ปรัชญา อภิปรัชญา ญาณวิทยา จิตวิทยา ตรรกศาสตร์ >>
ความหมายของคุณธรรมจริยธรรม
ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรม
แนวคิด หลักการ ทฤษฏีทางคุณธรรมจริยธรรม
ธรรมชาติของมนุษย์ทางด้านคุณธรรมจริยธรรม
ทฤษฏีทางจิตวิทยาที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรม
เกณฑ์การตัดสินจริยธรรม
จริยธรรมของคนไทย
ค่านิยมและจรรยาบรรณ
ค่านิยมและจรรยาบรรณ
จริยธรรมของคนในสังคมย่อมเกี่ยวเนื่องมีผลมาจากรากฐานทางสังคมหลายด้าน
ทั้งด้านแนวความคิด แนวความเชื่อ ด้านปรัชญา คำสอนทางศาสนา ขนบประเพณี วัฒนธรรม
ความเป็นอยู่ รวมทั้งค่านิยม และจรรยาบรรณของตนในสังคม
1. ความหมายของค่านิยม ค่านิยม (Value)
ตามความหมายที่นักการศึกษาให้ความหมายไว้ ดังนี้
ค่านิยม หมายถึง
การยอมรับและพร้อมที่จะปฏิบัติตามคุณค่าที่คนหรือกลุ่มคนมีอยู่ต่อสิ่งต่าง ๆ
ซึ่งอาจเป็นวัตถุ ความคิด อุดมคติ รวมทั้งการกระทำในด้านเศรษฐกิจ สังคม จริยธรรม
และสุนทรียภาพ ทั้งนี้ได้กระทำการประเมินค่าจากทรรศนะต่าง ๆ โดยรอบคอบแล้ว (พนัส
หันนาคินทร์, 2526 : 18 )
ค่านิยม คือหลักการประพฤติปฏิบัติตนต่อสิ่งต่างๆ
ที่บุคคลถือว่าดีงามถูกต้อง และควรแก่การยึดถือ (วัชรี ธุวธรรม 2538 : 2 4)
ค่านิยม หมายถึง การให้ค่าแก่สิ่งต่างๆว่าสิ่งใดดีหรือไม่ดี อะไรควร ไม่ควร
เช่นเราให้ค่าแก่ความซื่อสัตย์ว่าเป็นสิ่งที่ดี เราจะแสดงความซื่อสัตย์
หรือบางคนพอใจจะให้ค่าแก่การมีวัตถุสิ่งของว่าเป็นสิ่งที่ดีไม่ว่าการได้มาซึ่งวัตถุสิ่งของนั้นจะได้มาด้วยวิธีใด
บุคคลก็จะสะสมวัตถุสิ่งของเอาไว้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
ค่านิยมจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของบุคคลในสังคม (สมพร สุทัศนีย์,
2541 : 108 109)
จากความหมายดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นว่าค่านิยมเป็นสิ่งที่ยึดถือกันว่า
มีคุณค่าแก่ตนเอง หรือแก่สังคม เป็นสิ่งที่ควรประพฤติปฏิบัติ
ค่านิยมยังเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของบุคคลในสังคม
เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการเลือกกระทำ
ซึ่งหมายถึงจริยธรรมของแต่ละบุคคลและแต่ละสังคมนั่นเอง
2. ที่มาของค่านิยม
ค่านิยมเป็นสิ่งที่สามารถเรียนรู้
ยอมรับและเปลี่ยนแปลงได้ค่านิยมของแต่ละบุคคลอาจแตกต่างกัน
ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากที่มาของค่านิยมที่แตกต่างกันดังนี้
- จากประเพณีและวัฒนธรรม ซึ่งมีการถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งมีการยอมรับและปฏิบัติสืบต่อ ๆ กันมา
- จาการอบรมเลี้ยงดู นับว่ามีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมนุษย์มาก การอบรมเลี้ยงดูแบบต่าง ๆ ก่อให้เกิดค่านิยม และพฤติกรรมที่แตกต่างกัน
- จากอิทธิพลจากสื่อมวลชน รวมทั้งการรับอารยธรรมตะวันตกและสังคมอื่น
- จากประสบการณ์ของแต่ละคน ซึ่งผ่านการสั่งสมมาอย่างมากมาย สิ่งที่เคยพบเห็น เคยรู้สึก เคยปฏิบัติมาแล้ว ย่อมส่งผลให้เกิดค่านิยมในแต่ละคน
สาขาของค่านิยม มี 3 สาขา คือ
- ค่านิยมที่ว่าด้วยจริยธรรม (ethical value)
เป็นสาขาที่กล่าวถึงคุณค่าในด้านความประพฤติของมนุษย์ด้านจริยธรรม
คำสอนทางศาสนา
- ค่านิยมที่ว่าด้วยสุนทรียภาพ (esthetical value)
เป็นสาขาที่พิจารณาถึงคุณค่าในด้านความงามที่แสดงออกมาโดยสื่อต่าง ๆ เช่น ศีลปะ
ดนตรี การแสดง เป็นต้น
- ค่านิยมที่ว่าด้วยสังคมการเมือง (social political value) จะพิจารณาถึงคุณค่าทางสังคม การเมือง (รวมทั้งการเศรษฐกิจ) ที่มีอยู่ในแต่ละสังคม เป็นลักษณะค่านิยมที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงง่าย และมักทำให้เกิดปัญหาในเรื่องการพิจารณาค่านิยมอยู่เสมอ (พนัส หันนาคินทร์ ,2526 : 27)
3. ประเภทของค่านิยม
ค่านิยม อาจจำแนกออกเป็น 2 ประเภท คือ
1. ค่านิยมส่วนบุคคล (individual values)
เป็นสิ่งที่แต่ละบุคคลยึดถือปฏิบัติโดยเห็นคุณค่าในสิ่งนั้น (เช่น ความขยัน
ความอดทน ความซื่อสัตย์ ความประหยัด ฯลฯ)
2. ค่านิยมของสังคม (social values) เป็นค่านิยมที่คนส่วนใหญ่ในสังคมนั้น ๆ
ยึดถือปฏิบัติ ยอมรับในคุณค่า
สมาชิกในสังคมพึงปฏิบัติจึงจะได้ชื่อว่าเป็นสมาชิกที่ดีในสังคม
ค่านิยมของคนในสังคมไทย
คนไทยจะมีค่านิยมที่คล้ายคลึงกันคือ คนไทยอยู่ใน สังคมอำนาจนิยม
(Thinapan Nakata : 1975 : 55) คือยกย่องผู้มีอำนาจ
ฉะนั้นคนไทยจึงมีค่านิยมตามลักษณะของสังคมไทยดังนี้
1. ยกย่องผู้มีอำนาจ
2. เคารพเชื่อฟังผู้มีอาวุโส
3. ค่านิยมของความสงบ
4. ค่านิยมของความเกรงใจ
5. ยึดตัวบุคคลมากกว่าหลักการ
นอกจากนี้ยังมีค่านิยมอีกประการหนึ่งคือ อิสรนิยม นั่นก็คือ
คนไทยรักอิสรภาพ ชอบทำสิ่งต่าง ๆ ตามสบาย ไม่ชอบกฎมาบังคับ ไม่ชอบใครมาควบคุมมากนัก
จึงอาจกล่าวได้ว่ามีความเป็น ปัจเจกชน คือเป็นตัวของตัวเองในระดับสูง
จึงเป็นเรื่องที่น่าพิจารณาว่าค่านิยมเหล่านี้ควรยึดปฏิบัติตามมากน้อยเพียงใด
หรือควรลดละเพื่อความเป็นสังคมที่มีประสิทธิภาพต่อไป
4. ค่านิยมที่พึงประสงค์ของสังคมไทย
เนื่องจากค่านิยมเป็นสิ่งที่มีผลต่อพฤติกรรมและจริยธรรมของคนในสังคม
การปลูกฝังค่านิยมที่ดีจึงเป็นสิ่งที่ผู้มีบทบาทหน้าที่ นับตั้งแต่พ่อแม่
ครูอาจารย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารควรปลูกฝังให้เยาวชนและคนในครอบครัว
คนในสังคม รวมทั้งผู้ใต้บังคับบัญชา ให้มีค่านิยมที่พึงประสงค์ต่อไปนี้
กรมศาสนา (2525 : 2) ได้เสนอค่านิยมที่ควรปลูกฝังเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพ
อุปนิสัยและพฤติกรรมที่ดีของคนไทย ดังนี้
1. ความมีระเบียบวินัย
2. ความซื่อสัตย์สุจริตและยุติธรรม
3. ขยัน ประหยัด และยึดมั่นในสัมมาชีพ
4. สำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ
5. รู้จักคิดริเริ่ม มีวิจารณญาณ และตัดสินใจอย่างมีเหตุผล
6. กระตือรือร้นในการปกครองแบบประชาธิปไตย รักและเทิดทูนชาติ
ศาสนาและพระมหากษัตริย์
7. มีพลานามัยสมบูรณ์ ทั้งร่างกายและจิตใจ
8. รู้จักพึ่งตนเองและมีอุดมคติ
9. มีความภาคภูมิใจ และรู้จักทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไทย และทรัพยากรของชาติ
10. มีความเสียสละ เมตตาอารี กตัญญูกตเวที กล้าหาญ และสามัคคีกัน
อำไพ สุจริตกุล และคณะ (2540 : 134 135)
ได้กล่าวถึงค่านิยมอันพึงประสงค์ของคนไทยในปัจจุบัน
โดยชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปมากในรอบ 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา
อันเนื่องมาจากกระแสโลกาภิวัตน์ สภาพการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งเทคโนโลยี
การติดต่อสื่อสารระหว่างมวลมนุษย์
ได้ผลักดันให้คนมีการแข่งขันและการร่วมมือกันมากขึ้น
มีการเรียนรู้แลกเปลี่ยนค่านิยม ความเชื่อ
และบรรทัดฐานในการดำรงชีวิตระหว่างกันสูงขึ้น
ยุคโลกาภิวัตน์จึงเป็นยุคที่ผลักดันให้คนต้องมีความเป็น พลโลก และ ทันโลก เพื่อ
การอยู่ร่วม และ การอยู่รอด
ดังนั้นเป้าหมายแห่งการพัฒนาสังคมไทยในปัจจุบัน
คือการสร้างความสมดุลระหว่างความมั่นคงทางวัตถุกับความเจริญงอกงามทางจิตใจ
และความอาทรต่อธรรมชาติ เพื่อให้คนรุ่นใหม่เป็นคนที่มีความสุข
นำทางให้ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง สังคมสันติและสิ่งแวดล้อมยั่งยืน
จึงจำเป็นต้องกำหนดลักษณะของค่านิยม หรือคุณธรรมจริยธรรมพื้นฐานที่สำคัญดังนี้
1. การมีมารยาท และมีวิธีการปฏิบัติตนทางกาย วาจา ใจ ขั้นพื้นฐาน
2. ความมีสติ สัมปชัญญะ เพื่อการครองตน ไม่กล้าสู่ความชั่ว
3. มีคุณธรรมที่สำคัญ ได้แก่
- ความมีวินัย รู้คุณค่าแห่งความมีระเบียบ
- ความกล้าหาญ กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง
- ความกตัญญู รู้คุณบรรพชน รู้คุณคน รู้คุณธรรมชาติ
- ความมีเมตตา รู้จักให้ ยินดีและเป็นสุขกับการให้
- ความอดทน สู้งาน มีความมุ่งมั่นใฝ่ความสำเร็จ
- ความเสียสละ ไม่เห็นแก่ตัว
- ความสามัคคี ประนีประนอม รักสันติ
- ความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ต่อครอบครัว ต่อสังคม
- ความขยันหมั่นเพียร ไม่หวังแต่จะหาทางลัดในชีวิตการงาน
- ความเป็นตัวของตัวเอง มั่นใจในตนเอง และรู้จักพึ่งตนเอง
- ความสันโดษ รู้จักพอ ไม่ดิ้นรนแสวงหาจนลืมความเป็นมนุษย์
- ความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่เป็นคนวางก้าม ชอบมีและชอบใช้อำนาจ
4. ความรักในเพื่อนมนุษย์
5. ความรักในธรรมชาติ
ในฐานะที่ค่านิยมเป็นเครื่องนำทางพฤติกรรมของคน และมีลักษณะที่ไม่คงที่
เมื่อประสบการณ์มากขึ้นก็จะมีผลทำให้บุคคลปรับปรุงเปลี่ยนแปลงค่านิยมเดิม
เราทราบค่านิยมของคนจากการประพฤติ การปฏิบัติในภาวะต่าง ๆ
โดยผ่านการวินิจฉัยและเลือกสรรเข้าเป็นแบบฉบับในการดำเนินชีวิตของตนจนออกมาในรูปของความคิดที่ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
พึงปรารถนามีคุณค่าควรแก่การประพฤติปฏิบัติต่อไป
5. จรรยาบรรณ
ในวงงานวิชาชีพนั้น จรรยาบรรณเป็นสิ่งที่สำคัญ
วิชาชีพที่กำหนดจรรยาบรรณจะเป็นอาชีพที่ต้องศึกษาด้วยศาสตร์ชั้นสูง
มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาวิชาชีพนั้น ๆ
เป็นอาชีพที่มีองค์กรหรือสมาคมรองรับ เช่นคุรุสภาเป็นองค์กรของวิชาชีพครู เป็นต้น
นอกจากนี้ยังต้องเป็นวิชาชีพที่มีการจัดสอนในระดับอุดมศึกษา
ทั้งด้านทฤษฏีและด้านปฏิบัติ
จนผู้เรียนเกิดความชำนาญและมีประสบการณ์อย่างสมบูรณ์ในศาสตร์สาขานั้นๆ
6. ความหมายของจรรยาบรรณ
จรรยาบรรณ หมายถึง
ประมวลลดความประพฤติที่ผู้ประกอบอาชีพการงานแต่ละอย่าง
กำหนดขึ้นเพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณ ชื่อเสียง และฐานะของสมาชิก
อาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้ (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2538 : 214
)
จรรยาบรรณ หมายถึง จริยวิชาชีพ จรรยาวิชาชีพ หรือจริยธรรมวิชาชีพ
(professional ethics)
จริยธรรมวิชาชีพจะครอบคลุมในทุกเรื่องทุกประการที่เป็นข้อควรประพฤติสำหรับกลุ่มวิชาชีพอันรวมถึงข้าราชการด้วย
(พระเมธีธรรมาภรณ์, 2538 : 3)
จรรยาบรรณในวิชาชีพ หมายถึง
ประมวลมาตรฐานความประพฤติที่ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องประพฤติปฏิบัติ
เป็นแนวทางให้ผู้ประกอบวิชาชีพปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง
เพื่อผดุงเกียรติและสถานะของวิชาชีพ
โดยที่ข้อบัญญัตินั้นอาจจะเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรหรือบอกกล่าวด้วยวาจาในสังคมวิชาชีพนั้นก็ได้
ผู้กระทำผิดจรรยาบรรณจะต้องได้รับโทษ โดยการว่ากล่าวตักเตือน ถูกพักงาน
หรือถูกยกเลิกใบประกอบวิชาชีพได้ (วัลลภา เทพหัวดิน ณ อยุธยา, 2541 : 4)
จรรยาบรรณจึงเป็นข้อกำหนดสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพที่เป็นศาสตร์ชั้นสูง มีองค์กรหรือสมาคมรองรับ จะต้องปฏิบัติเพื่อการครองตนและครองงาน อันเป็นทางที่จะส่งผลให้เกิดความก้าวหน้าในวิชาชีพ และบรรลุความสำเร็จของงาน วิชาชีพที่มีการกำหนดจรรยาบรรณจะแตกต่างจากอาชีพธรรมดา คนที่มีอาชีพธรรมดามุ่งที่การทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพ แต่ไม่ใช่วิชาชีพ (profession) เช่น ช่างไม้ ช่างปูน ไม่จัดเป็นวิชาชีพชั้นสูง ผู้ประกอบวิชาชีพที่ต้องศึกษาศาสตร์ เฉพาะชั้นสูงที่มีจรรยาบรรณนั้นถือว่าเป็นผู้ทำหน้าที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ คือ
1. เป็นอาชีพที่ต้องผ่านการศึกษาเล่าเรียนระดับสูง
2. มีการคัดเลือกสรรหาบุคคลเข้ามาในวงการวิชาชีพนั้น
3. มีจรรยาบรรณหรือจริยธรรมของผู้ที่อยู่ในวงการของวิชาชีพนั้น
4. มีสมาคมวิชาชีพที่คอยควบคุมกำกับดูแล
จุดมุ่งหมายของการกำหนดจรรยาบรรณ เพื่อ
1. ให้คนที่อยู่ในวิชาชีพนั้นมีประสิทธิภาพในการทำงาน
2. ก่อให้เกิดความเป็นธรรมในการให้บริการ
3. รักษาชื่อเสียงเกียรติ ศักดิ์ศรีของผู้อยู่ในวงการวิชาชีพนั้น ๆ
4. การกำหนดจรรยาบรรณเป็นลายลักษณ์อักษร จะช่วยให้ผู้ประกอบวิชาชีพตระหนักในความสำคัญของวิชาชีพตน และให้ผู้รับบริการรับรู้และเข้าใจ
ในส่วนจรรยาบรรณของนักบริหารการศึกษานั้น แม้ไม่มีระบุเป็นลายลักษณ์อักษร แต่อาจจะพิจารณารับจากจรรยาบรรณและวินัยของข้าราชการครู และจริยธรรมของข้าราชการรวมทั้งเกณฑ์มาตรฐานของผู้บริหารการศึกษาของคุรุสภา พ.ศ. 2540 มาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติตนดังนี้
7.จรรยาบรรณครู
ตามที่คุรุสภาได้กำหนดไว้มี 9 ประการดังนี้
- ครูต้องรักและเมตตาศิษย์ โดยให้ความเอาอกเอาใจใส่ช่วยเหลือ ส่งเสริมให้กำลังใจในการเล่าเรียนแก่ศิษย์โดยเสมอหน้า
- ครูต้องอบรมสั่งสอนฝึกฝน สร้างเสริมความรู้ ทักษะและนิสัยที่ถูกต้อง ดีงามให้แก่ศิษย์เต็มความสามารถ ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
- ครูต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจ
- ครูต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย สติปัญญา จิตใจ อารมณ์ และสังคมของศิษย์
- ครูต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์อันเป็นอามิสสินจ้างจากศิษย์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามปรกติ และไม่ใช้ศิษย์กระทำการใดๆ อันเป็นการหาผลประโยชน์แก่ตนโดยมิชอบ
- ครูย่อมพัฒนาตนเอง ทั้งในด้านวิชาชีพ ด้านบุคลิกภาพ และวิสัยทัศน์ ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาการ เศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอยู่เสมอ
- ครูย่อมรักและศรัทธาในวิชาชีพครู และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์กรวิชาชีพครู
- พึงช่วยเหลือเกื้อกูลครูและชุมชนในทางสร้างสรรค์
- พึงประพฤติปฏิบัติตนเป็นผู้นำในการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย
วินัยครู 10 ประการ
- ครูต้องสนับสนุนและปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลด้วยความบริสุทธิ์ใจ
- ครูต้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ตนด้วยความเอาใจใส่ ระมัดระวังผลประโยชน์ของสถานศึกษา
- ครูต้องสุภาพเรียบร้อย เชื่อฟังและไม่กระด้างกระเดื่องต่อผู้บังคับบัญชา ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาต้องปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งสั่งในหน้าที่การงานโดยชอบด้วยกฎหมายและระเบียบแบบแผนของสถานศึกษา ในการปฏิบัติหน้าที่การงาน ห้ามมิให้กระทำการข้ามผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไป ยกเว้น ผู้บังคับบัญชาเหนือคนสั่งให้กระทำหรือได้รับอนุญาตเป็นพิเศษชั่วครั้งชั่วคราว
- ครูต้องอุทิศเวลาของตนให้แก่สถานศึกษา จะละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่การงานไม่ได้
- ครูต้องประพฤติตนอยู่ในความสุจริต และปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความชื่อสัตย์ เที่ยงธรรม
- ครูต้องรักษาชื่อเสียง มิใช่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่ว ห้ามมิให้ประพฤติการใดๆ อันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์และชื่อเสียงครู เช่น ประพฤติตนเป็นคนเสเพล เสพเครื่องดื่มของเมาจนไม่สามารถครองสติได้ มีหนี้สินรุงรัง หมกมุ่นในการพนัน การกระทำผิดอาญา ประพฤติประเวณีต่อบุคคลหรือคู่สมรสของผู้อื่น กระทำหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำการอันใดอันอาจทำให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่แห่งตน
- ครูต้องประพฤติให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์ และไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามบุคคลใดๆ
- ครูต้องปฏิบัติตามธรรมเนียมของสถานศึกษา
- ครูต้องรักษาความสามัคคีระหว่างครู และช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหน้าที่การงาน
- ครูต้องรักษาความลับของศิษย์ ผู้ร่วมและสถานศึกษา
8. จรรยาบรรณของข้าราชการ
สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน
ได้ตราข้อบังคับว่าด้วยจรรยาบรรณของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2537
เพื่อให้ข้าราชการถือปฏิบัติ ดังมีสาระสำคัญดังนี้
โดยทีข้าราชการพลเรือนมีหน้าที่ความรับผิดชอบสำคัญในการพัฒนาประเทศ
รวมทั้งการให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องทำงานร่วมกันหลายฝ่าย ฉะนั้น
เพื่อให้ข้าราชการพลเรือนมีความประพฤติดี สำนึกในหน้าที่ สามารถประสานงานกับทุกฝ่าย
ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่ราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลยิ่งขึ้น
จึงสมควรมีข้อบังคับ
ก.พ.ว่าด้วยจรรยาบรรณของข้าราชการพลเรือนไว้เป็นประมวลความประพฤติเพื่อรักษาไว้ซึ่งศักดิ์ศรีและส่งเสริมชื่อเสียง
เกียรติคุณ เกียรติฐานะของข้าราชการพลเรือน อันจะยังผลให้ผู้ประพฤติเป็นที่เลื่อมใส
ศรัทธา และยกย่องของบุคคลโดยทั่วไป
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8(5) และมาตรา 91
แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2525 จึงออกข้อบังคับ ก.พ.
ว่าด้วยจรรยาบรรณของข้าราชการพลเรือนไว้ดังต่อไปนี้
จรรยาบรรณต่อตนเอง
ข้อ 1
ข้าราชการพลเรือนพึงเป็นผู้มีศีลธรรมอันดีและประพฤติตนให้เหมาะสมกับการเป็นข้าราชการ
ข้อ 2
ข้าราชการพลเรือนพึงใช้วิชาชีพในการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์และไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
ในกรณีที่วิชาชีพกำหนดไว้ก็พึงปฏิบัติตามจรรยาวิชาชีพนั้นด้วย
ข้อ 3 ข้าราชการพลเรือนพึงมีทัศนคติที่ดี
และพัฒนาตนเองให้มีคุณธรรมจริยธรรมรวมทั้งเพิ่มพูนความรู้
ความสามารถและทักษะในการทำงานเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ราชการมีประสิทธิภาพ
ประสิทธิผลยิ่งขึ้น
จรรยาบรรณต่อหน่วยงาน
ข้อ 4 ข้าราชการพลเรือนพึงปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความสุจริต
เสมอภาคและปราศจากอคติ
ข้อ 5 ข้าราชการพลเรือนพึงปฏิบัติหน้าที่ราชการอย่างเต็มกำลังความสามารถรอบคอบ
รวดเร็ว ขยันหมั่นเพียร ถูกต้อง สมเหตุสมผล
โดยคำนึงถึงประโยชน์ของทางราชการและประชาชนเป็นสำคัญ
ข้อ 6
ข้าราชการพลเรือนพึงปฏิบัติตนเป็นผู้ตรงต่อเวลาและใช้เวลาราชการให้เป็นประโยชน์ต่อทางราชการอย่างเต็มที่
ข้อ 7 ข้าราชการพลเรือนพึงดูแลรักษาและใช้ทรัพย์สินทางราชการอย่างประหยัด
คุ้มค่า โดยระวังมิให้เสียหาย
หรือสิ้นเปลื้องเยี่ยงวิญญูชนจะพึงปฏิบัติต่อทรัพย์สินของตนเอง
จรรยาบรรณต่อผู้บังคับบัญชา ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา และผู้ร่วมงาน
ข้อ 8 ข้าราชการพลเรือนพึงมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน
การให้ความร่วมมือช่วยเหลือกลุ่มงานของตนทั้งในด้านการให้ความคิด การช่วยทำงาน
และการแก้ปัญหาร่วมกัน
รวมทั้งการเสนอแนะในสิ่งที่เห็นว่าจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนางานในความรับผิดชอบด้วย
ข้อ 9 ข้าราชการพลเรือนซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา
พึงดุแลเอาใจใส่ผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งในด้านการปฏิบัติงาน ขวัญ กำลังใจ สวัสดิการ
และยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาตลอดจนปกครองผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาด้วยหลักการและเหตุผลที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม
ข้อ 10 ข้าราชการพลเรือนพึงช่วยเหลือเกื้อกูลกันในทางที่ชอบ
รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดความสามัคคี
ร่วมแรงร่วมใจในบรรดาผู้ร่วมงานในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม
ข้อ 11
ข้าราชการพลเรือนพึงปฏิบัติต่อผู้ร่วมงานตลอดผู้เกี่ยวข้องด้วยความสุภาพมีน้ำใจและมนุษยสัมพันธ์อันดี
ข้อ 12 ข้าราชการพลเรือนพึงละเว้นจากการนำผลงานของคนอื่นมาเป็นของตน
จรรยาบรรณต่อประชาชนและสังคม
ข้อ 13
ข้าราชการพลเรือนพึงให้บริการประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถด้วยความเป็นธรรม
เอื้อเฟื้อ มีน้ำใจ และใช้กิริยาวาจาที่สุภาพอ่อนโยน
เมื่อเห็นว่าเรื่องใดไม่สามารถปฏิบัติได้หรือไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนจะต้องปฏิบัติ
ควรชี้แจงเหตุผลหรือแนะนำให้ติดต่อหน่วยงานหรือบุคคลซึ่งตนทราบว่ามีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆต่อไป
ข้อ 14 ข้าราชการพลเรือนพึงประพฤติตนให้เป็นที่เชื่อถือของบุคคลทั่วไป
ข้อ 15 ข้าราชการพลเรือนพึงละเว้นการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด
ซึ่งมีมูลค่าเกินปกติวิสัยที่วิญญูชนจะให้กันโดยเสน่หาจากผู้มาติดต่อราชการ
หรือผู้ซึ่งอาจได้รับประโยชน์จากการปฏิบัติหน้าที่ราชการนั้น
หากได้รับแล้วและทราบภายหลังว่าทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่รับไว้มีมูลค่าเกินปกติวิสัย
ก็ให้รายงานผู้บังคับบัญชาทราบโดยเร็ว เพื่อดำเนินการตามสมควรแกกรณี
9. เกณฑ์มาตรฐานผู้บริหารการศึกษา ของคุรุสภา พ.ศ. 2540
เกณฑ์มาตรฐานผู้บริหารการศึกษา ของคุรุสภา พ.ศ. 2540
นับเป็นฉบับแรกที่คุรุสภาจัดทำขึ้น
โดยยึดถือแนวคิดและความเชื่อที่ว่าผู้บริหารการศึกษาเป็น ผู้จัดการ
ทางการศึกษาเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาคนและการพัฒนาในรูแบอื่นๆ
เกณฑ์มาตรฐานผู้บริหารการศึกษา มีอยู่ 12 ข้อ ดังนี้ (ดูรายละเอียดในภาคผนวก)
มาตรฐานที่ 1
ปฏิบัติกรรมทางวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนาวิชาชีพการบริหารการศึกษา
มาตรฐานที่ 2 ตัดสินใจปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ
โดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับการพัฒนาบุคคล ผู้เรียน และชุมชน
มาตรฐานที่ 3 มุ่งมั่นพัฒนาผู้ร่วมงานให้สามารถปฏิบัติงานได้เต็มศักยภาพ
มาตรฐานที่ 4 พัฒนาแผนงานขององค์กร ให้สามารถปฏิบัติได้เกิดผลจริง
มาตรฐานที่ 5
พัฒนาและใช้นวัตกรรมการบริหารจนเกิดผลงานที่มีคุณภาพสูงขึ้นเป็นลำดับ
มาตรฐานที่ 6 ปฏิบัติงานขององค์กรโดยเน้นผลถาวร
มาตรฐานที่ 7 รายงานคุณภาพการศึกษาได้อย่างเป็นระบบ
มาตรฐานที่ 8 ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี
มาตรฐานที่ 9 ร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานอื่นอย่างสร้างสรรค์
มาตรฐานที่ 10 แสวงหาและใช้ข้อมูลข่าวสารในการพัฒนา
มาตรฐานที่ 11 เป็นผู้นำและสร้างผู้นำ
มาตรฐานที่ 12 สร้างโอกาสในการพัฒนาทุกสถานการณ์
ผู้บริหารการศึกษาที่จะประสบความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
ประสบความสำเร็จ และประสบความสุข นอกจากจะมีความรู้ความสามารถแล้ว
ยังต้องเป็นผู้มีค่านิยมที่ถูกต้องดีงาม เป็นค่านิยมที่พึงประสงค์
และเป็นผู้มีจรรยาบรรณในวิชาชีพ
มีหลักปฏิบัติทั้งในฐานะเป็นข้าราชการและในฐานะเป็นครู
หรือแม้จะอยู่ในองค์การหน่วยงานใดก็ตามก็ต้องศรัทธาต่อวิชาชีพนั้นๆ
ต้องรักและภาคภูมิใจในวิชาชีพนั้นๆ เห็นความสำคัญของวิชาชีพนั้นด้วยความชื่นชม
ธำรงปกป้องรักษาเกียรติภูมิของวิชาชีพ เพื่อไม่ให้ใครมาดูหมิ่นดูแคลน
ทำให้สถานะของวิชาชีพต้องตกต่ำ ทำให้ตนเองต้องมัวหมอง
โดยเฉพาะผู้บริหารจะต้องอยู่ในฐานะที่ผู้คนรอบข้าง ผู้ใต้บังคับบัญชา
ให้ความเคารพนับถืออย่างจริงใจ เพื่อการคนบริหารคนบริหารงานให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี
จึงจำเป็นที่ผู้บริหารจะต้องครองตนให้สมกับตำแหน่งหน้าที่และความรับผิดชอบ
พุทธสาวกผู้บริโภคอย่างคุ้มค่า
พูดถึงเรื่องประหยัด หรือใช้สิ่งของให้คุ้มคา
พระอานนท์ก็เป็นผู้ประหยัด และฉลาดในเรื่องนี้มาก ดังครั้งหนึ่งหลังพุทธปรินิพพาน
ท่านได้เดินทางเรือไปสู่นครโกสัมพีเพื่อประกาศพรหมทัณฑ์แก่พระฉันนะ
พระหัวดื้อตามคำสั่งของพระภูมีพระพุทธเจ้าก่อนปรินิพพาน
เมื่อขึ้นจากเรือแล้วท่านเข้าอาศัยพัก ณ พระราชอุทยานของพระเจ้าอุเทน
ราชาแห่งนครนั้น ขณะนั้นพระเจ้าอุเทนและมเหสีประทับอยู่ ณ พระราชอุทยาน
พระมเหสีทรงทราบว่าพระอานนท์มาก็ทรงโสมนัส ทูลลาพระสวามีไปเยี่ยมพระอานนท์
สนทนาพอเป็นสัมโมทนียกถาแล้วพระอานนท์แสดงธรรมเป็นที่เลื่อมใสจับจิตยิ่งนัก
พระนางได้ถวายจีวรจำนวนมาก 500 ผืน ในเวลาต่อมาแต่พระอานนท์
พระเจ้าอุเทนทรงทราบเรื่องนี้แทนที่จะทรงพิโรธพระมเหสี
กลับทรงตำหนิท่านอานนท์ว่ารับจีวรไปทำไมมากมายหลายร้อยผืน
จะไปตั้งร้านขายจีวรหรือไร เมื่อมีโอกาสได้พบพระอานนท์ พระองค์ทรงเรียนถามว่า
พระคุณเจ้า ! ทราบว่า พระมเหสีถวายจีวรพระคุณเจ้า 500 ผืน
พระคุณเจ้ารับไว้ทั้งหมดหรือ ?
ขอถวายพระพรอาตมาภาพรับไว้ทั้งหมด พระอานนท์ทูล
พระคุณเจ้ารับไว้ทำไมมากมายนัก
เพื่อแบ่งภิกษุทั้งหลายที่มีจีวรเก่าคร่ำครา
จะเอาจีวรเก่าคร่ำคราไปทำอะไร
จะเอาไปทำผ้าปูที่นอน
จะเอาผ้าปูที่นอนเก่าไปทำอะไร
จะเอาไปทำผ้าเช็ดธุลี
จะเอาผ้าเช็ดธุลีเก่าไปทำอะไร
เอาไปโขลกขยำกับโคลนแล้วฉาบทาฝา
พระเจ้าอุเทนทรงเลื่อมใสว่า สมณศากยบุตรเป็นผู้ประหยัด
ใช้ของไม่ให้เสียเปล่า จึงถวายจีวรแก่พระอานนท์อีก 500 ผืน
(จากพระอานนท์พุทธอนุชา หน้า 45-47)
การส่งเสริมให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง
..ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี
ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด
การทำให้บ้านเมืองมีความปรกติสุขเรียบร้อย
จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี
หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี
ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง
และควบคุมคนไม่ดี
ไม่ให้มีอำนาจ
ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้
พระบรมราโชวาท
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช