ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

โอวาทสี่ของเหลี่ยวฝาน

โดย :: เจือจันทน์ อัชพรรณ (มิสโจ)

ต้นฉบับดั้งเดิมของหนังสือนี้ เป็นภาษาจีนโบราณ สมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ.๑๓๖๘-๑๖๔๔ หรือ พ.ศ.๑๙๑๑-๒๑๘๗) ท่านผู้นิพนธ์มีนามว่า เหลี่ยวฝาน (สังเกตจากที่ท่านเล่าให้ลูกฟัง ท่านคงเกิดในราว ค.ศ.๑๕๔๙ หรือ พ.ศ.๒๐๙๒ ท่านเขียนหนังสือนี้เมื่ออายุ ๖๙ หนังสือนี้ จึงมีอายุประมาณ ๓๖๓ ปี)

แรกเริ่มเดิมที ท่านมีนามว่า เอวี๋ยนเสวียห่าย ท่านเป็นขุนนางจีนในแผ่นดินหมิง ก่อนที่จะได้เข้ารับราชการ ท่านได้พบพระเถระ ที่ทรงคุณวิเศษท่านหนึ่ง ได้สอนให้ท่านเข้าถึงพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ท่านเหลี่ยวฝาน จึงตั้งปณิธาน ที่จะหลุดพ้นจากความเป็นปุถุชนให้ได้ โดยพัฒนาตนเอง ด้วยวิธีของพระผู้มีพระภาค คือการปฏิบัติอย่างจริงจัง ในศีล สมาธิและปัญญา แล้วเปลี่ยนชื่อตนเองเสียใหม่ว่า "เหลี่ยวฝาน" ซึ่งมีความหมาย ตรงตามปณิธานที่ตั้งไว้

เมื่อการปฏิวัติราชวงศ์แมนจูของท่านซุนยัดเซ็น ผ่านไปได้ ๓๐ ปี พ.ศ.๒๔๘๕ เป็นขณะที่วัฒนธรรมตะวันตก ได้ไหลหลั่งเข้ามา ท่วมท้นวัฒนธรรมดั้งเดิมของจีน อย่างน่ากลัว นักปราชญ์ชาวพุทธจีนท่านหนึ่ง มีนามว่า ฮหวางจื้อห่าย ท่านเห็นว่า หนังสือของท่านเหลี่ยวฝานนี้ มีคุณค่าต่อชีวิตของท่านอย่างล้นเหลือ จึงใคร่จะให้อนุชนรุ่นต่อๆ ไป ได้ศึกษา และถือเป็นแบบฉบับ ในการประพฤติดี ปฏิบัติชอบอย่างทั่วถึง เพื่อหยุดยั้งกระแสแห่งวัฒนธรรมตะวันตก เพื่ออนุรักษ์ความเป็นคนจีนดั้งเดิม ที่เต็มเปี่ยมด้วยคุณธรรม ความดีงาม ตามหลักธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้คงอยู่ต่อไป

โดยที่ต้นฉบับ เป็นหนังสือจีนโบราณ มีความหมายลึกซึ้งยิ่งนัก ยากที่คนรุ่นปัจจุบัน จะเข้าถึงอรรถรสได้ทั้งหมด ความจริง ท่านฮหวาง ต้องการอนุรักษ์หนังสือจีนโบราณไว้ เพื่อให้ชาติจีนคงอยู่ ถึงกับสอนหนังสือจีนโบราณ ตั้งแต่ชั้นเล็กๆ ในโรงเรียนของท่าน ภาษาสมัยใหม่ เพียงแต่ใช้ประกอบการอธิบาย ให้นักเรียนเข้าถึงอรรถรส ของหนังสือจีนโบราณยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่มีผู้ขอร้องท่านว่า การอ่านหนังสือที่ดี แต่ไม่สามารถเข้าใจได้โดยง่าย ทำให้ผู้อ่าน ขาดความกระตือรือร้น และเมื่อหมดความสนใจเสียแล้ว ก็ย่อมไม่ได้ผล สมเจตนารมณ์ที่ท่านตั้งไว้ ท่านเห็นด้วย จึงเริ่มเรียบเรียงเสียใหม่เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๕ พิมพ์ด้วยหนังสือจีนปัจจุบัน ที่เป็นภาษาพูดของชาวบ้าน เพื่อเปิดโอกาส ให้ผู้ที่ไม่รู้หนังสือเลย เมื่อมีคนอ่านให้ฟัง ก็จะเข้าใจ สามารถนำไปปฏิบัติ ให้ได้ผลดั่งผู้ที่รู้หนังสือเช่นกัน

สาธุ นักปราชญ์ที่เข้าถึงพุทธธรรม ย่อมไม่ถือความเห็นของตนเป็นใหญ่เสมอไป ท่านยอมโอนอ่อนตามความจำเป็น เพื่อประโยชน์สุขของชนหมู่มากเป็นที่ตั้ง ข้าพเจ้าก็เป็นผู้หนึ่ง ที่ได้รับประโยชน์นี้เป็นอย่างยิ่ง จึงขอกราบขอบพระคุณท่านฮหวาง มา ณ ที่นี้ด้วย

 

เมื่อท่านเรียบเรียงดีแล้ว ก็นำไปขอให้ท่านอาจารย์เจี่ยงเอว๋ยเฉียว ตรวจแก้อีกครั้งหนึ่ง ด้วยความไม่ประมาท เพราะท่านต้องการให้หนังสือนี้ ขาดตกบกพร่องน้อยที่สุด

ท่านอาจารย์เจี่ยง ก็เป็นอีกท่านหนึ่ง ที่ได้รับอิทธิพลอันดีงาม จากหนังสือเล่มนี้มากมาย ท่านเขียนเล่าไว้ว่า เมื่อท่านอายุได้ ๑๕-๑๖ ปีนั้น ร่างกายอ่อนแอ มักเจ็บไข้ได้ป่วย ทำให้ขาดเรียนเสมอ ท่านบิดา จึงนำหนังสือนี้มาให้ท่านอ่าน ท่านยิ่งอ่าน ก็ยิ่งชอบใจ ถึงกับลงมือปฏิบัติตามคำแนะนำ ในหนังสือทันที โดยทำบัญชี บันทึกความดี ความชั่วของท่านเอง ที่เป็นความนึกคิด และพฤติกรรมในแต่ละวัน โดยไม่เข้าข้างตนเอง จากวัน เป็นเดือน จากเดือนเป็นปี บันทึกอย่างละเอียดละออ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกทางกาย วาจา หรือใจ เมื่อเวลาได้ผ่านไป ๒-๓ ปี ปรากฏว่า ความชั่วได้ลดน้อยถอยลง ความดีปรากฏมากขึ้น นิสัยใจร้อน ขี้โกรธก็หายไป จิตใจสงบ เยือกเย็นเป็นสุข หายจากโรคภัยไข้เจ็บ ด้วยคุณความดี ของหนังสือนี้โดยแท้ ทำให้ท่านเปลี่ยนแปลงไป เป็นคนละคน กับแต่ก่อน ท่านอาศัยแนวทาง ของหนังสือนี้ ดุจเข็มทิศ ดำเนินชีวิตไปได้ อย่างสงบสุขราบรื่น ไม่มีอันต้องตกต่ำ เป็นอันธพาล เพราะมิได้ก่ออกุศลกรรม ที่ทำให้เกิดความเดือดร้อน ทั้งกายและใจ แต่อย่างใด ท่านจึงรับตรวจแก้ให้ ด้วยความเต็มอกเต็มใจยิ่ง เพื่อบูชาพระคุณ ของท่านเหลี่ยวฝาน เพื่อประโยชน์สุข ของอนุชนรุ่นหลัง เพื่อความผาสุก ของประชาชาติทั้งมวลในโลกนี้

ในขณะที่หนังสือนี้ ออกสู่สายตาของชาวโลกอีกวาระหนึ่ง ไม่ทราบว่า ท่านฮหวางอายุเท่าใด แต่ท่านเจี่ยงนั้น อายุ ๗๑ ปี และยังเป็นอาจารย์ สอนที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ถ้าท่านอายุยืนถึงวันนี้ ก็จะมีอายุ ๑๐๙ ปีแล้ว สำหรับท่านเหลี่ยวฝานนั้น ถ้าท่านมีอายุจนถึงวันนี้ ก็จะมีอายุ ๔๓๒ ปี โดยประมาณ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าท่านทั้งสามจะสถิต ณ ภพใด ข้าพเจ้า ผู้อ่อนทั้งคุณและวุฒิ ขอกราบคารวะท่าน ด้วยความเคารพอย่างสูง และกราบขออนุญาตท่านทางจิต ที่บังอาจคิดถอดความหนังสือนี้ เป็นภาษาไทย อีกทั้งสมาคมพุทธธรรมแห่งฮ่องกงด้วย ด้วยกุศลเจตนา ของท่านทั้งหลาย ที่กล่าวนามมานี้ และด้วยแรงกระตุ้นของมิสเตอร์ และมิสซิสโฮ ที่มีเจตนารมณ์เช่นเดียวกับท่าน เพียงปรารถนาให้พี่น้องชาวไทย ได้รู้จักกับหนังสือนี้ มีโอกาสนำไปประพฤติปฏิบัติได้ เพื่อให้ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม ความดีงาม อันเป็นนิสัยของบรรพชนไทย ที่ได้รับอิทธิพล ของพระพุทธศาสนา อันชาวไทยรุ่นต่อๆ ไปควรรับไว้เป็นแบบอย่าง ไม่ใช่ถูกคลื่นแห่งวัฒนธรรมตะวันตก พัดพาไปตามยถากรรม จนคนไทยไม่เป็นตัวของตัวเอง ได้โปรดหยุดทำตัวเป็นฝรั่ง ดึงความเป็นไทยกลับคืนมา ช่วยกันยังความผาสุก ให้เกิดขึ้นแก่ประเทศชาติ อันเป็นที่รักของเราชาวไทยเถิด

หากการถอดความทั้งหมดนี้ จะมีข้อขาดตกบกพร่องประการใด ขอท่านได้โปรดให้อภัย แก่ข้าพเจ้า ผู้รู้น้อยด้วยเถิด จักเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

ประวัติท่านเหลี่ยวฝาน
ข้อที่หนึ่ง การสร้างอนาคต
ข้อที่สอง วิธีแก้ไขความผิดพลาด
ข้อที่สาม วิธีสร้างความดี
ข้อที่สี่ ความถ่อมตน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย