สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ประวัติการเมืองการปกครองไทย

ยุคที่หนึ่ง ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ.2475 – พ.ศ.2490)
ยุคที่สอง ยุคเผด็จการอำนาจนิยม (พ.ศ.2490 – พ.ศ.2516)
การเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุคที่ 3
สภาพ 14 ตุลาคม 2516
ผลการเปลี่ยนแปลง 14 ตุลาคม 2516
สภาพการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองในช่วงก่อนรัฐธรรมนูญ 2517
การเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2517
สภาพการณ์ก่อน 6 ตุลาคม 2519
สภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
การเมืองไทยยุคปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
การเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุคที่ 4
การเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุคที่ 5
ข้อเสนอของแนวทางรัฐธรรมนูญนิยมกับการแก้ไขปัญหาการเมืองไทย
ลักษณะของการปฏิรูปการเมืองในทัศนะของ คพป.
การจัดทำแผนพัฒนาการเมืองแนวทางรัฐธรรมนูญนิยม
สภาร่างรัฐธรรมนูญกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญ

การเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุคที่ 3

ยุคที่สาม ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน (พ.ศ.2516 – พ.ศ.2519)
14 ตุลาคม 2516 เป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองยุคใหม่ของไทยที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการลุกฮือของประชาชนเป็นจำนวนแสน ๆ คน เพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร อาจจะถือได้ว่าการลุกฮือดังกล่าวเป็นการเปิดประวัติศาสตร์บทใหม่ทางการเมืองไทยในยุคหลังการเปลี่ยนแปลง 24 มิถุนายน 2475 อย่างไรก็ตาม ถ้าวิเคราะห์เจาะลึกแล้วจะเห็นว่า 14 ตุลาคม 2516 หรือที่นักวิชาการบางท่านเรียกว่า “การปฏิวัติ” 14 ตุลาคม 2516 เป็นผลที่จะต้องเกิดขึ้นเพราะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมและระบบการเมืองยุคพ่อขุน

สาเหตุของเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีหลายองค์ประกอบซึ่งมีทั้งสาเหตุที่เกิดจากปัญหาโครงสร้างและตัวแปรเฉพาะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้าง ซึ่งถ้าจะแยกออกก็จะมีลักษณะ ดังต่อไปนี้ คือ

1. ในแง่ของโครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจและการเมืองนั้น เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจและขึ้นเป็นรัฐบาลในปี พ.ศ.2501 นั้น จอมพลสฤษดิ์ ใช้การปกครองระบบพ่อขุน ซึ่งได้แก่ การใช้อำนาจเด็ดขาดในการปกครองโดยการล้มสถาบันและกลไกการเมืองแบบมีส่วนร่วม เท่ากับเป็นการแช่เย็นการเมือง ขณะเดียวกันก็เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม พูดง่าย ๆ ก็คือ เป็นการกลับไปสู่ระบบการเมืองการปกครองแบบโบราณในลักษณะที่เน้นการปกครองบริหารดูแลประชาชนให้อยู่ดีกินดี แบบพ่อปกครองลูก โดยผู้อยู่ใต้ปกครองไม่ต้องมีส่วนรู้เห็น การมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยไม่พัฒนาสถาบันให้คนมีส่วนร่วมนั้น ย่อมนำไปสู่ปัญหาข้อขัดแย้ง ซึ่งเป็นลักษณะธรรมดาของโลก คือการเปลี่ยนแปลงใดๆก็ตาม ย่อมไม่ได้เป็นไปในลักษณะที่ทุกคนจะได้ประโยชน์เท่าเทียมกัน เช่น การแบ่งสรรผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้น ย่อมจะมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นผลมาจากนโยบายการพัฒนาประเทศนั้นย่อมจะนำไปสู่การเรียกร้องใหม่ ๆ การที่จอมพลถนอมได้ทำการรัฐประหารตัวเองเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2514 และกลับไปสู่การเมืองแบบสฤษดิ์อีก เห็นได้ชัดว่าเกิดการเสียดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกับการพัฒนาการเมืองซึ่งได้แก่ สถาบันการเมืองซึ่งประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อมีสิทธิในการตัดสินนโยบายหรือหาข้อยุติในข้อขัดแย้ง

การเสียดุลดังกล่าวระหว่างการพัฒนาการเมืองกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นปัญหาโครงสร้างซึ่งนำไปสู่การลุกฮือของประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

2. ระบบการปกครองแบบพ่อขุนของสฤษดิ์นั้น จะต้องอาศัยบุคลิกภาพของคนที่มีอำนาจ ซึ่งต้องสามารถสร้างความนับถือ เกรงกลัวในหมู่ผู้นำทางการเมือง นอกจากบุคลิกของคนมีอำนาจแล้วยังต้องสามารถควบคุมอำนาจทางการเมือง ซึ่งในกรณีของไทยนั้นอำนาจทางการเมืองก็คือการมีอำนาจทหาร ซึ่งจอมพลสฤษดิ์มีคุณสมบัติต่าง ๆ ครบถ้วน คือ เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก และอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งทั้งสามตำแหน่งนี้เป็นจุดรวมของอำนาจสูงสุดของประเทศไทย ดังนั้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงเป็นเพียงผลพลอยได้ที่ออกมาจากสามตำแหน่งอันทรงอำนาจดังกล่าว ส่วนประกอบที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งของระบบพ่อขุน คือ อำนาจทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้เพราะระบบพ่อขุนนั้น ความจริง คือระบบอุปถัมภ์ ซึ่งจำต้องมีการสนับสนุนจากผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ ขณะเดียวกันพ่อขุนต้องสามารถใช้พระคุณและพระเดช การใช้พระคุณนั้น นอกจากการให้ตำแหน่งแล้ว ยังต้องมีการให้รางวัลเป็นเงินตราและสิ่งของเป็นครั้งคราว เพื่อผูกใจผู้อยู่ใต้สนับสนุน ด้วยเหตุนี้การมีฐานะเศรษฐกิจที่แข็งจึงเป็นส่วนหนึ่งของผู้นำทางการเมืองไทย วิธีหาฐานทางเศรษฐกิจ ก็โดยการลงทุนกับกลุ่มธุรกิจ ถือหุ้นหรือเป็นกรรมการบริหาร ทั้งนี้เพราะนักธุรกิจเองก็อยากอาศัยบารมีของผู้นำทางการเมืองเพื่อการ

คุ้มครองและเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ นอกจากวิธีการนี้แล้ว ผู้นำทางการเมืองอาจอาศัยความช่วยเหลือ เช่น ช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐอเมริกา งบประมาณลับทางทหารรวมทั้งรายได้จากกิจกรรมผิดกฎหมายด้วย เช่น การค้ายาเสพย์ติด ฯลฯ เพื่อสร้างฐานะอำนาจทางการเงินอันจะเสริมอำนาจทางการเมืองให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น จนแทบจะกล่าวได้ว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวงและการกระทำอันมิชอบต่าง ๆ เป็นผลมาจากระบบการเมืองการปกครอง ในขณะที่ระบบพ่อขุนต้องอาศัยบุคลิกอันมีอำนาจ การคุมอำนาจทางการเงินและฐานอำนาจทางเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้นำในระบบพ่อขุนมีอำนาจอยู่เพียงคนเดียว ในระบบดังกล่าวยังมีพ่อขุนน้อย ซึ่งได้แก่ นายทหารชั้นสูงจำนวนไม่น้อยร่วมมือกับพ่อขุน หรือถูกอำนาจของพ่อขุนข่มอยู่โดยที่จอมพลสฤษดิ์ สามารถขจัดกลุ่มแข่งขันที่สำคัญ คือกลุ่มราชครู (เพราะบ้านผู้นำสำคัญตั้งอยู่ในซอยราชครู) ซึ่งประกอบด้วยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ทำให้สามารถคุมกติกาต่าง ๆ ได้ แต่จุดอ่อนอันสำคัญยิ่งของพ่อขุน คือ การพึ่งตัวบุคคลมากกว่าสถาบัน ดังนั้นเมื่อพ่อขุนอย่างสฤษดิ์ผ่านไปจากฉากการเมือง ปัญหาการต่อสู้แย่งชิงอำนาจและผลประโยชน์ระหว่างพ่อขุนน้อยทั้งหลายก็จะอุบัติขึ้น และนี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อปี พ.ศ.2506

3. เมื่อสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม ยอดพีระมิด ก็ถูกแทนที่โดยกลุ่มของจอมพลถนอม และจอมพลประภาส ซึ่งทุกอย่างก็ดูเรียบร้อยดี แต่ในไม่ช้าปัญหาความโต้แย้งก็เริ่มปรากฏให้เห็น ทั้งนี้เพราะระบบพ่อขุนแบบสฤษดิ์นั้นความจริงก็คือระบบอุปถัมภ์แต่ออกมาในรูปใหม่ ระบบดังกล่าวนี้จะมีผู้อุปถัมภ์ซึ่งได้แก่ นายทหารชั้นผู้ใหญ่คือนายพลจำนวนหนึ่ง เป็นผู้ที่ให้ความอุปถัมภ์ต่อนายทหารชั้นผู้น้อย นักการเมืองและนักธุรกิจ ดังนั้นปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มบุคคลซึ่งจะเป็นข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหาร นักธุรกิจหรือนักการเมืองก็ตามจะอยู่ภายใต้ความคุ้มครองของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ผู้ให้ความอุปถัมภ์จะให้ความอุปถัมภ์ช่วยเหลือหรือคุ้มครอง ส่วนผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ก็จะให้ความสนับสนุนเป็นการตอบแทน หรือถ้าในกรณีผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ที่เป็นธุรกิจจึงได้รับความคุ้มกันทางการเมือง ผลประโยชน์ในแง่อภิสิทธิ์ หรือบางครั้งการหลบเลี่ยงกฎหมายก็จะตอบแทนผู้ให้ความอุปถัมภ์ในแง่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ยิ่งทำให้เห็นเด่นชัดว่า การฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากลักษณะโครงสร้างของระบบ ในขณะที่สฤษดิ์ยังอยู่ในอำนาจและบุคลิกอันแข็งแกร่ง ฉายรัศมีของอำนาจควบคุมกลุ่มผู้อุปถัมภ์ต่าง ๆ นำโดยพ่อขุนน้อย ซึ่งจัดตั้งระบบมาเฟียให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย แต่ทันทีที่สูญสิ้นผู้นำไป กลุ่มผู้นำระดับรองก็เริ่มขัดแย้งกันอย่างรุนแรง และนี่คือสภาพหลังการถึงแก่อสัญกรรมของจอมพลสฤษดิ์ เพื่อที่จะประกันและรักษาผลประโยชน์และอำนาจของตนกลุ่มถนอม – ประภาส พยายามที่จะเลียนแบบจอมพลสฤษดิ์ เพื่อรักษาระบบพ่อขุนให้เหมือนเดิมแต่เป็นไปได้ยากเพราะเหตุผลสองประการ คือ ประการแรก ทั้งจอมพล ถนอมและจอมพล ประภาสต่างก็ไม่มีบารมีเท่าจอมพล สฤษดิ์ และประการที่สอง การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดขึ้นจากนโยบายพัฒนาประเทศของพ่อขุนสฤษดิ์และสืบทอดโดยกลุ่มถนอม – ประภาส นั้นได้นำไปสู่สภาพแวดล้อมอันซับซ้อนเกินกว่าที่ระบบพ่อขุนจะรับได้

 

4. การขึ้นมามีอำนาจของพันเอก ณรงค์ กิตติขจร ซึ่งเป็นบุตรชายของจอมพลถนอม และบุตรเขยของจอมพลประภาส และพฤติกรรมของพันเอก ณรงค์ ในฐานะรองเลขาธิการคณะกรรมการตรวจและติดตามผลปฏิบัติราชการ (ก.ต.ป.) เป็นตัวแปรที่เสริมสถานการณ์ในทางเลวร้าย ก.ต.ป. เป็นหน่วยงานที่คอยตรวจตราการปฏิบัติการของราชการซึ่งมีอำนาจมากมาย พันเอกณรงค์ได้ใช้อำนาจในฐานะรองเลขาธิการอย่างเต็มที่ สั่งจับนักธุรกิจที่ค้าของหนีภาษีและสั่งสอบสวนข้าราชการที่เกี่ยวข้อง มีข่าวลือว่าแม้ข้าราชการทหารชั้นผู้ใหญ่ก็ถูกสอบสวนโดยไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นอย่างมาก และที่สำคัญคือ สภาพการณ์ดังกล่าวได้ทำให้ดุลยภาพของสายใยของการฉ้อราษฎร์บังหลวงซึ่งได้มีการแบ่งสรรเขตอิทธิพลกันอย่างเรียบร้อยของกลุ่มผู้ให้ความอุปถัมภ์ ซึ่งถูกกระทบกระเทือนอยู่แล้วด้วยการครองอำนาจของกลุ่มถนอม – ประภาสต้องถูกกระทบกระเทือนถึงฐานรากเพราะการกระทำของหน่วยงาน ก.ต.ป. ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ย่อมสามารถตีความได้โดยเด่นชัด การจับนักธุรกิจซึ่งอยู่ภายใต้ความอุปถัมภ์ของข้าราชการทหารผู้ทรงอิทธิพล ซึ่งให้ความคุ้มครองอยู่ก็เท่ากับเป็นการตบหน้าผู้ให้ความอุปถัมภ์ผู้นั้น การสอบสวนข้าราชการทหารชั้นผู้ใหญ่ ก็เท่ากับทำให้เสียหน้าและท้าทายหรือทำลายบารมีของผู้นั้น ถ้าสภาวการณ์ดังกล่าวถูกปล่อยให้ดำเนินต่อไป อำนาจของกลุ่มต่าง ๆ ก็จะคลายลงและอาจสูญเสียจำนวนผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์ในที่สุด พฤติกรรมของพันเอก ณรงค์และกิจกรรมของ ก.ต.ป. เป็นการคุมคามต่ออำนาจของผู้อุปถัมภ์อื่น ๆ และเป็นการเขย่าระบบอุปถัมภ์ที่เป็นอยู่ จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ระบบพ่อขุนแบบสฤษดิ์ได้ถูกทำให้สั่นคลอนด้วยสภาพการณ์ดังกล่าวมาข้างต้น

5. พฤติกรรมของพันเอกณรงค์และกิจกรรมของ ก.ต.ป. เป็นเหตุของความไม่พอใจและเป็นอันตรายต่อดุลยภาพของระบบพ่อขุนแบบสฤษดิ์ นับว่าเป็นปรากฏการณ์ในทางลบอย่างมาก แต่การพยายามวางตัวผู้สืบทอดอำนาจทางการเมือง ซึ่งดูจากพฤติกรรมต่าง ๆ ดูเหมือนว่าได้มีแผนที่จะให้พันเอกณรงค์สืบทอดอำนาจจากจอมพลถนอมและจอมพลประภาส เป็นการเขย่าขวัญและกำลังใจของทหารอาชีพจำนวนมาก การเมืองไทยยุคใหม่ไม่ค่อยมีการสืบทอดอำนาจจากพ่อไปหาลูก ซึ่งต่างจากสมัยปลายสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ มีการสืบทอดอำนาจในครอบครัวหรือตระกูลเดียวกันหลายชั่วคน เช่น ตระกูลบุนนาค เป็นต้น ในสมัยใหม่นี้สายโลหิตของจอมพลแปลก และจอมพลสฤษดิ์ไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองที่เห็นเด่นชัด ในกรณีของพันเอกณรงค์นั้นดูประหนึ่งว่าจะมีการตระเตรียมให้ไต่เต้าขึ้นไปสืบทอดอำนาจทางการเมืองซึ่งมีฐานหนุนจากพ่อและพ่อตา พันเอกณรงค์ได้เลื่อนยศขึ้นอย่างรวดเร็วจนยศพลตรีอยู่แค่เอื้อม สภาพดังกล่าวย่อมทำให้ทหารบางกลุ่มไม่พอใจ เพราะถ้าพันเอกณรงค์ได้สืบทอดอำนาจตามที่เกรงกัน ก็ย่อมมีผลกระทบต่ออนาคตและอาชีพของพวกทหาร ซึ่งอยู่ภายใต้อุปถัมภ์ของกลุ่มอื่น แม้การเล่นพวกเล่นพ้องจะเป็นลักษณะไม่แปลกในระบบราชการไทย แต่ในกรณีที่เห็นเด่นชัดนี้ประกอบกับความอิจฉา การขาดความเชื่อมั่น ความไม่พอใจ และการคาดการณ์ถึงผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับอาชีพของตน ทำให้กลุ่มอุปถัมภ์อื่นสรุปว่า กลุ่มถนอม – ประภาส - ณรงค์ต้องถูกกำจัดไปให้พ้นจากวงการเพื่อผลประโยชน์และการอยู่รอดของตน

