ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

โอวาทสี่ของเหลี่ยวฝาน
โดย :: เจือจันทน์ อัชพรรณ (มิสโจ)

ประวัติท่านเหลี่ยวฝาน

ท่านเหลี่ยวฝานเป็นชาวเจียงหนาน (กังหนำ) อายุ ๔๓๓ ปีในปีนี้ หากท่านยังมีชีวิตอยู่ ท่านสอบจิ้นซื่อได้ และเข้ารับราชการเมื่ออายุ ๓๗ ปี คนสมัยก่อน มีเวลาร่ำเรียนมากกว่าพวกเราสมัยนี้ ท่านจึงมีความรู้กว้างขวาง ลึกซึ้งยิ่งนัก เชี่ยวชาญในวิชาการเกือบทุกแขนง นอกจากพุทธธรรมที่ท่านสนใจมาก จนสามารถเข้าถึงพระพุทธศาสนาอย่างถ่องแท้แล้ว ท่านยังเป็นนักปราชญ์ ในทางอักษรศาสตร์ โบราณคดี คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ เกษตรศาสตร์ อุทกศาสตร์ ธรณีวิทยา นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ปรัชญา ฯลฯ แม้ยุทธศาสตร์ ท่านก็ช่ำชอง สามารถใช้ปัญญาเอาชนะโจรสลัดญี่ปุ่น ที่โจมตีท่าน ในขณะปฏิบัติการทางทหารที่ชายแดน ได้อย่างงดงาม ตำแหน่ง หน้าที่ราชการของท่านนั้น ดำรงทั้งฝ่ายบุ๋นและฝ่ายบู๊ ซึ่งน้อยคนนัก จักมีความสามารถเช่นนี้ เมื่อท่านถึงแก่อนิจกรรม แม้จะเป็นเวลาที่มิได้รับราชการแล้ว ฮ่องเต้ก็ยังทรงระลึกถึง คุณงามความดีของท่านอยู่ จึงทรงสถาปนายศ และทรงประกาศเกียรติคุณของท่าน ให้ปรากฏไปทั่วแผ่นดิน

ท่านไม่หวงแหน หรือกลัวจะหลุดจากตำแหน่งหน้าที่ ในราชการ ใครทำให้ประเทศชาติเสื่อมเสียเกียรติภูมิ ใครใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรม ใครทำให้ประชาราษฎร์เดือดร้อน ท่านจะต่อสู้อย่างสุดกำลัง แม้ผู้นั้น จะมีความยิ่งใหญ่เพียงใด ท่านก็ไม่ยอมสยบ แต่สำหรับตัวท่านเองแล้ว ใครจะใส่ร้ายป้ายสี ท่านก็ไม่นำพา อิจฉากันนัก ท่านก็กราบถวายบังคมลา ไปอยู่ถิ่นเดิมของท่าน ท่านแต่งตำรับตำราไว้มากมาย เป็นเพชรน้ำหนึ่งในสมัยหมิง

เมื่อครั้งท่านเริ่มรับราชการ เป็นนายอำเภออยู่ทางเหนือ ซึ่งเป็นท้องที่ ที่ประสบอุทกภัยเสมอ ท่านสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ ด้วยวิธีการแยกพลังน้ำ ออกเป็น ๓ ทิศทาง แม่น้ำสายเดียวแต่โบราณมา ก็กลายเป็นสามสาย ด้วยปัญญาของท่าน และความสามัคคีของชาวบ้าน ที่คิดพึ่งตนเองอย่างไม่ย่อท้อ ผนึกพลังอันน้อยนิดของแต่ละคน รวมเป็นพลังมหาศาล ยิ่งใหญ่ เหนือพลังน้ำที่น่ากลัว แล้วท่านให้ปลูกต้นหลิ่ว (หลิว) ตามริมฝั่งแม่น้ำ และริมฝั่งทะเล ยาวสุดสายตา คราใดที่คลื่นซัดเข้าฝั่ง ทรายจะติดอยู่บริเวณต้นหลิ่ว ทับถมกันนานเข้า ก็กลายเป็นเขื่อนธรรมชาติ ป้องกันน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี ทางภาคเหนือของประเทศจีน มักจะมีพายุ พัดทรายมาทีละมากๆ ก็ได้อาศัยต้นหลิ่วทั้งหลายนี้ ปะทะแรงลมและทรายไว้ได้

 

แม้ท่านจะกลับมาอยู่ถิ่นเดิม ในบั้นปลายของชีวิต ท่านก็ไม่นั่งดูดาย คอยช่วยเหลือ ดูแลทุกข์สุขของชาวบ้าน อย่างใกล้ชิด คิดค้นวิธีทำไร่ไถนา ให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น ให้แผ้วถางพื้นดินที่รกชัฏ จนเกิดประโยชน์ แก่ผู้ที่ไม่มีที่ดินของตนเอง นอกจากท่านจะสอน ให้ชาวบ้านมีความรู้กว้างขวาง มีรายได้เพิ่มพูนแล้ว ท่านยังสอนให้ชาวบ้านรักกัน ช่วยเหลือกัน เสียสละ และหมั่นบริจาคจนเป็นนิสัย แต่ละวัน ท่านจะทำตารางการทำงานส่วนตัว และส่วนที่จะทำเพื่อผู้อื่นไว้ล่วงหน้า ท่านไม่เคยอยู่นิ่ง ทำงานตลอดวัน อย่างมีระเบียบ

ท่านฝึกสมาธิเป็นเวลา และสม่ำเสมอ จนบรรลุฌาน และเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนบรรลุญาณ

ท่านถึงแก่อนิจกรรม เมื่ออายุ ๗๔ ปี ในขณะที่บุตรของท่านอายุ ๔๒ ปีแล้ว คือปี พ.ศ.๒๑๖๖ (ค.ศ.๑๖๒๓) ผิดจากที่ท่านผู้เฒ่าข่งพยากรณ์ไว้ถึง ๒๑ ปี โดยมิต้องบนบวงต่อฟ้าดิน และท่านผู้ศักดิ์สิทธิ์ มิต้องสะเดาะเคราะห์ ปล่อยนกปล่อยปลา

อันคุณงามความดีนี้ ช่างมีอานุภาพ ต่อชีวิตมนุษย์ ให้เห็นถึงปานนี้หนอ

ภรรยาของท่าน ก็ใจบุญสุนทร์ธรรม ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเลย เป็นคู่ชีวิต ที่คอยส่งเสริมแต่ในทางที่ดีงาม เป็นปัจจัยในการทำดี เพื่อกันและกันตลอดเวลา มีอยู่ครั้งหนึ่ง ภรรยาของท่านซื้อฝ้ายมาปั่น เพื่อทำเสื้อหนาว ท่านเหลี่ยวฝานท้วงว่า บ้านเรามีเสื้อหนาวอย่างดี ทำด้วยแพรเนื้อดี สอดไส้ด้วยนุ่น อุ่นดีอยู่แล้ว ไฉนจะให้ลูกใส่เสื้อหนาว ที่ทำด้วยผ้าฝ้ายถูกๆ เล่า ภรรยาของท่านตอบว่า ก็เพราะฝ้ายนั้นถูก จึงตัดใจขายเสื้อหนาวดีๆ ของลูกเสีย ได้เงินมามากๆ เพื่อทำเสื้อหนาวแจกชาวบ้าน ที่กำลังหนาวสั่นอยู่นี้ ได้ทั่วถึง ท่านเหลี่ยวฝานดีใจมาก พูดด้วยความตื้นตันใจว่า ถ้าแม่ใจบุญถึงปานนี้ ลูกของเรา จะไม่มีวันลำบากเป็นแน่แท้

บุตรของท่าน ก็สอบจิ้นซื่อได้เช่นท่าน และได้เป็นนายอำเภอ ที่เมืองกว่างตง (กวางตุ้ง) อีก ๒๑ ปีต่อมา ก็สิ้นแผ่นดินหมิง ใน พ.ศ.๒๑๘๗ (ค.ศ.๑๖๔๔) ประเทศจีน ตกอยู่ในเงื้อมมือของชาวแมนจู ที่สถาปนาราชวงศ์ชิง (เช็ง) ปกครองชาวจีน ตามวิสัยเชิงเช่นผู้เป็นนาย อยู่นานถึง ๒๖๗ ปี ท่านซุนจงซาน (ดร.ซุนยัดเซ็น) กับคณะ จึงได้ลบความเป็นเจ้าเข้าครอง ออกจากประวัติศาสตร์ได้สำเร็จ ในปี พ.ศ.๒๔๕๔ (ค.ศ.๑๙๑๑)

เป็นบุญของเราชาวไทย ที่ไม่ต้องทนถูกเคี่ยวเข็ญเย็นค่ำ กรำไปถึง ๒๖๗ ปี พระคุณของวีรกษัตริย์ และวีรชนของเรานั้น ใหญ่หลวงนัก แม้ประวัติศาสตร์ จะได้จารึกความยิ่งใหญ่ไว้แล้ว แต่เราก็จะต้องสำนึกในพระคุณ จดจำไว้ในส่วนลึกของดวงใจ เพื่อเป็นตัวอย่าง อันที่จะปกป้องแผ่นดินไทยต่อไป ด้วยชีวิตของเราทุกคน

ท่านหานซานต้าซือ ศิษย์ของท่านอวิ๋นกุเถระ เขียนประวัติ เมื่อท่านอาจารย์ได้จากไปแล้ว

 | หน้าถัดไป >>

ประวัติท่านเหลี่ยวฝาน
ข้อที่หนึ่ง การสร้างอนาคต
ข้อที่สอง วิธีแก้ไขความผิดพลาด
ข้อที่สาม วิธีสร้างความดี
ข้อที่สี่ ความถ่อมตน

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย