพันธ์กับทางจิตใจและสติปัญญา คนที่มีอารมณ์โกรธจะแสดงพฤติกรรมออกมาทางการก้าวร้าวรุนแรง และยิ่งเป็นคนที่มีปัญญาน้อยด้วยแล้ว พฤติกรรมที่แสดงออกก็จะก้าวร้าวรุนแรงยิ่งกว่าบุคคลที่มีสติปัญญาซึ่งจะสามารถควบคุมจิตใจของตนได้โดยไม่แสดงพฤติกรรมไม่ดีให้ออกมาปรากฏ นั่นก็แสดงว่าผู้มีสติปัญญาดีย่อมสามารถควบคุมอารมณ์และความประพฤติได้ดีกว่าผู้ด้อยปัญญานั่นเอง
แนวคิดในการพัฒนาจริยธรรมของบุคคลโดยพัฒนาองค์ประกอบของจริยธรรมทั้ง 3 ด้าน กล่าวคือ เริ่มจากการพัฒนาองค์ประกอบสำคัญอันดับแรก ได้แก่ ปัญญาหรือความรู้ ด้วยเห็นว่า ปัญญา เป็นองค์ประกอบสำคัญในการส่งเสริมให้บุคคลแสดงพฤติกรรมในทางที่ถูกต้องและเป็นตัวควบคุมอารมณ์และความรู้สึกให้เป็นอิสระ เป็นสุขจากแรงกระทบกระทั่งทั้งปวงนั้น นักปราชญ์ทางการศึกษาได้เห็นพร้องกันดังนี้
พระธรรมปิฎก ( 2539 : 15-21) กล่าวไว้พอนำมาสรุปความได้ว่า มนุษย์นั้นเมื่อรับรู้ประสบการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะมีความรู้สึกหรือเวทนาเกิดขึ้น ความรู้สึกนี้อาจเป็นได้ทั้งสุข เวทนา หรือทุกขเวทนา เมื่อมีเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วมนุษย์ที่ยังมีอวิชชาก็จะมีปฏิกิริยาแตกต่างจากผู้มีปัญญา คือถ้าผู้มีอวิชชาก็จะมีความรู้สึกยินดียินร้ายต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเรียกว่า ตัณหา ตัณหาจะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม การใช้ตัณหาเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม ก็เพราะมนุษย์ยังไม่พัฒนา ยังไม่มีความรู้ ยังไม่มีปัญญา การใช้ตัณหาเป็นตัวนำพฤติกรรมอาจทำให้เกิดโทษหลายประการ คือ เป็นอันตรายต่อตนเองทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เป็นอันตรายต่อการอยู่ร่วมกันของมนุษย์หรือสังคม เป็นอันตายต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเกิดปัญหาเช่นนี้ เนื่องจากมนุษย์ปล่อยให้ตัณหาเป็นตัวนำพฤติกรรมการแก้ปัญหา ก็คือ เราจะปล่อยให้ตัณหาเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมไม่ได้ มนุษย์จะต้องกำหนดรู้อะไรเป็นคุณค่าที่แท้จริงของชีวิตของตนแล้วทำตามความรู้นั้น คือเอาความรู้เป็นตัวกำหนดนำพฤติกรรม
ดังนั้น ในการศึกษา จึงต้องฝึกคนให้พัฒนาปัญญา เมื่อมีปัญญาเกิดขึ้นแล้วพฤติกรรมก็จะเปลี่ยนไป เช่นการบริโภคอาหาร ก็จะกำหนดรู้ด้วยปัญญาว่าเรากินเพื่อบำรุงร่างกายให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ ให้มีความสุขภาพดี เพื่อให้เรามีชีวิตที่ผาสุก หรือเป็นเครื่องเกื้อหนุนชีวิตที่ดีงาม เพื่อการบำเพ็ญกิจอันประเสริฐคือการทำหน้าที่และประโยชน์ต่างๆ นั่นก็คือใช้ปัญญาในการทำหน้าที่รู้คุณค่าของอาหาร รู้ความประสงค์ในการกินการบริโภคและ ปัญญา นี้จะมาเป็นตัวนำพฤติกรรมตัวใหม่ ปัญญา จะมากำหนดพฤติกรรมแทน ตัณหา นี่ก็คือจุดเริ่มต้นของการศึกษาหรือการพัฒนาคน คือพัฒนาปัญญาหรือความรู้ก่อน นอกจากแนวคิดของพระธรรมปิฎกแล้ว ยีงมีแนวคิดของนักการศึกษาตะวันตกที่เห็นพร้องต้องกันกับแนวคิดนี้คือ โคลเบิร์ก (Kohlberg, 1964 : 385-390) ได้กล่าวไว้ว่า การพัฒนาทางสติปัญญาและอารมณ์เป็นรากฐานของการพัฒนาทางจริยธรรม โคลเบิร์กเชื่อว่าจริยธรรมของมนุษย์มีพัฒนาการตามระดับวุฒิภาวะเพราะเกิดจากกระบวนการทางปัญญา ซึ่งมีการเรียนรู้มากขึ้น ทฤษฏีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบิร์กจะสอดคล้องกับทฤษฏีของเพียเจต์ (Piaget) เชื่อว่าการเรียนรู้ของมนุษย์เกิดจากการปรับตัวและการสร้างสมดุลระหว่างสติปัญญากับสภาวะแวดล้อมที่จะทำให้มนุษย์ดำรงชีวิตอยู่ พัฒนาการของมนุษย์มีความต่อเนื่องและเจริญขึ้นตามวุฒิภาวะ นักการศึกษาทั้งสองท่านเชื่อว่า จริยธรรมของมนุษย์มีพัฒนาการตามระดับวุฒิภาวะ เพราะเกิดจากกระบวนการทางปัญญา ซึ่งมีการเรียนรู้มากขึ้น และจากการศึกษาและวิจัยของโคลเบิร์ก (Kohlberg) ยืนยันว่าจริยธรรมมีการพัฒนาการตามวุฒิภาวะและมีความสัมพันธ์กับระดับการศึกษา
คุณธรรมถือว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนควรมี เพราะคุณธรรมเป็นคุณสมบัติหรือคุณลักษณะที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ทั่วไป คุณธรรมตามแนวคิดของนักปราชญ์ทั้งหลายจึงจำแนกออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนความรู้ความเข้าใจ ส่วนอารมณ์ความรู้สึกและส่วนที่เป็นพฤติกรรมต่างๆ ที่แสดงอกมา เช่น การปฏิบัติตามศาสนา การควบคุมตนเอง ความกล้าหาญ ความยุติธรรม ฯลฯ ผู้มีคุณธรรมจึงเป็นผู้ที่ถึงพร้อมด้วยความรู้ความเข้าใจ อารมณ์ ความรู้สึกและพฤติกรรมที่แสดงออกอย่างถูกต้องดีงาม การที่ผู้บริหารจะพัฒนาตนเองทางด้านคุณธรรม หรือการที่ผู้บริหารจะพัฒนาผู้อื่นที่แวดล้อมใกล้ชิดและเกี่ยวข้องอยู่ในความดูแล เพื่อให้เป็นบุคคลผู้มีคุณธรรมจึงต้องเริ่มจากการพัฒนาปัญญา พัฒนาจิตใจ อารมณ์ เพื่อให้ทั้งสองส่วนนี้เป็นตัวควบคุมพฤติกรรมของบุคคลผู้นั้นต่อไป
องค์ประกอบของจริยธรรมทั้ง 3 ส่วน คือ ปัญญา จิตใจ และพฤติกรรมนี้ คนส่วนใหญ่จะเข้าใจกันว่า จิตใจเป็นส่วนสำคัญที่สุด เป็นตัวที่ควบคุมพฤติกรรมของคนดังคำกล่าวที่ว่า ใจเป็นนาย กายเป็นบ่าว คำกล่าวนี้ไม่ผิด เพราะมีหลักฐานให้พบเห็นเสมอว่า ความอุตสาหะ ความกล้าหาญ ความรัก ความชัง ฯลฯ ล้วนเป็นความรู้สึกทางจิตใจที่มีผลให้คนแสดงพฤติกรรมออกมาในรูปแบบที่แตกต่างกัน หากแต่ถ้าพิจารณาให้ลึกลงไปแล้ว จิตใจของคนเราย่อมอ่อนไหวผันแปรได้ง่าย หากไม่มีปัญญาเป็นตัวกำกับ อาจมีสิ่งจูงใจให้จิตใจอ่อนไหวไปตามโลกธรรม คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ทุกข์ เมื่อจิตใจผันผวนปรวนแปรพฤติกรรมของคนก็จะเปลี่ยนแปลง เพราะเกิดตัณหาเป็นตัวนำจิตใจ แต่ถ้าหากบุคคลผู้นั้นเป็นผู้มีปัญญา รู้แจ้งในความเป็นจริงของโลกและชีวิต ปัญญาก็จะเป็นตัวชี้นำไม่ให้จิตใจอ่อนไหวไปตามสิ่งที่มากระทบ จิตใจก็จะเข้มแข็งไม่อ่อนไหวปรวนแปร จนเกิดผลกระทบไปถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เคยประพฤติปฏิบัติ ทั้งนี้ เพราะมีปัญญาเป็นตัวควบคุมจิตใจไว้อีกระดับหนึ่ง จึงสรุปได้ว่า ในองค์ประกอบของจริยธรรมทั้ง 3 ส่วนนี้ ปัญญา เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด ที่จะชี้นำให้จิตใจและพฤติกรรมของคนดำเนินไปอย่างถูกต้องตามครรลองครองธรรม ดังพุทธพจน์ที่ว่า
สพฺเพ ธมฺมา ปญฺญุตฺตา แปลว่า ธรรมทั้งหลายมีปัญญาเป็นเยี่ยมยอด
แนวคิดของพุทธปรัชญา
...เนื้อหาสาระและกฎเกณฑ์ของพระพุทธศาสนา
เกิดจากการค้นหาความจริงของชีวิตด้วยปัญญามนุษย์
พระพุทธศาสนาแสดงความจริงของชีวิต
แสดงทางปฏิบัติที่จะให้บรรลุความสูงสุดของชีวิต
มีวิธีการสั่งสอนที่ยึดหลักเหตุผลว่าทุกสิ่งเกิดจากเหตุ
ผู้ใดประกอบเหตุอย่างเพียงใด
ก็จะได้ผลอย่างนั้นเพียงนั้น...
พระบรมราโชวาท
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช