วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>

แนวปะการัง

ความสำคัญของแนวปะการัง
ประเภทของแนวปะการัง
สิ่งมีชีวิตในแนวปะการัง
ชีววิทยาของปะการัง
แนวปะการังที่สำคัญของประเทศไทย
สภาวะความเสื่อมโทรมของแนวปะการัง
สาเหตุความเสื่อมโทรมของแนวปะการัง
การฟื้นฟูแนวปะการัง
ข้อควรพิจารณาในการฟื้นฟูแนวปะการัง

ชีววิทยาของปะการัง

ลักษณะทั่วไป
ปะการัง (corals) เป็นสัตว์ทะเลที่ไม่มีกระดูกสันหลังจำพวกหนึ่ง จัดอยู่ใน Phylum Coelenterata ซึ่งมีลักษณะเด่นคือ มีโพรงในลำตัว มีเนื้อเยื่อ 2 ชั้น ระหว่างเนื้อเยื่อทั้งสอง มีลักษณะเป็นวุ้น มีช่องปากแต่ไม่มีทวารหนัก มีหนวดซึ่งมีเซลล์เข็มพิษเพื่อป้องกันตัวหรือจับเหยื่อกินเป็นอาหารเรียงรายอยู่รอบปาก สัตว์จำพวกซีเลนเทอราตานี้รวมไปถึง ไฮดรา ปะการังไฟ แมงกะพรุน ดอกไม้ทะเล ปะการังดำ ปะการังอ่อน กัลปังหา ปะการังสีน้ำเงิน และปากกาทะเล ซึ่งสัตว์เหล่านี้บางชนิดอาจมีลักษณะแตกต่างกันมาก แต่บางชนิดก็คล้ายคลึงกันจนจำแนกออกได้ยาก

ปะการังที่จะพูดถึงในที่นี้ส่วนใหญ่เป็นปะการังแข็ง ปะการังแข็งมีส่วนประกอบที่สำคัญ 2 ส่วน คือ โครงร่างหินปูนและเนื้อเยื่อของตัวปะการัง เนื้อเยื่อตัวปะการังเรียกว่า โพลิป(polyp) ประกอบด้วยปากซึ่งเป็นช่องเปิดเข้าไปในช่องว่างภายในลำตัว มีหนวดเรียงเป็นวงโดยรอบ แต่ละ โพลิปฝังตัวอยู่ภายในช่องหินปูน ซึ่งผนังของห้องอาจยกตัวสูงขึ้นมาเป็นกระบอก บนผนังภายในช่องมีแผ่นซี่หินปูนที่เรียกว่า เซ็ปต้า(septa) เรียงรายเป็นรัศมีเข้าหาจุดศูนย์กลางของช่อง ที่จุดศูนย์กลางนี้มักจะมีกลุ่มหนามหินปูนอยู่เป็นกระจุก จุดนี้จะอยู่ใต้ตำแหน่งปากของโพลิป โครงร่างหินปูนที่ประกอบขึ้นมาเป็นที่อยู่ของแต่ละโพลิปนี้เรียกว่า คอรอลไลท์(corallite) ปะการังแต่ละชนิดมีลักษณะของคอรอลไลท์แตกต่างกันไป ในปะการังแต่ละกอแต่ละก้อนมีโพลิปอยู่เป็นจำนวนมาก โดยที่โพลิปมีเนื้อเยื่อเชื่อมโยงถึงกันหมด นั่นแสดงว่าโพลิปอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม หรือที่เรียกว่าโคโลนี(conoly) ยกเว้นปะการังเพียงไม่กี่ชนิด เช่นปะการังดอกเห็ด เป็นชนิดที่อยู่เดี่ยวๆ(solitary) คือทั้งก้อนมีอยู่เพียงโพลิปเดียว



การกินอาหาร
ปะการังกินอาหารโดยใช้หนวดจับแพลงก์ตอนที่ล่องลอยอยู่ในน้ำส่งเข้าปากซึ่งอยู่ตรงกลาง นอกจากนี้ปะการังยังได้รับสารอาหารจากสาหร่ายเซลล์เดียวที่เรียกว่า Zooxanthellae ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากภายเนื้อเยื่อของปะการัง สาหร่ายจะใช้ของเสียจากปะการัง เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ ไนเตรท และฟอสเฟต ในการสังเคราะห์แสงเพื่อสร้างอาหารและเพิ่มจำนวนเซลล์ โดยที่ปะการังจะได้รับสารอาหารที่สาหร่ายสร้างขึ้นด้วย นอกจากนี้กระบวนการสังเคราะห์แสงของ Zooxanthellae ยัง ส่งผลให้อัตราการสร้างหินปูนของปะการังเกิดได้เร็วขึ้นอีกด้วย ปะการังที่มีสาหร่ายนี้อาศัยอยู่จึงเจริญเติบโตก่อตัวเป็นแนวปะการังได้ เรียกปะการังพวกนี้ว่า Hermatypic coral นอกจากนั้นก็มีปะการังบางชนิดที่อาจพบในที่ลึก แสงสว่างน้อย จะมีการสร้างหินปูนได้ช้า จึงไม่สามารถก่อตัวเป็นแนวปะการังได้ เรียกปะการังประเภทนี้ว่า Ahermatypic coral

การสืบพันธุ์
ปะการังสืบพันธุ์ได้ 2 วิธีคือ แบบอาศัยเพศ และไม่อาศัยเพศ ปะการังมีทั้งชนิดที่เป็นกะเทย คือภายในโคโลนีหนึ่งๆ แต่ละโพลิปมีทั้งเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้ และเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย และชนิดที่แยกเพศ คือมีโคโลนีเพศผู้ และโคโลนีเพศเมียแยกกัน รูปแบบการสืบพันธุ์แตกต่างกันไปในแต่ละชนิด บางชนิดจะปล่อยสเปิร์มและไข่ออกมาผสมกันในน้ำ บางชนิดจะปล่อยสเปิร์มออกมาผสมกับไข่ที่ฝังตัวอยู่ภายในตัวเมีย ตัวอ่อนของปะการังที่เกิดขึ้นซึ่งมีขนาดประมาณ 1-3 มิลลิเมตร จะล่องลอยไปตามกระแสน้ำ เมื่อเจอสภาพแวดล้อมและพื้นผิวที่เหมาะสม มันจะใช้ส่วนฐานยึดเกาะและสร้างหินปูนขึ้น หลังจากนั้นจึงเริ่มสร้างโพลิปใหม่โดยการแตกหน่อ จากโพลิปเดิมจนกลายเป็นโคโลนี

ปะการังแข็งที่พบโดยทั่วไปในเขตอินโดแปซิฟิกมีมากกว่า 400 ชนิด ในน่าน้ำไทยฝั่งทะเลอันดามันพบประมาณ 240 ชนิด แนวปะการังบริเวณหมู่เกาะสุรินทร์ และหมู่เกาะซิมิลันเป็นแนวปะการังที่สมบูรณ์ที่สุดในน่าน้ำไทย เป็นแหล่งที่มีความหลากหลายของชนิดปะการังเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะปะการังเขากวางก่อตัวอยู่เป็นบริเวณกว้างและไม่พบในบริเวณอื่นเลย (สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์, 2538)

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย