ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

โอวาทสี่ของเหลี่ยวฝาน
โดย :: เจือจันทน์ อัชพรรณ (มิสโจ)

ข้อที่หนึ่งการสร้างอนาคต

        พ่อนั้น กำพร้าท่านบิดามาแต่อายุยังไม่ถึง ๒๐ ท่านย่าของลูกในเวลานั้น ก็มีอายุมากแล้ว ท่านได้บอกให้พ่อเลิกคิดที่จะเป็นขุนนางเสีย หันมาเรียนแพทย์จะดีกว่า ท่านบอกพ่อว่า การเป็นแพทย์นั้น นอกจากจะยึดเป็นอาชีพได้ดีแล้ว ยังจะช่วยคนยากจนได้อีกด้วย ถ้ามีความสามารถดีก็จะเป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นความปรารถนาของท่านบิดาที่เสียชีวิตไปแล้ว
        ต่อมา พ่อพบผู้เฒ่าท่านหนึ่ง ที่วัดฉืออวิ๋นจื้อ ท่านมีเครายาว มีราศีผ่องใสยิ่งนัก รูปร่างสูงใหญ่ สง่างามราวกับเทพยดา พ่อจึงคารวะท่านด้วยความเคารพ
        ท่านพูดกับพ่อว่า เธอจะได้เป็นขุนนางนะ ปีหน้าจะสอบผ่านได้ทั้งสามขั้น ไฉนจึงไม่เรียนหนังสือเล่า
        พ่อจึงเล่าสาเหตุให้ท่านฟัง แล้วถามชื่อแซ่และที่อยู่ของท่าน
        ท่านตอบว่า ท่านแซ่ข่ง เป็นชาวอวิ๋นหนาน ได้เล่าเรียนวิชาโหราศาสตร์ อันเป็นตำราดั้งเดิม ถ่ายทอดกันมาโดยมิได้แก้ไขเพิ่มเติมอันใดให้ไขว้เขวเลย ซึ่งเป็นตำราของท่านบรมโหราจารย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์ซ้อง พ.ศ. ๑๕๐๓-๑๖๗๐ ท่านผู้เฒ่าข่งต้องการจะถ่ายทอดวิชานี้ให้แก่พ่อ พ่อจึงพาท่านมาบ้าน เพื่อมาพบท่านย่าของลูก ท่านกำชับให้พ่อต้อนรับท่านผู้เฒ่าให้ดี แล้วทดลองให้ท่านพยากรณ์ดู ปรากฏว่าแม่นยำไปเสียทุกสิ่ง แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่ผิดพลาดเลย
        พ่อจึงเริ่มเรียนหนังสือใหม่ ก็ท่านลุงของลูก ที่เป็นลูกพี่ลูกน้องของพ่อนี่แหละ ท่านได้แนะนำให้พ่อไปเป็นนักเรียนกินนอนที่สำนักเรียนแห่งหนึ่ง
        ท่านผู้เฒ่าข่งได้พยากรณ์พ่อไว้ว่า จะสอบผ่านทั้งสามขั้น ขั้นแรกจะได้คะแนนมาเป็นที่ ๑๔ ขั้นกลางจะได้ที่ ๗๑ และขั้นที่สามจะได้ที่ ๙ ปรากฏว่าผลออกมาเช่นนั้นจริงๆ
        ต่อมา ท่านก็พยากรณ์อนาคตของพ่อไว้ว่า ปีใดจะสอบได้เป็นนักเรียนหลวง ได้ข้าวพระราชทานเป็นจำนวนเท่านั้นถัง ปีใดจะได้สอบขั้นสุดท้าย ปีใดจะได้เป็นนายอำเภอ เมื่อเป็นนายอำเภอแล้วสามปีครึ่ง ก็ควรลาออกจากราชการ เพราะอายุ ๕๓ ปี ก็จะสิ้นอายุขัย จะนอนตายอย่างสงบในวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๘ เวลาระหว่างตี ๑-๓ น่าเสียดายจะไม่มีบุตรไว้สืบสกุล พ่อได้บันทึกไว้ทุกคำ เพื่อกันลืม
        ในกาลต่อๆ มา คำพยากรณ์ของท่านผู้เฒ่าข่งก็ยังคงแม่นยำเสมอมา มีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านพยากรณ์ไว้ว่า จะได้รับพระราชทานข้าวหลวงครบจำนวนหนึ่งแล้ว จึงจะได้สอบขั้นสุดท้าย เพื่อเตรียมตัวเข้าเมืองหลวงนั้น ยังไม่ทันที่พ่อจะได้รับพระราชทานข้าวหลวง ครบตามจำนวนที่ท่านพยากรณ์ไว้ พ่อก็ได้รับคำสั่งให้ไปสอบ คราวนี้สอบตก พ่อเริ่มสงสัยในคำพยากรณ์อยู่ในใจ แต่แล้วในปีต่อมา มีอาจารย์ท่านหนึ่ง ที่เคยเป็นกรรมการตรวจข้อสอบให้พ่อ ท่านเคยชมพ่อว่า คำตอบทั้ง ๕ ข้อของพ่อนั้น เขียนได้ดี เหมือนขุนนางผู้ใหญ่ เขียนทูลเกล้าฯ ถวายความเห็นต่อฮ่องเต้นั่นเทียว ท่านว่า ถ้าคนไม่มีความรู้จริง ย่อมเขียนไม่ได้เช่นนี้ ความสามารถของพ่อย่อมจักเป็นประโยชน์ต่อแผ่นดิน ไฉนจึงจะถูกทำลายอนาคตเสียเล่า ท่านจึงสั่งให้พ่อไปทำงานกับท่าน และให้รับพระราชทานข้าวหลวงย้อนหลัง จนครบจำนวนที่ขาดไป ปรากฏว่าเท่าจำนวนที่ท่านผู้เฒ่าข่งคำนวณไว้พอดี


        เมื่อเป็นเช่นนี้ ยิ่งทำให้พ่อเพิ่มความเชื่อถือ ในคำพยากรณ์ของท่านผู้เฒ่าข่งยิ่งขึ้น เพราะอุปสรรคที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้น ทำให้เห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ชะตาชีวิตนั้น ได้ถูกลิขิตมาแล้วอย่างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว จะมีใครเป็นอุปสรรคอย่างไรก็หนีไม่พ้น พ่อจึงปล่อยใจให้เป็นไปตามยถากรรม ไม่มีความกระตือรือร้น ไม่ทะเยอทะยาน ขวนขวาย ไม่ดิ้นรนที่จะเอาดีไปกว่านี้อีกต่อไป ทำให้จิตใจสงบดียิ่งนัก
        เมื่อพ่อสอบได้แล้วเช่นนี้ ก็ต้องเดินทางเข้าเมืองหลวง (ปักกิ่ง) อยู่ในมหาวิทยาลัยของหลวงหนึ่งปี พ่อไม่ได้ดูหนังสือ หรือตำราเรียนใดๆ อีกเลย เอาแต่นั่งสมาธิ ไม่พูดไม่จา ไม่คิดอะไรทั้งสิ้น พอครบหนึ่งปี พ่อก็ได้รับคำสั่ง ให้ย้ายไปเข้ามหาวิทยาลัยของหลวงทางใต้ (นานกิง) อันเป็นสถาบันสุดท้าย ซึ่งนักศึกษาที่สอบไล่ได้ตามขั้นตอนต่างๆ ในภูมิลำเนาเดิมของตนมาแล้ว จะต้องเข้ามาฝึกฝนเตรียมตัวสอบ เพื่อออกรับราชการต่อไป แต่ก่อนที่พ่อจะเข้าไปยังสถาบันนี้ ได้แวะไปที่วัดชีเสียซาน เพื่อคารวะท่านอวิ๋นกุเถระเสียก่อน พ่อได้นั่งสมาธิกับท่านสองต่อสอง เป็นเวลานานถึงสามวันสามคืน โดยมิได้หลับนอนเลย
        พระเถระกล่าวกับพ่อด้วยความแปลกใจว่า อันธรรมดาปุถุชนนั้น จิตใจว้าวุ่นสับสน จึงไม่สามารถบรรลุฌานได้ ส่วนพ่อนั้น ไฉนนั่งสามวันแล้วยังไม่เห็นจิตใจวอกแวกเลย
        พ่อจึงเล่าสาเหตุให้ท่านฟังว่า ท่านผู้เฒ่าข่ง ได้พยากรณ์อนาคตของพ่อไว้แน่นอนแล้ว คิดวุ่นวายไปก็ไร้ประโยชน์ จึงทำใจให้สบายไร้กังวลดีกว่า
        ท่านอวิ๋นกุเถระหัวเราะร้องว่า โธ่เอ๋ย นึกว่าเป็นผู้วิเศษแล้วเสียอีก ที่แท้ก็ยังเป็นปุถุชนอยู่นั่นเอง
        พ่อจึงกราบถามท่านว่า ทำไมจึงว่าพ่อเป็นปุถุชน ท่านตอบว่า อันที่จริง คนเรานั้นถ้าจิตใจไม่ว้าวุ่น ทำใจให้สงบได้แล้ว ก็เกือบจะสำเร็จเป็นพระอรหันต์ พ้นจากความเป็นปุถุชนได้แล้ว แต่คนธรรมดานั้นจิตใจยากที่จะสงบระงับได้ การฟุ้งซ่านนี่เอง ที่ทำให้คนเราถูกผูกมัด ด้วยพลังอำนาจบวก และพลังลบของธรรมชาติ ทำให้ไม่มีอิสระเสรี ต้องขึ้นกับดวงชะตาราศี และการโคจรของดวงดาวบนท้องฟ้า ที่โหราจารย์ได้คิดค้นทำสถิติกันไว้ โหราศาสตร์จึงมีขึ้นด้วยเหตุนี้ ก็มีแต่สามัญชนคนธรรมดาเท่านั้น ที่จะถูกกำหนดได้ตามวิชาโหราศาสตร์ แต่คนทำความดีมากๆ แล้ว ชะตาชีวิตจักทำอะไรได้ โหราศาสตร์นั้น หยั่งไม่ถึงกรรมดีกรรมชั่ว ของคนเราหรอก วิชาโหราศาสตร์ จึงยึดถือเป็นบรรทัดฐานไปหมดมิได้ เพราะคนดีนั้น ถึงแม้ชะตาชีวิตจะบ่งไว้ว่าไม่ดีอย่างไร แต่พลังแห่งกุศลกรรมนั้น ใหญ่หลวงนัก สามารถพลิกความคาดหมายของโหราศาสตร์ได้ คนจน ก็กลายเป็นคนรวยได้ คนอายุสั้นก็กลายเป็นคนอายุยืนได้ ในทำนองเดียวกัน คนที่สร้างอกุศลกรรมอย่างหนักไว้ ชะตาชีวิตก็ไม่สามารถผูกมัดเขาไว้ได้เช่นกัน แม้จะถูกลิขิตมาว่า จะได้ดีมีสุขอย่างไร แต่พลังแห่งอกุศลกรรมนั้นหนักนัก ย่อมสามารถเปลี่ยนแปลงความสุขเป็นความทุกข์ ความมีลาภยศ กลายเป็นหมดลาภยศ ความอายุยืนก็กลายเป็นอายุสั้นได้เช่นกัน ท่านว่าพ่อนั้น ปล่อยชีวิตให้ขึ้นอยู่กับชะตากรรมมายี่สิบปี ไฉนจะไม่ใช่ปุถุชนเล่า
        พ่อกราบถามท่านอีกว่า ถ้าเช่นนั้น ชะตาชีวิตเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้หรือ
        ท่านตอบว่า ชะตาชีวิตนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน อนาคตเราต้องสร้างของเราเอง คนทำดีชะตาก็ดี คนทำชั่วชะตาก็ชั่ว เมื่อต้องการอนาคตดีก็ต้องทำดี ถ้าทำแต่ความไม่ดี แม้ชะตาจะดีก็กลายเป็นร้ายไปได้ ในพุทธธรรมก็ได้กล่าวไว้ว่า ผู้ใดต้องการลาภยศ ย่อมได้ลาภยศ ผู้ใดต้องการบุตรธิดาย่อมได้บุตรธิดา ผู้ใดต้องการอายุยืน ย่อมได้อายุยืน หากประกอบแต่กรรมดี ย่อมสมปรารถนาแล พระผู้มีภาคทรงกล่าวไว้เช่นนี้
        พ่อซักท่านต่อไปว่า ท่านนักปราชญ์เมิ่งจื่อได้กล่าวไว้ว่า หากปรารถนาสิ่งใด ต้องได้สิ่งนั้น ท่านคงหมายถึง สิ่งที่กระทำได้ทางนามธรรมละกระมัง คุณธรรมความดีงามนั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างได้เองโดยไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องไปแสวงหาจากที่ไหน แต่ทางรูปธรรมนั้น ยศถาบรรดาศักดิ์ ชื่อเสียงและความมั่งคั่ง จะแสวงหาได้อย่างไร ถ้าไม่มีผู้หยิบยื่นให้

หน้าถัดไป >>

ประวัติท่านเหลี่ยวฝาน
ข้อที่หนึ่ง การสร้างอนาคต
ข้อที่สอง วิธีแก้ไขความผิดพลาด
ข้อที่สาม วิธีสร้างความดี
ข้อที่สี่ ความถ่อมตน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย