สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>
ยุคที่หนึ่ง ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ.2475 พ.ศ.2490)
ยุคที่สอง ยุคเผด็จการอำนาจนิยม (พ.ศ.2490 พ.ศ.2516)
การเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุคที่ 3
สภาพ 14 ตุลาคม 2516
ผลการเปลี่ยนแปลง 14 ตุลาคม 2516
สภาพการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองในช่วงก่อนรัฐธรรมนูญ 2517
การเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2517
สภาพการณ์ก่อน 6 ตุลาคม 2519
สภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
การเมืองไทยยุคปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
การเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุคที่ 4
การเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุคที่ 5
ข้อเสนอของแนวทางรัฐธรรมนูญนิยมกับการแก้ไขปัญหาการเมืองไทย
ลักษณะของการปฏิรูปการเมืองในทัศนะของ คพป.
การจัดทำแผนพัฒนาการเมืองแนวทางรัฐธรรมนูญนิยม
สภาร่างรัฐธรรมนูญกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช 2540
กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญ
สภาพการณ์ก่อน 6 ตุลาคม 2519
สภาพการเมืองไทยก่อน 6 ตุลาคม 2519 นับเป็นสภาพการณ์ที่กล่าวได้ว่า
ความตึงเครียดทางการเมืองอันเกิดจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มสุดขั้ว
คือขวาจัดและซ้ายจัดถึงจุดสูงสุด
ความขัดแย้งทางผลประโยชน์และอำนาจทางการเมืองของผู้นำทางการเมือง
และผู้นำทางทหารก็อยู่ในลักษณะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงนี้ ม.ร.ว.เสนีย์
ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลที่ตั้งขึ้นก็เป็นรัฐบาลผสม
วิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ก็ได้พยายามแก้ไขไปได้บ้าง
แต่กระแสของความขัดแย้งของขั้วสุดโต่งทั้งสองยากที่จะลดลงได้
ประกอบกับรัฐบาลผสมเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ
ทำให้สภาพของการเมืองไทยอยู่ในสภาพที่พร้อมที่จะระเบิดออกเป็นเสี่ยง ๆ และเมื่อ
พลเอกกฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบกถึงแก่อนิจกรรม เมื่อเดือนเมษายน 2519
บุคคลที่คอยค้ำจุนหรือเป็นหลักประกันระบอบประชาธิปไตยก็หายไปจากฉาก
ทำให้บรรยากาศทางการเมืองซึ่งเต็มไปด้วยความตึงเครียดอยู่แล้ว
เพิ่มความน่าสะพรึงกลัว และความไม่แน่นอนมากขึ้น
ซึ่งนักวิชาการโดยเฉพาะนักรัฐศาสตร์สามารถคาดการณ์ได้ว่า
ระบอบประชาธิปไตยคงอยู่ได้ไม่นาน การยึดอำนาจโดยทหารจะเกิดขึ้น
เป็นแต่รอจังหวะและหาความชอบธรรมเท่านั้น
ทั้งนี้เพราะยังมีมวลชนที่จับกลุ่มและจัดตั้งโดยเฉพาะศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
ที่จะเป็นตัวค้านการยึดอำนาจ
ถ้ามองดูเหตุการณ์ก่อน 6 ตุลาคม 2519
ซึ่งเต็มไปด้วยการเรียกร้องทางการเมืองและความขัดแย้งต่าง ๆ
ทั้งในแง่ผลประโยชน์และอุดมการณ์แต่ก็ไม่สามารถหาข้อยุติลงได้ในระบบที่เป็นอยู่ก็จะพบว่าสภาวะอันนี้สอดคล้องกับทฤษฎีการพัฒนาการเมืองและความผุกกร่อนทางการเมือง
(political development and political decay) ของ ซามูเอล ฮันติงตัน (Samuel
Huntington) ที่ว่า ถ้าอัตราความจำเริญทางการเมือง (political modernization) มีสูง
กล่าวคือ ความตื่นตัวทางการเมืองซึ่งออกมาในแง่ของการแสดงออก การเรียกร้อง
การประท้วง การต่อต้าน ขณะเดียวกันการพัฒนาการเมือง (political development)
ซึ่งได้แก่ การจัดตั้งสถาบันทางการเมืองขึ้นมาจัดระเบียบการมีส่วนร่วม
หรือความจำเริญทางการเมืองดังกล่าวมีต่ำ จะนำไปสู่ความผุกร่อนทางการเมืองซึ่งได้แก่
ความวุ่นวายและล้มทลายของระบบ ซึ่งหมายความว่า
ถ้าประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง และต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง
จะต้องมีการพัฒนาสถาบันทางการเมืองเช่น พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ
เพื่อให้การมีส่วนร่วมนี้อยู่ในลักษณะจัดตั้ง
มีระเบียบซึ่งสถาบันดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็นตัวคั่นระหว่างรัฐบาลกับประชาชน
มิฉะนั้น ประชาชนจะเข้าหาตัวรัฐบาลโดยตรง
และถ้าเกิดสภาพเช่นนี้ขึ้นในขอบข่ายที่กว้างขวาง
รัฐบาลซึ่งมีทรัพยากรจำกัดจะไม่สามารถตอบสนองต่อการมีส่วนร่วมโดยตรงเช่นนี้ได้
ก็จะนำไปสู่ปัญหาและวิกฤตการณ์ทางการเมืองและผลสุดท้ายก็จะนำไปสู่การล้มของระบบ
ซึ่งสถานการณ์ระหว่าง 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 มีสภาพดังกล่าว
ทั้งนี้เพราะความจำเริญทางการเมืองมีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม
ซึ่งเกิดขึ้นเพราะนโยบายพัฒนาประเทศของสฤษดิ์ ถนอม และประภาส คือระบบพ่อขุน
ซึ่งเน้นการพัฒนาบ้านเมืองแต่แช่เย็นการพัฒนาทางการเมือง
ในแง่ของการสร้างสถาบันเพื่อการมีส่วนร่วมและหาข้อยุติความขัดแย้ง
เมื่อระบบพ่อขุนถูกล้มการสร้างระบอบประชาธิปไตยเกิดขึ้นไม่ทันกับความจำเริญทางการเมือง
และข้อสำคัญไม่สามารถยุติปัญหาต่าง ๆ ที่หมักหมมมานานในระบบเผด็จการพ่อขุน
ทำให้เกิดการเสียดุลระหว่างปัญหาและความสามารถของระบบที่จะแก้ไขปัญหานั้น
6 ตุลาคม 2519 เป็นจุดดำทางประวัติศาสตร์ไทย
เพราะเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงโหดเหี้ยม ทารุณ มีการแขวนคอ ทำทารุณกรรมต่อศพ
เผาศพหรือคนที่ยังไม่ตายสนิทในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะอธิบายด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม
ก็ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงสัจธรรมได้ว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาคม
เป็นเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลด น่าสังเวช และไม่ควรจะให้เกิดขึ้นอีก
คนไทยต้องฆ่ากันเองในลักษณะทารุณผิดมนุษย์ ความเสียหายที่เกิดขึ้นในแง่ชีวิต
และเลือดเนื้อ เป็นสิ่งที่มากมายอยู่แล้ว แต่ความเสียหายทางขวัญกำลังใจ
โดยเฉพาะทางจิตวิทยาของคนไทยจำนวนมากนั้น คำนวณออกมาด้วยตัวเลขไม่ได้เลย
วิธีการที่ดีที่สุดคือ การถือเอา 6 ตุลาคม 2519
เป็นบทเรียนอันแพงลิ่วของประชาคมชาวไทย
และทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อมิให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก