สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ประวัติการเมืองการปกครองไทย

โดย สถาบันพระปกเกล้า

      จากร่องรอยทางโบราณคดีและหลักฐานตำนานต่าง ๆ ทางภาคเหนือ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 ชนชาติไทยได้ตั้งมั่นอยู่แล้วทางภาคเหนือของดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน มีการสร้างเมืองต่าง ๆ ซึ่งปรากฏชื่อในตำนาน เช่น เวียงหิรัญนคร เวียงไชยปราการ เวียงฝาง เป็นต้น เมืองเหล่านี้มีลักษณะการปกครองแบบนครรัฐ

อย่างไรก็ตาม นอกจากร่องรอยทางโบราณคดีและหลักฐานทางตำนานแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานอื่น ๆ เกี่ยวกับนครรัฐไทยเหล่านี้มากนัก ทำให้เราไม่ทราบความเป็นมา และสภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของนครรัฐไทยในระยะแรก ๆ

ส่วนหลักฐานที่ปรากฏในจารึกและภาพสลักศิลาของชนชาติอื่น ๆ นั้น จารึกของอาณาจักรจามปา พ.ศ.1593 ณ วิหารโปนาการ์ เมืองญาตรัง ประเทศเวียดนามปัจจุบัน ได้กล่าวถึงพระเจ้าชัยปรเมศวรทรงบูรณะพระปฏิมาเจ้าแม่ภควดีที่วิหารแห่งนี้ และได้ทรงอุทิศทาสเชลยศึกถวายเป็นข้าพระในบรรดาทาสที่อุทิศถวายนี้ มีทาสเชลยศึกชาวสยามอยู่ด้วย

ในจารึกพม่า ปรากฏคำว่า “สยาม” เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.1663 และในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ได้ปรากฏภาพสลักศิลานูนต่ำที่ระเบียงชั้นนอกของปราสาทนครวัด ในเมืองพระนครหลวง ประเทศกัมพูชาปัจจุบัน เป็นภาพกองทัพชาวสยามตามเสด็จขบวนทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (พ.ศ.1656 – หลัง พ.ศ.1668) พระเจ้าแผ่นดินแห่งอาณาจักรเขมร

จากหลักฐานต่าง ๆ ข้างต้นทำให้เราทราบว่า ชนชาติไทยได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนประเทศไทยปัจจุบันเป็นเวลานานหลายร้อยปีก่อนการก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย สันนิษฐานว่าชนชาติไทยคงแผ่กระจายอยู่ทั่วไปในอาณาบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และอาจจะลงไปถึงคาบสมุทรภาคใต้ ชนชาติไทยกลุ่มต่าง ๆ นี้คงจะรวมกลุ่มกันเป็นนครรัฐหรือแว่นแคว้นเล็ก ๆ ของตนเอง และคงอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มชนที่กำลังมีอำนาจอยู่ในแหลมอินโดจีนขณะนั้น คือ ชนชาติมอญ และชนชาติเขมร

อย่างไรก็ตาม ในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 ชนชาติมอญได้เสื่อมอำนาจลง ดินแดนในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจึงตกอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของอาณาจักรเขมรประมาณ 200 ปี แต่ในช่วงเวลา 200 ปีดังกล่าว อำนาจของเขมรไม่คงที่ บางครั้งเข้มแข็ง บางครั้งอ่อนแอ ดังนั้นหลังจากสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724 – ราว พ.ศ. 1760) อาณาจักรเขมรได้เสื่อมลงมาก ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองและช่องว่างแห่งอำนาจ นครรัฐและแว่นแคว้นของคนไทยจึงพากันตั้งตนขึ้นเป็นอาณาจักรอิสระ ประวัติศาสตร์ไทยที่มีหลักฐานแน่นอนจึงเริ่มขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ 18 นี้

การเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ถึงยุคปัจจุบัน

อาจกล่าวได้ว่า นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ถึง พ.ศ.2545 เป็นระยะเวลา 70 ปี ของพัฒนาการของการเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยเราสามารถแบ่งการเมืองการปกครองในช่วงระยะเวลาดังกล่าวออกได้เป็น 5 ยุคสำคัญ

 

ยุคที่หนึ่ง ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ.2475 – พ.ศ.2490)
ยุคที่สอง ยุคเผด็จการอำนาจนิยม (พ.ศ.2490 – พ.ศ.2516)
การเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุคที่ 3
สภาพ 14 ตุลาคม 2516
ผลการเปลี่ยนแปลง 14 ตุลาคม 2516
สภาพการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองในช่วงก่อนรัฐธรรมนูญ 2517
การเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2517
สภาพการณ์ก่อน 6 ตุลาคม 2519
สภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
การเมืองไทยยุคปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
การเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุคที่ 4
การเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุคที่ 5
ข้อเสนอของแนวทางรัฐธรรมนูญนิยมกับการแก้ไขปัญหาการเมืองไทย
ลักษณะของการปฏิรูปการเมืองในทัศนะของ คพป.
การจัดทำแผนพัฒนาการเมืองแนวทางรัฐธรรมนูญนิยม
สภาร่างรัฐธรรมนูญกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย