วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>
ความสำคัญของแนวปะการัง
ประเภทของแนวปะการัง
สิ่งมีชีวิตในแนวปะการัง
ชีววิทยาของปะการัง
แนวปะการังที่สำคัญของประเทศไทย
สภาวะความเสื่อมโทรมของแนวปะการัง
สาเหตุความเสื่อมโทรมของแนวปะการัง
การฟื้นฟูแนวปะการัง
ข้อควรพิจารณาในการฟื้นฟูแนวปะการัง
ข้อควรพิจารณาในการฟื้นฟูแนวปะการัง
1. การเลือกพื้นที่ดำเนินการ
การเลือกพื้นที่ดำเนินการเป็นปัจจัยสำคัญประการแรกที่มีผลต่อความสำเร็จในการฟื้นฟูแนวปะการัง
การเลือกพื้นที่ที่จะฟื้นฟูควรเลือกบริเวณที่เคยมีแนวปะการังพัฒนาอยู่
ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ได้ว่าบริเวณนั้นๆ
มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมแก่การดำรงชีวิตของปะการัง
นอกจากนี้ยังควรพิจารณาถึงปัจจัยสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของปะการัง
เช่น ลักษณะของพื้นท้องทะเลที่ไม่เป็นโคลน ความลึก ความใสของน้ำ
ความรุนแรงของคลื่นลมโดยเฉพาะช่วงมรสุม กิจกรรมของมนุษย์ รวมทั้งมลพิษต่างๆ
ที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของปะการัง
2. การเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมในการฟื้นฟูแนวปะการังในแต่ละพื้นที่
จากการที่แนวปะการังในแต่ละบริเวณมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน
รวมทั้งมีสาเหตุของ ความเสื่อมโทรม แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่
การเลือกวิธีการฟื้นฟูแนวปะการังให้เหมาะสมกับลักษณะของพื้นที่จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง
ซึ่งจากการศึกษาของสถาบันฯ ก็มีด้วยกันอยู่ 2 วิธีคือการย้ายปลูก
และการเพิ่มพื้นที่ในการลงเกาะให้กับตัวอ่อนของปะการัง
แต่ละวิธีก็มีรูปแบบที่แตกต่างกันไป การเลือกใช้จึงขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ
ที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของปะการัง เช่น สภาพพื้นท้องทะเล
ความขุ่นใสของน้ำบริเวณนั้น เป็นต้น
3. ค่าใช้จ่ายและแรงงาน
การฟื้นฟูแนวปะการังโดยมนุษย์จำเป็นที่จะต้องใช้งบประมาณ
รวมทั้งแรงงานที่ค่อนข้างมาก จากรูปแบบวิธีการฟื้นฟูแนวปะการังแบบต่างๆ
จึงจำเป็นที่จะต้องเลือกให้เหมาะสมกับพื้นที่
เพื่อที่จะได้เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย
4. การหาแหล่งพันธุ์ปะการัง
ในการฟื้นฟูปะการังโดยการย้ายปลูก
ส่วนใหญ่จะต้องอาศัยแหล่งพันธุ์ปะการังในธรรมชาติ
โดยการย้ายบางส่วนเข้ามาในบริเวณที่ต้องการฟื้นฟู
แต่ในปัจจุบันพบว่าแนวปะการังที่มีความอุดมสมบูรณ์พอที่จะใช้เป็นแหล่งพันธุ์มี่ค่อนข้างน้อย
การย้ายจึงจำเป็นที่จะต้องทำด้วยวิธีการที่เหมาะสม
และปริมาณปะการังที่ทำการย้ายจะต้องไม่มากเกินไป
เพื่อให้แนวปะการังที่เป็นแหล่งพันธุ์สามารถฟื้นตัวตัวได้โดยไม่เป็นการทำลายแหล่งปะการังนั้นๆ
นอกจากนี้ยังอาจใช้ปะการังที่แตกหักอยู่แล้วตามธรรมชาติเพื่อลดการทำลายแนวปะการังที่เป็นแหล่งพันธุ์และเป็นการลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น
และควรคำนึงถึงเรื่องพันธุกรรมของปะการังที่ใช้ในการฟื้นฟูด้วย
เพราะหากใช้ปะการังที่กำเนิดจากพ่อแม่เดียวกันเป็นจำนวนมากในบริเวณเดียว
จะทำให้แนวปะการังที่ทำการฟื้นฟูมีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมได้จำกัด
5. ความรู้ด้านชีววิทยาปะการัง
และข้อมูลเบื้องต้นของแนวปะการังในแต่ละบริเวณ
การฟื้นฟูแนวปะการังไม่ว่าจะเป็นวิธีใดก็ตาม
จำเป็นต้องศึกษาถึงข้อมูลพื้นฐานทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เช่น คุณภาพน้ำ
ปริมาณตะกอนแขวนลอย กระแสน้ำ ลักษณะพื้นท้องทะเล
ปริมาณตัวอ่อนหรือแหล่งพันธุ์ที่มีอยู่ในพื้นที่
ไม่ว่าจะเป็นในรูปโคโลนีปะการังหรือเศษปะการังที่ยังมีชีวิต
องค์ประกอบชนิดของปะการัง ตลอดจนกิจกรรมของมนุษย์ที่อาจส่งผลกระทบในบริเวณนั้น
ซึ่งข้อมูลบางอย่างจำเป็นต้องศึกษาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน
เพื่อวิเคราะห์ศักยภาพในการฟื้นตัวของแนวปะการังในแต่ละบริเวณ
หรือเพื่อหาวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการฟื้นฟูแนวปะการัง
นอกจากนี้การดูแลรักษาปะการังที่มีการตายลงหลังการย้าย
ตลอดจนการติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพปะการังที่ทำการฟื้นฟู
ยังมีความสำคัญและจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
การฟื้นฟูแนวปะการังในแต่ละวิธีก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป
การจะเลือกใช้วิธไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่ที่เราต้องการจะฟื้นฟูเป็นหลัก
รวมทั้งสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้นด้วย รวมทั้งปัจจัยต่างๆ
ที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของปะการัง วิธีที่ดีที่สุดในการที่จะฟื้นฟูแนวปะการัง
และการอนุรักษ์ทรัพยากรปะการังไว้ก็คือ
การป้องกันหรือลดความเสื่อมโทรมที่จะเกิดขึ้นกับแนวปะการัง โดยวิธีการต่างๆ เช่น
การวางทุ่นผูกเรือ การให้ความรู้และสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ให้แก่ประชาชน
การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการอนุรักษ์ทรัพยากร
ตลอดจนการกำหนดมาตรการในการคุ้มครองดูแลพื้นที่แนวปะการัง
ทั้งนี้จะต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรปะการังทุกคน
เอกสารอ้างอิง
- กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. 2546. การประชุมสัมมนาเรื่องการฟื้นฟูแนวปะการัง. วันที่ 13 มิถุนายน 2546. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาตอและสิ่งแวดล้อม. 66 หน้า.
- นลินี ทองแถม ไพทูล แพนชัยภูมิ และสมหญิง พ่วงประสาน. 2546. การฟื้นฟูแนวปะการังใน ทะเลอันดามันของประเทศไทย. สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. 32 หน้า.
- ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล. 2538. สู่โลกสีคราม. คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
- สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์. 2538. โครงการอุทยานใต้ทะเล จุฬาภรณ์ 36. คู่มือสัตว์และพืชในแนวปะการัง หมู่เกาะสุรินทร์และ สิมิลัน. 109 หน้า.
- สุรินทร์ มัจฉาชีพ และสมสุข มัจฉาชีพ. 2539. สิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ. ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา. หน้า 67-71.