สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง เศรษฐศาสตร์ >>

ประวัติการเมืองการปกครองไทย

ยุคที่หนึ่ง ยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ.2475 – พ.ศ.2490)
ยุคที่สอง ยุคเผด็จการอำนาจนิยม (พ.ศ.2490 – พ.ศ.2516)
การเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุคที่ 3
สภาพ 14 ตุลาคม 2516
ผลการเปลี่ยนแปลง 14 ตุลาคม 2516
สภาพการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองในช่วงก่อนรัฐธรรมนูญ 2517
การเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2517
สภาพการณ์ก่อน 6 ตุลาคม 2519
สภาพเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
การเมืองไทยยุคปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน
การเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุคที่ 4
การเมืองไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุคที่ 5
ข้อเสนอของแนวทางรัฐธรรมนูญนิยมกับการแก้ไขปัญหาการเมืองไทย
ลักษณะของการปฏิรูปการเมืองในทัศนะของ คพป.
การจัดทำแผนพัฒนาการเมืองแนวทางรัฐธรรมนูญนิยม
สภาร่างรัฐธรรมนูญกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญ

สภาพ 14 ตุลาคม 2516

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เริ่มต้นด้วยการเดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญของกลุ่มนักศึกษากลุ่มหนึ่ง (มีอาจารย์ร่วมด้วยหนึ่งคน) ในวันที่ 6 ตุลาคม 2514 และถูกตำรวจจับซึ่งเป็นจุดที่นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก่อนหน้านั้นก็ได้มีการเซ็นชื่อ 80 คน เพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และยังมีจดหมายจาก ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยถึงจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี โดยเขียนเป็นจดหมายจากนายเข้ม เย็นยิ่ง ถึง นายทนุ เกียรติก้อง ให้มีกติกาของหมู่บ้าน “ไทยเจริญ” อย่างไรก็ตามการจับผู้แจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของรัฐบาลของกลุ่มถนอม – ประภาส – ณรงค์

ผู้ถูกจับตัวมีครั้งแรก 11 คน ต่อมาได้จับนักศึกษาอีกผู้หนึ่งและได้จับนักการเมืองผู้หนึ่งด้วย นักการเมืองผู้นี้เป็นผู้อยู่ใต้ความอุปถัมภ์ของอดีตอธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งไม่ได้ต่ออายุราชการ ทำให้ชี้ให้เห็นว่า การจับบุคคลที่ 13 น่าจะกระทำไปเป็นการตัดไม้ข่มนาม และอาจจะไม่เกี่ยวกับ 12 คนแรก ก็เป็นได้

ผลที่ตามมาก็คือการชุมนุมโดยศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยโดยเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การประท้วงประกอบด้วยการอภิปรายโจมตีรัฐบาลและตัวบุคคลซึ่งได้แก่ จอมพลถนอม จอมพลประภาส และพันเอกณรงค์ จำนวนของผู้ประท้วงมีมากขึ้นตามลำดับ จนผลสุดท้ายกลายเป็นการประท้วงที่ประกอบด้วยคนจำนวนไม่ต่ำกว่าห้าแสนคน เหตุการณ์ทั้งหมดเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2516 และสิ้นสุดลงวันที่ 16 ตุลาคม 2516 แต่เหตุการณ์ที่เกิดนองเลือดคือ วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม 2516 จึงได้ขนานนามเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งนั้นว่าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

 

การนองเลือดที่เกิดขึ้นเริ่มต้นจากการประท้วงขนานใหญ่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ลานโพธิ์ ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม ในวันที่ 13 ตุลาคม ผู้ประท้วงทั้งหมดซึ่งประกอบด้วยนิสิตนักศึกษานักเรียนประชาชนก็เคลื่อนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระหว่างตอนบ่ายของวันที่ 13 จนถึงเช้า 14 ตุลาคม เป็นช่วงเวลาของการเจรจาต่อรองระหว่างกรรมการของศูนย์และรัฐบาลผสมผสานกับความสับสน ความไม่เข้าใจบางประการของกลุ่มผู้นำ ความตึงเครียดซึ่งซับซ้อน และที่สำคัญคือ การนองเลือดที่เกิดขึ้นในเช้า 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเกิดจากการประท้วงกันระหว่างตำรวจและผู้ประท้วง ได้นำไปสู่เหตุการณ์ที่น่าเศร้าที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย นักศึกษาอาชีวะจำนวนหนึ่งได้เสียสละชีวิต ทำการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ผู้ถืออาวุธ ที่น่าเศร้าสลดคือ คนไทยฆ่ากันเองมีการเสียเลือดเสียเนื้อ ชีวิต (ประมาณ 80 คน) และทรัพย์สิน มีการเผาอาคารราชการ การทำลายสัญลักษณ์จราจร ฯลฯ ได้มีการพยายามเรียกร้องให้ทุกฝ่ายกลับเข้าสู่ความสงบโดยสมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระชนนี และผลสุดท้ายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงออกโทรทัศน์รับสั่งว่า “วันนี้เป็นวันมหาวิปโยค” และได้รับสั่งให้ทุกฝ่ายกลับไปสู่ความสงบ หยุดยั้งการรบราฆ่าฟันกันเอง แต่ประชาชนที่ประท้วงก็ยังคงประท้วงต่อ แม้จอมพลถนอมจะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้วก็ตาม ผลสุดท้ายเมื่อมีการประกาศว่า จอมพลถนอม จอมพลประภาส และพันเอกณรงค์ ยินยอมเดินทางออกนอกประเทศชั่วคราว ฝูงชนก็เริ่มทยอยกันกลับสู่เคหะสถานของตน เป็นอันสิ้นสุดการประท้วงและรัฐบาลทหารของกลุ่มถนอม – ประภาส – ณรงค์ ก็ถูกโค่นล้มลง

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย