ความรู้ทั่วไป สารนิเทศ การศึกษา คอมพิวเตอร์ >>

พระบรมครู

(คู่มือครู)

เรารู้จักพระพุทธเจ้าในฐานะ ผู้เป็นพระบรมครู ศาสดาเอกของโลก และเพราะพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย เราจึงควรขุดค้นของดีมี่มีอยู่ในพุทธศาสนา เพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่สังคมอย่างกว้างขวาง ลองมาพิจารณาการสอนแบบพระพุทธเจ้ากันดูเถิด.

ทรงพร้อมที่จะสอน

          พระพุทธเจ้าในสมัยเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ทรงได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี จากอาจารย์ที่มีชื่อเสียง คือ อาจารย์วิศวามิตร วิชาที่ทรงศึกษา คือ ศิลปศาสตร์ 18 ประการ อันเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้จะเป็นกษัตริย์ จะต้องศึกษาศิลปศาสตร์ 18 ประการ คือ
           1. ยุทธศาสตร์  วิชานักรบ
           2. รัฐศาสตร์  วิชาการปกครอง
           3. นิติศาสตร์   วิชากฎหมายและจารีตประเพณีต่างๆ
           4. พาณิชยศาสตร์  วิชาการค้า
           5. อักษรศาสตร์  วิชาวรรณคดี
           6. นิรุกติศาสตร์   วิชาภาษาทั้งของตน และของชนชาติ ที่เกี่ยวข้องกัน
           7. คณิตศาสตร์  วิชาคำนวณ
           8. โชติยศาสตร์  วิชาดูดวงดาว
           9. ภูมิศาสตร์  วิชาดูพื้นที่ และรู้จักแผนที่ของประเทศต่างๆ
          10.โหราศาสตร์   วิชาโหรรู้จักพยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ
          11.เวชศาสตร์   วิชาแพทย์
          12.เหตุศาสตร์   วิชาว่าด้วยเหตุผล หรือตรรกวิทยา
          13.สัตวศาสตร์   วิชาดูลักษณะสัตว์ และรู้เสียงสัตว์ว่าดี หรือร้าย
          14.โยคศาสตร์   วิชาช่างกล
          15.ศาสนศาสตร์   วิชาศาสนารู้ความเป็นมา และหลักศาสนาทุกศาสนา
          16.มายาศาสตร์   วิชาอุบาย หรือตำหรับพิชัยสงคราม
          17.คันธัพพศาสตร์   วิชาร้องรำ หรือนาฎยศาสตร์ และวิชาดนตรี หรือดุริยางค์ศาสตร์
          18.ฉันทศาสตร์   วิชาการประพันธ์ 

           พระพุทธเจ้าทรงศึกษาศิลปศาสตร์ 18 ประการนี้ จนมีความรู้แตกฉาน ยากที่หาใครเสมอเหมือนได้ จึงกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงมีความรู้ ในทางโลกเพียบพร้อม เป็นอย่างดีอยู่แล้ว เมื่อได้เสด็จออกบรรพชา พระองค์ทรงได้ศึกษาเพิ่มเติมจากอาฬารดาบส และอุททกดาบส ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา และทรงบำเพ็ญเพียรทางจิตใจ จนได้ตรัสรู้ พระองค์จึงทรงพร้อมที่จะสอนบุคคลทุกชั้น ตั้งแต่คนธรรมดา จนถึงนักปราชญ์ที่มีชื่อเสียง ทุกโอกาสและสถานที่
           ในที่นี้ไม่ได้ประสงค์ จะให้ครูไทยของเราเป็นสัพพัญญู เหมือนพระพุทธเจ้า เพียงแต่ให้พร้อมเพื่อจะสอนนักเรียน คือ ครูต้องมีความรู้ ในเนื้อหาวิชาที่สอน มากกว่านักเรียนหลายเท่า ความรู้ที่ครูเคยศึกษาเล่าเรียนมา อาจลืมได้ ถ้าไม่พยายามศึกษา ค้นคว้าเพิ่มเติม ความรู้จะค่อยๆ หดสั้นเข้า เหลือเพียงความรู้ เท่าระดับชั้นที่สอนเท่านั้น เมื่อครูกับนักเรียนมีความรู้พอๆ กัน แล้วจะสอนให้ได้ผลดีอย่างไรเล่า ครูจึงควรศึกษา หาความรู้เพิ่มเติม อยู่เสมอทุกด้าน และทุกระดับของการศึกษา ให้เป็นผู้พร้อมที่จะสอน ไม่ใช่สอนโดยการบอกให้จดจำจากตำรา ซึ่งครูในสมัย 2,500 ปีเศษมาแล้ว ก็ยังไม่ทำ

» ทรงพร้อมที่จะสอน

» ทรงสอนด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

» ทรงสอนโดยมีจุดมุ่งหมาย

» ทรงสอนโดยคำนึงถึงความพร้อมของผู้ฟัง

» ทรงสอนโดยคำนึงถึงความแตกต่างฯ

» ทรงสอนโดยใช้สื่อภาษาที่เข้าใจง่าย

» ทรงสอนจากสิ่งที่รู้ไปหาสิ่งที่ไม่รู้

» ทรงสอนจากยากไปหาง่าย

» ทรงสอนโดยจัดคำสอนเป็นข้อๆ

» ทรงสอนตามความเข้าใจของผู้อื่น

» ทรงสอนโดยวิธีซักถาม

» ทรงสอนให้ผู้ฟังลงมือปฎิบัติ

» ทรงสอนโดยใช้อุปกรณ์การสอน

» ทรงสอนให้ใช้ปัญญาพิจารณาฯ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย