สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ประวัติการเมืองการปกครองไทย

ยุคที่หนึ่ง ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ.2475 – พ.ศ.2490)
ยุคที่สอง ยุคเผด็จการอำนาจนิยม (พ.ศ.2490 – พ.ศ.2516)
การเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุคที่ 3
สภาพ 14 ตุลาคม 2516
ผลการเปลี่ยนแปลง 14 ตุลาคม 2516
สภาพการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองในช่วงก่อนรัฐธรรมนูญ 2517
การเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2517
สภาพการณ์ก่อน 6 ตุลาคม 2519
สภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
การเมืองไทยยุคปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
การเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุคที่ 4
การเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุคที่ 5
ข้อเสนอของแนวทางรัฐธรรมนูญนิยมกับการแก้ไขปัญหาการเมืองไทย
ลักษณะของการปฏิรูปการเมืองในทัศนะของ คพป.
การจัดทำแผนพัฒนาการเมืองแนวทางรัฐธรรมนูญนิยม
สภาร่างรัฐธรรมนูญกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญ

ข้อเสนอของแนวทางรัฐธรรมนูญนิยมกับการแก้ไขปัญหาการเมืองไทย

รัฐบาลนายชวน หลีกภัย เมื่อ พ.ศ. 2537 ต้องการแก้ไขสถานการณ์การอดอาหารประท้วงของ ร.ต.ฉลาด วรฉัตร โดยให้นายมารุต บุนนาค ประธานรัฐสภามีคำสั่งสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) ขึ้น โดยมีนายแพทย์ประเวศ วะสี ทำหน้าที่เป็นประธานโดยดำเนินการนำเสนอแนวทางรัฐธรรมนูญนิยมการแก้ไขปัญหาการเมืองไทย คพป.ได้นำเสนอปัญหาของระบบการเมืองไทยและความจำเป็นของการปฏิรูปการเมือง โดยเฉพาะการชี้จุดอ่อนของระบบการเมือง เศรษฐกิจและสังคมไทย ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อเสถียรภาพของระบบการเมืองและองค์กรทางการเมือง โดยสรุป คือ

รัฐธรรมนูญถูกเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งทำให้ขาดความต่อเนื่อง ในขณะที่รัฐธรรมนูญมีการเปลี่ยนแปลงแต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงหลักการที่เกี่ยวกับโครงสร้าง องค์กร กลไก และกระบวนการที่เป็นนัยสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาของระบบการเมืองอย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญเองก็ขาดระบบการตรวจสอบที่อิสระและมีประสิทธิภาพทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการประจำระดับสูงทำการทุจริตคอร์รัปชันได้ง่าย ผู้ที่อยากดำรงตำแหน่งทางการเมืองแข่งกันเข้าสู่ตำแหน่งเพื่อให้ได้อำนาจและทรัพย์สินโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้อง ดังนั้นจึงนำไปสู่การทุจริตในการเลือกตั้งด้วยวิธีการต่าง ๆ

พรรคการเมืองไทยส่วนใหญ่ก็มีลักษณะเป็นพรรคนายทุน ไม่ใช่พรรคมวลชนที่มีโครงสร้างและการบริหารที่เป็นประชาธิปไตย อำนาจทางการเมืองจึงตกอยู่ที่ผู้นำพรรคหรือกลุ่มผู้นำพรรคเพียงไม่กี่คน ดังนั้นการปกครองระบบรัฐสภาจึงขาดประสิทธิภาพ การตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารจึงขาดผลในทางปฏิบัติ ในรัฐบาลเอง นายกรัฐมนตรีแม้จะมีอำนาจมากกว่าผู้ใด แต่ก็ไม่กล้าใช้อำนาจ เพราะถูกควบคุมโดยพรรคร่วมรัฐบาล ระบบรัฐบาลผสมนำไปสู่ระบบ “เจ้ากระทรวง” ที่แต่ละพรรคการเมืองที่เข้าร่วมเป็นรัฐบาลบริหารดูแลอยู่ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นเพียงสถานที่ประสานประโยชน์และหน้าตาของพรรคและรัฐบาลเท่านั้น ในขณะเดียวกันระบบราชการในฐานะที่เป็นกลไกของรัฐบาลก็เป็นระบบของการสร้างอาณาจักร มีการหวงแหนอำนาจและแย่งชิงทรัพยากร ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายการเมืองและฝ่ายประจำด้วย

 

ทางด้านเศรษฐกิจ ชาวบ้านในชนบทขาดปัจจัยพื้นฐานและถูกละเลยจากส่วนกลาง การบริหารราชการแบบรวมศูนย์อำนาจทำให้การแก้ไขปัญหาทำได้ล่าช้า มีแต่การหมักหมมสั่งสมปัญหาจนยากที่จะแก้ไข ข้าราชการจึงไม่ใช่ที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้น นักการเมืองจึงสามารถสอดแทรกเข้ามาแก้ปัญหาแทนข้าราชการและทำให้ระบบอุปถัมภ์มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

ทางด้านสังคมเอง สังคมไทยนิยมการใช้ “อำนาจ” มากกว่าการใช้กฎหมาย จึงมักพบการยุติปัญหาแบบอะลุ้มอล่วยแต่นำไปสู่ปัญหาใหม่ การจัดตั้งองค์กรกลุ่มในสังคมก็มักแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย กล่าวหาใส่ร้ายทำลายประหัตประหารกัน โดยปราศจากการร่วมมือร่วมใจกัน ความขัดแย้งทางความคิดมักถูกสร้างให้กลายเป็นความแตกแยก

สังคมไทยยังเป็นสังคมที่มีความอ่อนแอทางวิชาการ จริยธรรมและศาสนามีความอ่อนแอ คนไทยมักมีความ “ศรัทธา” มากกว่าการใช้ “ปัญญา” ซึ่งบางครั้งสามารถใช้ในการแก้ไขปัญหาสำเร็จได้โดยรวดเร็ว แต่อาจไม่ถูกต้องและอาจจะใช้ไม่ได้กับทุก ๆ กรณี ทั้งหมดนี้นำไปสู่ปัญหาด้านความชอบธรรม (legitimacy) และประสิทธิภาพ (efficiency) ของระบบการเมือง ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบด้านเสถียรภาพทางการเมืองในที่สุด

คพป.มองเห็นว่าปัญหาของระบบการเมืองไทยมี 2 ประการหลัก คือ เรื่องความไม่สุจริตของระบบการเมืองประการหนึ่ง และความไม่มีประสิทธิภาพของระบบการเมืองอีกประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุด้วยการปฏิรูปการเมืองทั้งระบบ ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่จุดใดจุดหนึ่งเท่านั้น ดังนั้นการปฏิรูปการเมืองของ คพป. จึงหมายถึงการปรับปรุงแก้ไขปัญหาของระบบการเมืองทั้งระบบเพื่อให้นักการเมืองในระบบมีความสุจริต ตลอดจนคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพแท้จริง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย