ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

พระบรมครู

ทรงสอนโดยคำนึงถึงความแตกต่างฯ

          พระพุทธเจ้าทรงแบ่งบุคคลที่สอนได้ และสอนไม่ได้ออกเป็น 4 จำพวก คือ
              1. อุคฆติตัญญู ผู้ที่รู้ธรรมได้เร็ว เพียงสอนแต่หัวข้อ ก็เข้าใจรายละเอียดได้ทันที
              2. วิปัญจิตัญญู ผู้ที่รู้ธรรมได้ต่อเมื่อ อธิบายรายละเอียด ของหัวข้อที่สอนอย่างกระจ่างแจ้ง
              3. เนยยะ ผู้ที่พอแนะนำสั่งสอนได้ คือต้องแนะนำ และสั่งสอนอยู่บ่อยๆ จึงจะรู้และเข้าใจ
              4. ปทปรมะ ผู้ที่สอนให้รู้ธรรมไม่ได้ คือ เป็นพวกที่โง่มาก หรือปัญญาอ่อน

          บุคคล 3 จำพวกข้างต้นเป็นผู้ที่สอนได้ จำพวกที่ 4 เป็นผู้ที่สอนไม่ได้ ที่ว่าสอนไม่ได้นั้นหมายถึง สอนพระพุทธศาสนา ไม่ใช่วิชาสามัญ

          บุคคลที่สอนได้พระพุทธเจ้าทรงจำแนกออกเป็น 6 ประเภท ตามพื้นฐานของจิตใจ ซึ่งเรียกว่า "จริต" คือ
               1. ราคจริต ผู้ที่มีความรัก ความใคร่เป็นพื้นฐานของจิตใจ
               2. โทสจริต ผู้ที่มีความโกรธ ความหงุดหงิด ความพยาบาท เป็นพื้นฐานของจิตใจ

              3. โมหจริต ผู้ที่มีความหลง ความงมงาย ความโง่ เป็นพื้นฐานของจิตใจ
              4. สัทธาจริต ผู้ที่มีความเชื่อง่าย หูเบา ตื่นข่าว เป็นพื้นฐานของจิตใจ
              5. พุทธิจริต ผู้ที่ชอบการศึกษาหาความรู้ ชอบค้นคว้าทดลอง มีความอยากรู้ อยากเห็น เป็นพื้นฐานของจิตใจ
              6. วิตกจริต ผู้ที่ชอบคิดหาเหตุผล ไม่ยอมเชื่ออะไรง่ายๆ เป็นพื้นฐานของจิตใจ

           พระพุทธเจ้าทรงสอน ให้เหมาะแก่จริตของคนแต่ละคน โดยวิธีหนามยอกเอาหนามบ่ง ตังอย่างเช่น พระนันทะพุทธอนุชา เป็นผู้มีราคจริต หลงใหลในความงาม ของนางชนบทกัลยาณีคู่หมั้นเดิม เมื่อได้บวชแล้วก็ครุ่นคิดถึงแต่นาง ไม่เป็นอันบำเพ็ญสมณธรรม พระพุทธเจ้าได้พาพระนันทะไปในที่ต่างๆ ให้เห็นนางงาม ที่งามยิ่งกว่านางชนบทกัลยาณีเสียอีก แล้วพาไปดูนางลิงซึ่งมีหูขาด หางขาด นั่งจับเจ่าอยู่บนตอไม้ พระพุทธเจ้าทรงถามว่า "นันทะนางชนบทกัลยาณี กับนางงามต่างๆ นั้นใครจะงามกว่ากัน" พระนันทะทูลตอบว่า "นางงามเหล่านั้นงามกว่า นางชนบทกัลยาณีไม่ต่างจากนางลิงเลย" ในที่สุดพระนันทะได้สติ พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ในทำนองว่า "ยศศักดิ์เหมือนความฝัน รูปโฉมโนมพรรณเหมือนดอกไม้ ชีวิตเหมือนฟ้าแลบ" เกิดความเบื่อหน่ายในนางชนบทกัลยาณี ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรม จนได้บรรลุอรหัตตผล นี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง ของการสอนให้เหมาะกับจริตของคน ความจริงการที่พระพุทธเจ้า ทรงจำแนกคนเป็น 6 ประเภท ตามจริตนั้น เป็นการจำแนกอย่างกว้างๆ เมื่อทรงสอนจริงๆ ทรงคำนึงถึงผู้ฟังแต่ละคนว่าผู้นั้นเป็นใคร มีความรู้เพียงใด เคยนับถือศาสนาอะไร อยู่ในท้องถิ่นไหน มีอาชีพอะไร สภาพครอบครัวเป็นอย่างไร เป็นต้น แล้วทรงสอนให้เหมาะสมกับบุคคลนั้นๆ
           หลักการศึกษาปัจจุบัน ก็เน้นหนักถึงความแตกต่าง ระหว่างบุคคล ครูจะต้องทราบถึง ความแตกต่างระหว่างบุคคล ครูจะต้องทราบถึงสภาพของเด็ก แต่ละคนให้มากที่สุด เช่น สภาพทางกาย ระดับสติปัญญา เศรษฐกิจทางครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว เป็นต้น เพื่อจะช่วยให้เด็กแต่ละคน ได้พัฒนาไปเต็มความสามารถของเขา การจะหวังให้เด็กทุกคน มีความรู้เสมอกันหมดย่อมเป็นไปไม่ได้ อีกประการหนึ่ง การที่เด็กเรียนไม่รู้เรื่อง ไม่ทำการบ้าน ขาดเรียน หนีโรงเรียน ประพฤติเกเร เป็นต้น อาจเนื่องมาจากปัจจัยต่างๆ กันหลายอย่าง ครูจะด่วนคิดว่าเด็กเกียจคร้าน หรือนิสัยเสีย แล้วลงโทษตะพึดตะพือไป ย่อมไม่ชอบด้วยเหตุผล ทางที่ถูกที่ควรจะค้นหาสาเหตุ ของแต่ละคนให้พบ แล้วแก้ไขให้ถูกจุด

» ทรงพร้อมที่จะสอน

» ทรงสอนด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

» ทรงสอนโดยมีจุดมุ่งหมาย

» ทรงสอนโดยคำนึงถึงความพร้อมของผู้ฟัง

» ทรงสอนโดยคำนึงถึงความแตกต่างฯ

» ทรงสอนโดยใช้สื่อภาษาที่เข้าใจง่าย

» ทรงสอนจากสิ่งที่รู้ไปหาสิ่งที่ไม่รู้

» ทรงสอนจากยากไปหาง่าย

» ทรงสอนโดยจัดคำสอนเป็นข้อๆ

» ทรงสอนตามความเข้าใจของผู้อื่น

» ทรงสอนโดยวิธีซักถาม

» ทรงสอนให้ผู้ฟังลงมือปฎิบัติ

» ทรงสอนโดยใช้อุปกรณ์การสอน

» ทรงสอนให้ใช้ปัญญาพิจารณาฯ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย