วิทยาศาสตร์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา >>
ความสำคัญของแนวปะการัง
ประเภทของแนวปะการัง
สิ่งมีชีวิตในแนวปะการัง
ชีววิทยาของปะการัง
แนวปะการังที่สำคัญของประเทศไทย
สภาวะความเสื่อมโทรมของแนวปะการัง
สาเหตุความเสื่อมโทรมของแนวปะการัง
การฟื้นฟูแนวปะการัง
ข้อควรพิจารณาในการฟื้นฟูแนวปะการัง
สิ่งมีชีวิตในแนวปะการัง
หญ้าทะเล
หญ้าทะเลเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว
ที่ปรับตัวเจริญอยู่แนวชายฝั่งน้ำขึ้นน้ำลงไปจนถึงระดับน้ำลึกประมาณ 8 เมตร
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความขุ่นใสของน้ำ ลักษณะคล้ายหญ้ามีแผ่นใบแบน มีไรโซม (rhizome)
ทำหน้าที่ยึดเกาะติดกับหินหรือฝังลงไปในพื้นทรายปนโคลนส่วนที่เป็นต้นจะเจริญยืดตรงขึ้นมาเป็นกอ
หญ้าทะเลสามารถแตกหน่อจากไรโซม
หรือสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศโยการสร้างเมล็ดจาดอกไม่สมบูรณ์เพศ
ในประเทศไทยมีรายงานพบหญ้าทะเลประมาณ 10 ชนิด นับเป็นผู้ผลิตที่สำคัญอย่างหนึ่ง
เพราะเป็นอาหารของพะยูน เต่าทะเล และยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลจำนวนมากด้วย
โดยเฉพาะระยะตัวอ่อนของสัตว์น้ำ เช่น กุ้ง ปลาต่างๆ
แหล่งที่พบหญ้าทะเลของไทยอยู่ทางภาคใต้ เช่น เกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี
และหมู่เกาะลิบง จ.สตูล เป็นต้น
สาหร่ายทะเล
ตามพื้นท้องทะเล นับตั้งแต่ชายฝั่งเขตน้ำขึ้นน้ำลง และลึกลงไป
สิ่งมีชีวิตจำพวกสาหร่ายทะเลจะถูกจำกัดการแพร่กระจายตามระดับความลึก
ทั้งนี้เป็นเพราะแสงสว่างเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้สาหร่ายดำรงชีพอยู่ได้
เนื่องจากสาหร่ายมีคลอโรฟิลด์สำหรับสังเคราะห์แสง สาหร่ายจัดเป็นโปรติสพวกหนึ่ง
ถิ่นที่อยู่อาศัยของสาหร่ายทะเลที่พบ มักมีสภาพเป็นพื้นทรายปนโคลน โขดหิน
หรือแนวปะการัง ซึ่งมีที่ยึดเกาะ
ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่อาจจำแนกได้อย่างชัดเจนว่าสาหร่ายแต่ละชนิดจะอาศัยอยู่เฉพาะชายฝั่งโขดหิน
หรือบริเวณแนวปะการัง แต่อาจพบเจริญอยู่ตามพื้นที่อยู่ใกล้บริเวณดังกล่าว
สาหร่ายที่พบในทะเลส่วนใหญ่ จะเป็นสาหร่ายสีเขียว มีรูปร่างหลายแบบ เช่น
ต่อกันเป็นสาย เป็นท่อน หรือเป็นแผ่นแบนบาง ตัวอย่างเช่น สาหร่ายไส้ไก่
สาหร่ายพวงองุ่น มะกรูดทะเล อีกประเภทหนึ่งที่พบมากคือ สาหร่ายสีน้ำตาล
ส่วนมากมีขนาดใหญ่ เช่น ซากัสซัม หรือสาหร่ายใบ สาหร่ายเห็ดหูหนู
นอกนั้นจะเป็นสาหร่ายสีแดง ซึ่งมักมีหินปูนเกาะตามผนังเซลล์ ทำให้มีลักษณะแข็งเปราะ
ตัวย่างเช่น สาหร่ายวุ้น เป็นต้น
สัตว์ในแนวปะการัง
แนวปะการังเป็นบริเวณที่อุดมสมบูรณ์
มีสัตว์ทะเลนับร้อยชนิดมาอาศัยอยู่รวมกัน ทั้งสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง
และมีกระดูกสันหลัง โดยมีปะการังเป็นสัตว์กลุ่มใหญ่
ที่สร้างหินปูนออกมาเป็นโครงร่าง และเป็นที่พักพิงอาศัยของสัตว์อื่นๆ
ฟองน้ำ เป็นสัตว์กลุ่มหนึ่งที่พบได้บ่อยตามแนวปะการัง
ส่วนใหญ่อาศัยอยู่รวมกันป็นโคโลนี ซึ่งเกิดจากการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ
โดยวิธีแตกหน่อ ฟองน้ำเป็นสัตว์ที่ไม่เคลื่อนที่ และมีหลากหลายสี ได้แก่ สีฟ้า
เหลือง ม่วง เขียว แดง หรือขาว กินอาหารโดยวิธีกรองผ่านลำตัว
มีสัตว์ทะเลหลายชนิดชอบอาศัยอยู่กับฟองน้ำ ได้แก่ ดาวเปราะ ไส้เดือนทะเล ปู กุ้ง
เป็นต้น
ดอกไม้ทะเล เป็นซีเลนเทอเรต เช่นเดียวกับปะการัง
แต่อาศัยอยู่แบบเดี่ยว โพลิปมีขนาดแตกต่างกัน
ตัวที่มีขนาดใหญ่อาจมีเส้นผ่านศูนย์กลางบริเวณฐานหนวดรอบปากถึง 2 ฟุต
บริเวณหนวดของดอกไม้ทะเลจึงมักเป็นที่อยู่อาศัยของปลาการ์ตูน และปลาสลิดหิน
ซึ่งดำรงชีวิตแบบเกื้อกูลกัน
หนอน ที่อาศัยอยู่มีทั้งหนอนตัวแบน หนอนริบบิ้น และหนอนปล้อง
บางชนิดว่ายน้ำหรือคลานไปตามพื้น บางชนิดสร้างหลอดหรือฝังตัวอยู่ในปะการัง
และโผล่ส่วนหน้าของร่างกายลักษณะเป็นพู่ขน ยื่นออกมาจับเหยื่อหรือหายใจ
พวกครัสเตเชียน ก็คือสัตว์จำพวกกุ้ง ปู
ที่พบอาศัยอยู่ตามแนวปะการังก็มีอยู่มาก นับตั้งแต่กุ้งมังกร
ที่ซ่อนตัวอยู่ตามซอกหิน กุ้งมดแดงและกุ้งพยาบาล ที่อยู่อาศัยกับดอกไม้ทะเล
หรือคอยเก็บกินปรสิตตามลำตัวของปลา ปูชนิดต่างๆ อีกเป็นร้อยชนิด
ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปูวงศ์ปูใบ้ ปูม้า บางชนิดแทรกตัวอยู่ตามกิ่งก้านปะการัง
รวมถึงกั้งตั๊กแตน บางชนิดใช้ซอกปะการังเป็นที่อยู่อาศัยด้วย
หอยและหมึก เช่น กลุ่มหอยกาบเดี่ยว ซึ่งคลานหรือเกาะอยู่กับปะการัง
ได้แก่ หอยเบี้ย หอยเต้าปูน หอยตาวัว และกลุ่มหอยสองกาบซึ่งใช้เอ็นยึดติดกับพื้น
หรือปะการัง ได้แก่ หอยมือเสือ บางชนิดฝังตัวอยู่ภายในก้อนปะการังด้วย
ส่วนหมึกที่พบเป็นพวกหมึกสาย ชอบซ่อนตัวอยู่ใต้ซอกหิน คอยดักจับกุ้ง ปลา เป็นอาหาร
สัตว์ที่มีหนามตามผิวหนัง ที่เกาะและคืบคลานไปตามพื้น
หรือเกาะกับปะการัง มีอยู่ทุกกลุ่ม นับตั้งแต่พวกดาวทะเล ดาวเปราะ เม่นทะเล
ปลิงทะเล และดาวขนนก ปลา
ที่อาศัยอยู่ตามแนวปะการังมีทั้งชนิดที่อยู่อย่างถาวรตั้งแต่เกิด
และปลาที่ว่ายวนเวียนเข้ามาหาอาหาร หลบซ่อนตัวเป็นครั้งคราว
ประกอบด้วยปลาหลายกลุ่มด้วยกัน เช่น ปลาผีเสื้อ ปลาสินสมุทร ปลากะรัง ปลากะพง
ปลาปักเป้า ปลาวัว ปลานกแก้ว ปลาขี้ตัง ปลาสลิดหิน เป็นต้น