6. ในช่วงระยะเวลาวิกฤตนี้ปัญหาเรื่องความชอบธรรมของรัฐบาล ได้กลายเป็นปัญหาทางการเมืองอันสำคัญ ในระบบการเมืองไทยนั้นโดยทั่วไปแล้ว ความชอบธรรมไม่ค่อยสำคัญเท่ากับการที่บุคคลผู้นั้นทำประโยชน์ให้กับประชาชนหรือประเทศชาติหรือไม่ ตามจารีตนิยม ระบบการเมืองการปกครองไทยมีหน้าที่ใหญ่ ๆ คือ การประกอบพิธีต่าง ๆ การรักษาความสงบเรียบร้อยและการป้องกันการรุกรานจากภายนอก ในอดีตนั้น การใช้กำลังเข้ายึดอำนาจทางการเมือง หรือการแย่งราชบัลลังก์สมัยปลายอยุธยานั้น เป็นปรากฏการณ์ที่มีอยู่ไม่น้อย และการใช้อำนาจทหารเข้ายึดอำนาจการเมืองก็ได้สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นการยึดอำนาจการเมืองโดยกำลังทหาร จึงไม่ได้เป็นของแปลกใหม่ แต่จุดสนใจอยู่ที่การมีความสามารถที่จะทำประโยชน์อะไรแก่ประเทศชาติและประชาชน แต่สิ่งที่เป็นปัญหาต่อความชอบธรรมของรัฐบาลมากที่สุดในขณะนั้นคือ การขาดแคลนข้าวสาร จนถึงกับต้องปันส่วนด้วยการเข้าแถวยาวเหยียดพร้อมกับสำมะโนครัวในมือเพื่อซื้อข้าวสาร เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศส่งข้าวออกสู่ตลาดโลกมาช้านาน การขาดแคลนข้าวจึงเป็นปัญหาที่ชี้ให้เห็นความวิกลของระบบและรัฐบาลอย่างเห็นได้ชัด การขาดแคลนข้าวยังตามมาด้วยการขาดแคลนน้ำตาลทราย สาเหตุของการชาดแคลนจะเกิดจากความไร้ประสิทธิภาพหรือการฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือด้วยเหตุผลอื่นใดก็ตาม สิ่งที่แจ้งชัดคือ รัฐบาลไม่สามารถ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ได้ และที่ยิ่งทำให้เหตุการณ์ร้ายแรงลงไปอีกคือ กรณีเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ตกที่ทุ่งใหญ่ ซึ่งเป็นป่าสงวน ตามข่าวคณะที่ไปทุ่งใหญ่ซึ่งมีดาราภาพยนตร์ไปด้วยนั้น เป็นคณะล่าสัตว์ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เท่ากับเป็นการท้าทายต่อความถูกต้อง ทำให้ภาพพจน์ของรัฐบาลเสียหายอย่างมาก และเมื่อเรื่องราวเลยเถิดไปจนถึงการคัดชื่อนักศึกษารามคำแหง จำนวนหนึ่งออกจากบัญชีนักศึกษา เพราะได้ตีพิมพ์บทความถากถางกรณีทุ่งใหญ่และการต่ออายุราชการของจอมพลถนอม ก็ได้มีการประท้วงอธิการบดี การประท้วงเริ่มต้นด้วยเรื่องการที่นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงถูกคัดชื่อออกจากบัญชีนักศึกษา แต่ตอนปลาย ๆ ได้มีการเปลี่ยนประเด็นเป็นเรื่องการเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ทำให้รัฐบาลรีบตัดบทโดยการจับบุคคลที่สาม จากนั้นก็สัญญาว่าจะรีบเข็นรัฐธรรมนูญออกมา สิ่งซึ่งนักศึกษาได้เรียนรู้จากการเดินขบวนประท้วงคราวนี้ก็คือ ประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นทางการเมืองซึ่งรัฐบาลมีความรู้สึกไว และการเดินขบวนประท้วงนั้นได้รับการสนับสนุนจากประชาชน

7. จากที่กล่าวมาทั้งหมด ตั้งแต่ปัญหาโครงสร้างมาจนถึงปัญหาความชอบธรรมของรัฐบาล จะเห็นว่าเปรียบเสมือนการจัดเวที ซึ่งจะต้องมีการเริ่มต้นการแสดงโดยตัวละคร ซึ่งในที่นี้ได้แก่ ขบวนการนักศึกษา ถ้าไม่มีขบวนการนักศึกษา เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 อาจยังไม่เกิดขึ้นเร็วขนาดนั้น ถ้าจะมีข้อผิดพลาดที่สำคัญในทางการเมืองของกลุ่มถนอม – ประภาส – ณรงค์ ก็คือการปล่อยให้เกิดศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยขึ้น ทั้งนี้เพราะการรวมตัวของนักศึกษาจะหนีไม่พ้นประเด็นทางการเมือง เมื่อสฤษดิ์ขึ้นมามีอำนาจนั้น สฤษดิ์ห้ามมิให้มีกิจกรรมนักศึกษา นอกจากเรื่องกีฬา บันเทิง โต้วาที เพราะสฤษดิ์รู้ดีว่าถ้านักศึกษารวมกลุ่มกันจะเป็นปัญหาทางการเมือง ซึ่งเห็นได้ชัดจากการคัดค้านเลือกตั้งสกปรกสมัยจอมพล ป. เมื่อปี 2500 ดังนั้น ในช่วงที่สฤษดิ์มีอำนาจจนถึงตอนประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ศ. 2512 ไม่มีกิจกรรมทางการเมืองใหญ่ ๆ นอกจากการเดินขบวนประท้วงศาลโลกที่ตัดสินให้ไทยแพ้ในกรณีเขาพระวิหาร แต่ระหว่าง พ.ศ. 2512 – 2514 นั้น ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยก็ได้เกิดขึ้น แม้จะมีการยึดอำนาจโดย จอมพลถนอมใน พ.ศ. 2514 การรวมพลังของนักศึกษาได้กระทำสำเร็จและได้รับการสนับสนุนจากประชาชนหลายเรื่อง เช่น การต่อต้านการขึ้นค่ารถเมล์ การต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น การต่อต้านคำประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 299 ดังนั้น การเดินขบวนประท้วงของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

8. กลุ่มการเมืองที่สำคัญกลุ่มหนึ่งซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 คือ กลุ่มจารีตนิยมซึ่งได้แก่ ขุนนางข้าราชการหัวอนุรักษ์นิยม และผู้นิยมระบบการปกครองแบบจารีตประเพณีทั้งหลายตั้งแต่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา กลุ่มจารีตนิยมอยู่ในสภาพตกต่ำ ทั้งนี้เพราะกลุ่มผู้ก่อการ พ.ศ. 2475 ได้ขึ้นเถลิงและผูกขาดอำนาจกลุ่มผู้ก่อการ 2475 เป็นกลุ่มที่ต่อต้านกลุ่มจารีตนิยม ดังนั้น เมื่อจอมพล ป. ตกจากอำนาจไป สถานะของกลุ่มจารีตนิยมก็กระเตื้องขึ้น แต่ก็ยังติดขัดอยู่ที่การผูกขาดอำนาจของกลุ่มทหาร และการผูกขาดดูเสมือนว่าจะสืบต่อไปอีกจากการพยายามสืบทอดอำนาจของพันเอกณรงค์ ดังนั้น ถ้ามีการขจัดกลุ่มถนอม – ประภาส – ณรงค์ เสีย ฐานะของกลุ่มจารีตนิยมก็จะดีขึ้น ซึ่งทำให้น่าคิดว่าการล้มกลุ่มถนอม – ประภาส – ณรงค์ น่าจะได้รับความสนับสนุนจากกลุ่มนี้อย่างน้อยก็ในทางอ้อม

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย