ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์

ประชาคมอาเซียน

พม่า (Myanmar)

การเมืองพม่า

อัจฉรียา สายศิลป์ : เรียบเรียง

พม่าทำสงครามกับอังกฤษ

ในปี พ.ศ. 2367 (ค.ศ. 1824) ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายอำนาจของราชวงศ์คองบอง นับตั้งแต่กษัตริย์องค์แรกคือ พระเจ้าอลองพญา จนถึงกษัตริย์องค์ที่ 7 คือพระเจ้าบายีดอ หรือกว่าครึ่งศตวรรษนั้น พม่าได้ขยายพรมแดน ด้านตะวันตกของตนจนประชิดเมืองจิตตะกองซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของอังกฤษ ผลของสงครามหลายครั้งนี้ ทำให้ผู้คนที่อยู่ตามพรมแดนอพยพลี้ภัยเข้าไปในเขตการปกครองของอังกฤษ พม่าพยายามติดตามผู้คนเหล่านี้เข้าไป และอังกฤษก็ฉวยโอกาสนี้ทำสงครามกับพม่าที่รุกไล่ผู้คนเข้ามาในจิตตะกองและอัสสัม ซึ่งเป็นการปะทะกันระหว่างนโยบายแบบศักดินาของพม่ากับนโยบายอาณานิคมของอังกฤษ สงครามอังกฤษ-พม่าครั้งแรกเริ่มด้วยสงครามทางเรือ อังกฤษยกทัพเรือของตนพร้อมด้วยทหาร 11,000 คน เข้าโจมตีเมืองย่างกุ้ง อังกฤษใช้เวลา 6 เดือนถึงตีเมืองได้ สงครามยืดเยื้ออยู่ถึง 2 ปี อังกฤษยกพลมาเพิ่มเติมทางบกและรุกไล่เข้าไปถึงเมืองแปร จนทำให้พม่ายอมสงบศึกและตกลงทำสนธิสัญญากันเมื่อต้นปี 1826 (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2544 หน้า 35)

การสงครามกับอังกฤษนั้น พม่าค่อนข้างโชคร้ายในเรื่องทั้งที่ตั้งของประเทศที่มีเขตแดนติดต่อกับทั้งอินเดียที่ตกเป็นของอังกฤษไปก่อนแล้ว และยังติดต่อกับจีนอันเป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญของเหล่าประเทศตะวันตกขณะนั้นเพื่อขยายเส้นทางเพื่อการค้า อีกประการหนึ่งคือพม่าดูเหมือนโชคร้ายในแง่ของผู้นำด้วย เนื่องจากเป็นสมัยที่มีกษัตริย์ที่ไม่เข้มแข็งนัก ยกเว้นเพียง พระเจ้ามินดง ซึ่งครองราชย์ระหว่าง ปี ค.ศ. 1851 – 1878 ใกล้เคียงกับสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 ของไทย ดูเหมือนจะเป็นกษัตริย์องค์เดียวในพม่าที่ทรงมีความสามารถยิ่ง ทรงคัดค้านนโยบายของพระเจ้าพุกามมินในการทำสงครามครั้งที่สองกับอังกฤษ และทรงเห็นว่าทางรอดของพม่าคือการทำไมตรีและยินยอมตามข้อเรียกร้องของอังกฤษ ดังนั้นต่อมาจึงทรงขึ้นครองราชย์ด้วยการรัฐประหารในราชสำนัก พระองค์ทรงพาพม่ารอดพ้นอังกฤษได้ในช่วงเวลาที่ทรงครองราชย์กว่าสองทศวรรษและรักษาดินแดนพม่าตอนบนที่เหลือไว้ แต่เมื่อพระโอรสคือพระเจ้าธีบอหรือสีป่อ ซึ่งขึ้นครองราชย์เมื่อปีค.ศ. 1878 และในปี ค.ศ. 1885 (พ.ศ. 2428) อังกฤษบุกยึดเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงในขณะนั้น และจับกุมพระเจ้าธีบอพร้อมพระนางศุภยลัตพระมเหสี และเนรเทศไปอยู่อินเดีย ถือเป็นการสิ้นสุดราชวงศ์คอนบวงซึ่งปกครองพม่าเป็นเวลา 133 ปี มีกษัตริย์ทั้งสิ้น 11 พระองค์ (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ 2533: 40- 41)

ในสมัยพระเจ้ามินดงซึ่งเป็นกษัตริย์ที่ทรงภูมิความรู้นั้น เป็นช่วงแห่งการปฏิรูปภายใน โดยเฉพาะในด้านสถาบันทางการเมืองพม่าและกระบวนการทำงาน อันเนื่องมาจากความพยายามที่จะทำให้อังกฤษเห็นว่าทางพม่าเองก็มีความเป็นสากลมากขึ้น (Than Myint-U, 2001: 105) ซึ่งพระองค์เป็นกษัตริย์ที่เห็นคุณค่าของสื่อมวลชน ที่เริ่มขึ้นในพม่ายุคนี้เช่นกัน

เมื่ออังกฤษยึดพม่าได้หมดทั้งประเทศ ได้เอาพม่าไปเป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย นโยบายที่อังกฤษใช้ปกครองพม่าที่เรียกว่าแบ่งแยกและปกครองได้เพิ่มความแตกแยกภายในพม่า กล่าวคืออังกฤษแบ่งพม่าเป็นสองส่วนคือ พม่าแท้(Proper Burma) ใช้การปกครองโดยตรงและส่วนบริเวณภูเขา (Hill Areas) หรือเขตชายแดนใช้การปกครองโดยอ้อม. โดยส่วนที่เป็นพม่าแท้นั้น อังกฤษได้ปกครองพม่าในรูปแบบของสภานิติบัญญัติ ภายใต้การบริหารงานของข้าหลวงใหญ่ชาวอังกฤษ เพราะเห็นว่าพม่ายังล้าหลังอินเดียอยู่มาก จึงยังไม่เหมาะที่จะมีรัฐบาลของตนเอง แต่เขตที่เป็นภูเขาที่ยังถูกมองว่าล้าหลัง อังกฤษยังไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าใดนัก การปกครองตามแคว้นต่างๆ ยังอยู่ภายใต้การปกครองของผู้ปกครองเดิม แต่ให้อยู่ในการดูแลและคำแนะนำจากข้าหลวงใหญ่ชาวอังกฤษ (พรพิมล ตรีโชติ, 2542: 14)

แต่อย่างไรก็ตาม อังกฤษมิได้ให้ความสนใจต่อพม่าอย่างแท้จริง อันเป็นเหตุให้มีการประท้วงต่อมาเมื่อมีขบวนการชาตินิยม โดยเมื่ออังกฤษได้ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจในการที่จะผลิตข้าวจำนวนมาก โดยปรับปรุงดินแดนพม่าตอนล่างเป็นแหล่งผลิตข้าวเพื่อหล่อเลี้ยงอาณานิคมอินเดีย ซึ่งมีประชากรเพิ่มขึ้นมากในขณะนั้น ทำให้เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมเศรษฐกิจพม่าไปด้วย มีผู้อพยพเข้ามาเพื่อหักร้างถางพงเพื่อทำนาข้าวจำนวนมาก พม่าได้เปลี่ยนจากเศรษฐกิจแบบพอเลี้ยงตัวเอง กลายเป็นการผลิตเพื่อส่งออกตามแบบทุนนิยมของอังกฤษ นอกจากนั้นยังมีแรงงานจากต่างชาติเข้ามา ทั้งจากทั้งจีนและอินเดีย (โดยมากเป็นชาวอินเดีย) แต่ทั้งนี้ระบบเศรษฐกิจดังกล่าวได้ส่งผลกระทบให้ชาวนาส่วนใหญ่ปรับตัวไม่ทัน มีหนี้สินจากการกู้ยืมมาทำทุนในการเพาะปลูก(โดยมากผู้ให้กู้คือชาวอินเดีย) ต่อมาชาวนาก็ถูกยึดที่ทำกิน อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวพม่าเกลียดชังชาวต่างชาติมาก โดยเฉพาะชาวอินเดียและกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกชาตินิยมต่อต้านอังกฤษ (ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, 2544: 56- 57)

- ประวัติศาสตร์การเมืองพม่าสมัยอาณานิคม
- พม่าทำสงครามกับอังกฤษ
- ขบวนการชาตินิยมและพระสงฆ์
- YMBA ถึง GCBA
- กบฏซายา ซาน การลุกฮือของชาวนา
- สงครามโลกครั้งที่ 2 กับการกู้เอกราชของพม่า
- ญี่ปุ่นแพ้สงคราม อังกฤษกลับมาปกครองพม่า
- พม่าภายหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ
- การเมืองพม่าตั้งแต่การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อ ค.ศ. 1988

ประวัติศาสตร์ประเทศพม่า
การเมืองพม่า
ข้อมูลประเทศพม่า
เปียงมนา เนปิดอว์ เมืองหลวงใหม่
พระพุทธศาสนาในประเทศพม่า
พม่า : เพื่อนบ้านที่เราไม่คุ้นเคย
การแต่งกายพม่า

สาระความรู้ ข้อมูลอาเซียน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย