ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม

หอพระไตร

» พระวินัยปิฎก

» พระสุตตันตปิฎก

» พระอภิธรรมปิฎก

» พระสูตร

พระไตรปิฎกฉบับประชาชน

พระวินัยเล่มที่ ๖

ชื่อจุลลวัคค์ (วรรคเล็ก) เป็นวินัยปิฎก

ปริวาสิกขันธกะ

(หมวดว่าด้วยผู้อยู่ปริวาส)

วัตร ๙๔ ข้อของผู้อยู่ปริวาส

ทรงแสดงวัตร ๙๔ ข้อของภิกษุผู้อยู่ปริวาส หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การตัดสิทธิต่าง ๆ ห้ามทำอย่างนั้นอย่างนี้ รวมทั้งสิ้น ๙๔ ข้อ (แต่ในที่นี้ จะเก็บใจความมากล่าวพอให้เห็นเป็นหัวข้อใหญ่ ๆ ดังต่อไปนี้)

๑. ไม่ให้ทำการในหน้าที่พระเถระ แม้เป็นเถระมีหน้าที่อย่างนั้นอยู่ก็เป็นอันระงับชั่วคราว เช่น ห้ามบวชให้ผู้อื่น, ห้ามให้นิสสัย (รับผู้อื่นไว้ในปกครอง) เป็นต้น.

๒. กำลังถูกลงโทษเพราะอาบัติใด ห้ามต้องอาบัตินั้นซ้ำ หรือต้องอาบัติอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน หรือที่เลวทรามกว่านั้น.

๓. ห้ามถือสิทธิแห่งภิกษุปกติ เช่น ไม่ให้มีสิทธิ ห้ามอุโบสถ หรือปวารณาแก่ภิกษุปกติ ห้ามโจทท้วงภิกษุอื่น ๆ เป็นต้น.

๔. ห้ามถือสิทธิอันจะพึงได้ตามลำดับพรรษา เช่น ไม่ให้เดินนำหน้า ไม่ให้นั่งข้างหน้าภิกษุปกติ เมื่อมีการแจกของ พึงยินดีของเลวที่แจกทีหลัง ทั้งนี้หมายรวมทั้งที่นั่ง ที่นอน และที่อยู่อาศัย

๕. ห้ามทำอาการของผู้มีเกียรติหรือเด่น เช่น มีภิกษุปกติเดินนำหน้า หรือเดินตามหลัง หรือให้เขาเอาอาหารมาส่ง ด้วยไม่ต้องการจะให้ใครรู้ว่ากำลังถูกลงโทษ.

๖. ให้ประจานตัว เช่น ไปสู่วัดอื่น ก็ต้องบอกอาบัติของตนแก่ภิกษุในวัดนั้น เมื่อภิกษุอื่นมาก็ต้องบอกอาบัติของตนนั้นแก่ภิกษุผู้มา จะต้องบอกอาบัติของตนในเวลาทำอุโบสถ เวลาทำปวารณา ถ้าป่วยไข้ต้องส่งทูตไปบอก.

๗. ห้ามอยู่ในวัดที่ไม่มีสงฆ์อยู่ (เพื่อป้องกันการเลี่ยงไปอยู่วัดร้าง ซึ่งไม่มีพระ จะได้ไม่ต้องประจานตัวแก่ใคร ๆ).

๘. ห้ามอยู่ร่วมในที่มุงอันเดียวกับภิกษุปกตินี้ เพื่อเป็นการตัดสิทธิทางการอยู่ร่วมกับภิกษุอื่นชั่วคราว.

๙. เห็นภิกษุปกติ ต้องลุกขึ้นจากอาสนะ ให้เชิญนั่งบนอาสนะ ไม่ให้นั่ง หรือยืนเดินในที่ หรือในอาการที่สูงกว่าภิกษุปกติ.

๑๐. แม้ในภิกษุผู้ถูกลงโทษด้วยกันเอง ก็ไม่ให้อยู่ร่วมในที่มุงเดียวกัน รวมทั้งไม่ให้ตีเสมอกันและกัน (ทางที่ดีไม่ให้มารวมกัน ให้ต่างคนต่างอยู่).

ตั้งแต่ข้อ ๖ ถึงข้อ ๑๐ ถ้าภิกษุฝ่าฝ้น การประพฤติตัวของเธอเพื่อออกจากอาบัติ ย่อมเป็นโมฆะ มีศัพท์เรียกว่าวัตตเภท (เสียวัตร) และรัตติเฉท (เสียราตรี) วันที่ล่วงละเมิดนั้น มิให้นับเป็นวันสมบูรณ์ในการเปลื้องโทษ จะต้องทำใหม่และนับวันใหม่ในการรับโทษแก้ไขตัวเอง.

๑๑. ในการทำสังฆกรรมเกี่ยวกับการให้ปริวาส, การชักเข้าหาอาบัติเดิม ซึ่งต้องการสงฆ์ ๔ รูป ห้ามภิกษุที่ถูกลงโทษเข้าร่วมกรรมเป็นองค์ที่ ๔ ถ้ามีภิกษุปกติ ๔ รูป แล้วภิกษุที่ถูกลงโทษเข้าร่วมได้ ไม่เสียกรรม และในการสวดถอนอาบัติสังฆาทิเสสของภิกษุอื่น ซึ่งต้องการสงฆ์ ๒๐ รูป ภิกษุที่ถูกลงโทษจะเข้าร่วมเป็นองค์ที่ ๒๐ ไม่ได้ ต้องมีภิกษุปกติครบ ๒๐ รูป จึงใช้ได้.

ต่อจากนี้ไป ได้แสดงถึง ภิกษุที่ถูกลงโทษในลำดับต่าง ๆ กันว่า จะต้องประพฤติวัตรเหมือนภิกษุผู้อยู่ปริวาส คือ

๑. ภิกษุที่ควรชักเข้าอาบัติเดิม (เพราะต้องอาบัติทำนองเดียวกันเข้าอีก ในระหว่างประพฤติตนเพื่ออกจากอาบัตินั้น).

๒. ภิกษุผู้ควรแก่มานัตต์ (พราะอยู่ปริวาสเสร็จแล้วหรือเพราะไม่ได้ปิดอาบัติไว้).

๓. ภิกษุผู้ประพฤติมานัตต์ (คือกำลังประพฤติมานัตต์อยู่).

๔. ภิกษุผู้ควรแก่อัพภาน คือควรจะสวดถอนจากอาบัติได้แล้ว (เพราะอยู่ปริวาส และประพฤติมานัตต์เสร็จแล้ว).

<< ย้อนกลับ  ||  หน้าถัดไป  >>

- ตัดสิทธิภิกษุผู้อยู่ปริวาส
- วัตร ๙๔ ข้อของผู้อยู่ปริวาส
- การเสียราตรี (รัตติเฉท)
- การเก็บปริวาสและเก็บมานัตต์

กัมมขันธกะ
พระเสยยสกะกับนิยสกรรม
ปริวาสิกขันธกะ (หมวดว่าด้วยผู้อยู่ปริวาส)
สมุจจยขันธกะ
สมถขันธกะ
อธิกรณ์ ๔


พระวินัยเล่มที่ ๑
พระวินัยเล่มที่ ๒
พระวินัยเล่มที่ ๓
พระวินัยเล่มที่ ๔
พระวินัยเล่มที่ ๕
พระวินัยเล่มที่ ๖
พระวินัยเล่มที่ ๗
พระวินัยเล่มที่ ๘

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย