ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์
พม่า (Myanmar)
อัจฉรียา สายศิลป์ : เรียบเรียง
ญี่ปุ่นแพ้สงคราม อังกฤษกลับมาปกครองพม่า
การที่ญี่ปุ่นกุมอำนาจที่แท้จริงไว้ สร้างความไม่พอใจแก่ อู อองซาน จนนำไปสู่การปลดแอกพม่าจากญี่ปุ่น โดยได้มีการก่อตั้งองค์กรลับขึ้นชื่อว่า องค์กรสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์ (Anti-Fascist Peoples Freedom League: AFPEL) ทำการเคลื่อนไหวทางการเมืองและได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มต่างๆ ในพม่ารวมทั้งพรรคคอมมิวนิสต์ใต้ดิน ในที่สุดญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ทำให้อังกฤษกลับมาปกครองพม่าอีกครั้ง โดยอู อองซานเริ่มเรียกร้องเอกราช และมีการต่อต้านอังกฤษเพื่อเรียกร้องให้พม่าเป็นอิสระอย่างแท้จริง
แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาเรื่องชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะกะเหรี่ยง มอญ ไทใหญ่ ซึ่งไม่ยอมอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า และอังกฤษได้ให้การรับรองสิทธิของชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ จนในที่สุด รัฐบาลอังกฤษภายใต้การบริหารงานของนายกรัฐมนตรีเคลมอนท์ แอตลี(Clement Atlee) ตกลงจะมอบเอกราชให้พม่า ได้มีการลงนามให้พม่าเป็นอิสรภาพ เมื่อวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1947 ภายใต้เงื่อนไขว่า, ในระยะเวลา 1 ปี พม่าต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อให้ได้ผู้แทนเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญ (พรพิมล ตรีโชติ, 2542: 26-28)
อู อองซาน ที่ได้ชื่อว่าเป็น บิดาแห่งเอกราชพม่าไม่ได้มีโอกาสมีชีวิตอยู่จนพม่าได้รับเอกราช เนื่องจากถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 1947 พร้อมสมาชิกในคณะรัฐมนตรีพม่าบางคน อันเนื่องมาจากปัญหาภายในของพม่าเอง โดยผู้ลอบสังหารคือ อูซอ ซึ่งเคยเป็นนายกรัฐมนตรีพม่ามาก่อนในสมัยอังกฤษ ที่มีความขัดแย้งกับ AFPEL ของอู อองซานมาก แต่ในที่สุดพม่าก็ได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 4 มกราคม 1948 (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2544: 72)
- ประวัติศาสตร์การเมืองพม่าสมัยอาณานิคม
- พม่าทำสงครามกับอังกฤษ
- ขบวนการชาตินิยมและพระสงฆ์
- YMBA ถึง GCBA
- กบฏซายา ซาน การลุกฮือของชาวนา
- สงครามโลกครั้งที่ 2 กับการกู้เอกราชของพม่า
- ญี่ปุ่นแพ้สงคราม อังกฤษกลับมาปกครองพม่า
- พม่าภายหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ
- การเมืองพม่าตั้งแต่การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อ
ค.ศ. 1988
ประวัติศาสตร์ประเทศพม่า
การเมืองพม่า
ข้อมูลประเทศพม่า
เปียงมนา เนปิดอว์ เมืองหลวงใหม่
พระพุทธศาสนาในประเทศพม่า
พม่า : เพื่อนบ้านที่เราไม่คุ้นเคย
การแต่งกายพม่า