ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์

ประชาคมอาเซียน

พม่า (Myanmar)

การเมืองพม่า

อัจฉรียา สายศิลป์ : เรียบเรียง

พม่าภายหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ

เมื่ออู อองซานถูกลอบสังหาร อูนุ ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำของ AFPEL แทน เขาเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าเคร่งครัดในพุทธศาสนาอย่างยิ่งและเป็นผู้ที่อังกฤษเลือกขึ้นมาแทนอู อองซาน ระยะแรกนั้น AFPEL ประสบปัญหาความแตกแยกในพรรคอย่างรุนแรง และยังมีปัญหากับชนกลุ่มน้อยที่เรื้อรังมาตั้งแต่สมัยระบอบกษัตริย์ เมื่อพม่าได้เอกราชคืนมาปัญหาก็กลับมาอีก พวกมอญและฉานพยายามต่อรองเพื่อให้ได้มีการปกครองตนเอง ดังนั้นพม่าสมัยเอกราชจึงอยู่ในรูปของสหภาพ (Union) อันเป็นลักษณะของสหพันธรัฐ แต่อำนาจที่แท้จริงกลับอยู่ที่ชาวพม่า ซึ่งสร้างความไม่พอใจกับชนกลุ่มน้อยอื่นๆ (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2544: 75) เพียงสามเดือนแรกของการประกาศเอกราช พม่าก็ตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง

จนช่วงครึ่งหลังของ ค.ศ. 1949 ฝ่ายรัฐบาลภายใต้การนำของอูนุจึงสามารถควบคุมสถานการณ์ได้โดยดึงเอานายพลเนวิน เข้ามามีบทบาทโดยการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีต่อจากอูนุ เนื่องจากขณะนั้นเนวินคุมกำลังกองทัพทั้งหมดในประเทศ สงครามกลางเมืองจึงสงบลงได้

AFPEL ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของพม่า อูนุเป็นนายกรัฐมนตรีในการปกครองประเทศตามระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา แต่กระนั้นก็ตาม ความขัดแย้งในพรรคก็ไม่ได้หมดไป อูนุตระหนักถึงปัญหานี้ดี จึงตัดสินใจเสนอให้สภายอมรับเนวินเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1958 เพื่อรักษาการรัฐบาลชั่วคราว โดยอยู่ในตำแหน่ง 2 ปี จึงสามารถจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในปี ค.ศ. 1960 จากนั้นจึงคืนอำนาจให้พลเรือนไปอีกครั้งหนึ่ง

การเลือกตั้งใหม่นี้ อูนุ ยังได้เสียงข้างมากอยู่แต่ก็ตกอยู่ในฐานะยุ่งยากเพราะมีเหตุการณ์วุ่นวายจากการฉ้อราษฎร์บังหลวงของบุคคลเกิดขึ้นมากในคณะรัฐบาล และความขัดแย้งเรื่องศาสนาที่อูนุประกาศให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ทำให้ได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอื่น เช่น รัฐคะฉิ่น ซึ่งมีผู้นับถือศาสนาคริสต์เป็นส่วนมาก และขยายไปถึงกะเหรี่ยงและฉิ่นด้วย

นอกจากนั้น การประกาศให้รัฐที่เป็นชนกลุ่มน้อยเป็นอิสระแยกตัวเองออกจากพม่าได้ ตามข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญาปางโหลง ทำให้ชนกลุ่มน้อยเริ่มทวงสิทธิตามรัฐธรรมนูญและเริ่มมีการปะทะกันอีก บ้านเมืองจึงเกิดความวุ่นวายและกลับทวีความรุนแรงมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจของพม่าในขณะนั้น กำลังอยู่ในภาวะวิกฤตเนื่องจากต้องชดใช้ค่าปฏิกรสงครามให้กับอังกฤษ และผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกตกต่ำ จากสงครามโลกครั้งที่ 2. ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ เนวิน นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจของรัฐบาลอูนุ ในวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1962 และเริ่มการปกครองแบบเผด็จการโดยคณะทหารนับตั้งแต่นั้นมา

หลังการปฏิวัติ เนวินได้ปรับนโยบายเศรษฐกิจของประเทศมาเป็นสังคมนิยม โดยใช้ชื่อว่า “สังคมนิยมวิถีพม่า” (The Burmese Way to Socialism) โดยยึดกิจการของเอกชนมาเป็นของภาครัฐ ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1947 รวมทั้งพรรคการเมืองต่างๆ ในระบบรัฐสภา ยกเลิกสิทธิพิเศษของบรรดาเจ้าฟ้าผู้ปกครองชนกลุ่มน้อยที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ และจัดระเบียบการปกครองใหม่ให้เหมือนกันหมดทั้งประเทศ การบริหารต่างๆ ถือเป็นอำนาจของรัฐบาลกลางเท่านั้น มีการจัดตั้งสภาแห่งรัฐขึ้น และมีคณะรัฐมนตรีดำเนินการบริหารในรัฐ ปฏิเสธความเป็นผู้นำท้องถิ่น และปฏิเสธการแยกตัวเป็นอิสระของบรรดารัฐชนกลุ่มน้อยอย่างสิ้นเชิง โดยใช้วิธีทางทหารเข้ามาแก้ปัญหาอย่างรุนแรง

นโยบายรวมชาตินี้ส่งผลให้เกิดความไม่สงบไปทั่วประเทศ ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องมีองทัพที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพในการปราบปรามชนกลุ่มน้อย กองทัพพม่าโตขึ้นมากในช่วงปี ค.ศ. 1972 จำนวนทหารเพิ่มขึ้นจากจำนวนพันในปีค.ศ. 1948 มาเป็นหลักแสน พร้อมอาวุธสงครามที่มีประสิทธิภาพ กองทัพพม่าในยุคเนวินจึงเป็นสถาบันที่มีความเข้มแข็ง และมีเอกภาพที่สุดในพม่าจนถึงการประท้วงเมื่อปี ค.ศ. 1988 อันเป็นการสิ้นสุดรัฐบาลนายพลเนวิน (พรพิมล ตรีโชติ, 2542: 34-35)

- ประวัติศาสตร์การเมืองพม่าสมัยอาณานิคม
- พม่าทำสงครามกับอังกฤษ
- ขบวนการชาตินิยมและพระสงฆ์
- YMBA ถึง GCBA
- กบฏซายา ซาน การลุกฮือของชาวนา
- สงครามโลกครั้งที่ 2 กับการกู้เอกราชของพม่า
- ญี่ปุ่นแพ้สงคราม อังกฤษกลับมาปกครองพม่า
- พม่าภายหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ
- การเมืองพม่าตั้งแต่การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อ ค.ศ. 1988

ประวัติศาสตร์ประเทศพม่า
การเมืองพม่า
ข้อมูลประเทศพม่า
เปียงมนา เนปิดอว์ เมืองหลวงใหม่
พระพุทธศาสนาในประเทศพม่า
พม่า : เพื่อนบ้านที่เราไม่คุ้นเคย
การแต่งกายพม่า

สาระความรู้ ข้อมูลอาเซียน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย