ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม

หอพระไตร

» พระวินัยปิฎก

» พระสุตตันตปิฎก

» พระอภิธรรมปิฎก

» พระสูตร

พระไตรปิฎกฉบับประชาชน

พระวินัยเล่มที่ ๖

ชื่อจุลลวัคค์ (วรรคเล็ก) เป็นวินัยปิฎก

สมุจจยขันธกะ (หมวดว่าด้วยการรวบรวมเรื่องการออกจากอาบัติสังฆาทิเสส)

ในหมวดนี้แสดงวิธีออกจากอาบัติสังฆาทิเสส โดยเล่าเรื่องพระอุทายีปรึกษาสงฆ์ว่าต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วจะควรปฏิบัติอย่างไร (คล้ายเป็นการตั้งตุ๊กตาให้เห็นวิธีปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนจบ) มีการแสดงรายละเอียด ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสแนะดังต่อไปนี้

๑. ต้องอาบัติสังฆาทิเสสข้อเดียว ไม่ได้ปกปิด ให้ขอมานัตต์ ให้สวดประกาศให้มานัตต์ เมื่อประพฤติมานัตต์เสร็จแล้ว ให้ขออัพภาน (ขอให้สงฆ์สวดถอนจากอาบัติ) ให้สวดประกาศถอนจากอาบัติให้.

๒. ต้องอาบัติสังฆาทิเสสข้อเดียว ปิดไว้วันเดียว ให้ขอปริวาส ๑ วัน เสร็จแล้วจึงขอมานัตต์ แล้วดำเนินการต่อไปตามลำดับเหมือนข้อ ๑.

๓. ต้องอาบัติสังฆาทิเสสข้อเดียว แต่ปิดไว้ ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง ๔ วันบ้าง ๕ วันบ้าง ให้ขอปริวาส ๒ วัน ๓ วัน ๔ วัน ๕ วัน ตามควรแก่เหตุ แล้วขอมานัตต์ และดำเนินการต่อไปตามลำดับเหมือนข้อ ๑.

๔. ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้ ๕ วัน ขอปริวาส ๕ วัน ระหว่างอยู่ปริวาส ต้องอาบัติข้อนั้นอีก ให้ชักเข้าหาอาบัติเดิม โดยขอต่อสงฆ์ ให้ชักเข้าหาอาบัตเดิมแล้วขอปริวาสใหม่ อยู่ปริวาสอีก๕ วัน แล้วจึงทำต่อไปตามลำดับเหมือนข้อ ๑.

๕. ต้องอาบัติสังฆาทิเสสแล้วปกปิดไว้ ๑ ปักษ์ (๑๕ วัน) ให้ขอปริวาส ๑ ปักษ์ ระหว่างที่อยู่ปริวาสต้องอาบัติเดิมอีก ปิดไว้ ๕ วัน ให้ขอต่อสงฆ์ เพื่อชักเข้าหาอาบัติเดิม เริ่มต้นขอปริวาสใหม่ โดยรวมกับอาบัติที่ปิดไว้เดิม (เมื่อรวมกันก็นับข้างมากเพียงฝ่ายเดียว คือ ๑๕ วัน).

ต่อมาเมื่อเธออยู่ปริวาสเสร็จแล้วขอประพฤติมานัตต์ ระหว่างที่ประพฤติมานัตต์ ต้องอาบัติข้อเดิมซ้ำอีก ให้สงฆ์ชักเข้าหาอาบัติเดิม คือต้องเริ่มต้นอยู่ปริวาสใหม่ (อีก ๑๕ วัน) แล้วจึงขอมานัตต์ ประพฤติมานัตต์ใหม่ จนสวดถอนในที่สุด.

นอกจากนี้ได้แสดงตัวอย่างอื่นอีกหลายข้อที่เกิดปัญหาสลับซับซ้อนในระหว่างประพฤติมานัตต์บ้าง ในกรณีอื่น ๆ บ้าง.

 (ถ้าภิกษุรูปใดประพฤติยุ่งยากแบบนี้ คือขณะออกจากอาบัติก็ออกไม่ได้สักที กลับทำความผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในทางปฏิบัติ ก็อาจขับไล่ คือลงปัพพาชนียกรรมได้ เพราะศีลวิบัติ แต่ในที่นี้พระผู้มีพระภาคทรงแนะให้แก้ปัญหาเฉพาะในทางวิธีการออกจากอาบัติ คล้ายเป็นการเฉลยข้อกฎหมายในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะมิได้ยกเอาข้ออื่นมาตัดบท.

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวในสมุจจยขันธกะนี้เท่ากับ เป็นประมวลแบบปฏิบัติในเรื่องออกจากอาบัติสังฆาทิเสสที่มีปัญหาสลับซับซ้อน แสดงคำบาลีสำหรับสวดประกาศไว้อย่างพิสดาร).

<< ย้อนกลับ  ||  หน้าถัดไป  >>

กัมมขันธกะ
พระเสยยสกะกับนิยสกรรม
ปริวาสิกขันธกะ (หมวดว่าด้วยผู้อยู่ปริวาส)
สมุจจยขันธกะ
สมถขันธกะ
อธิกรณ์ ๔


พระวินัยเล่มที่ ๑
พระวินัยเล่มที่ ๒
พระวินัยเล่มที่ ๓
พระวินัยเล่มที่ ๔
พระวินัยเล่มที่ ๕
พระวินัยเล่มที่ ๖
พระวินัยเล่มที่ ๗
พระวินัยเล่มที่ ๘

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย