ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>

หอพระไตร

นวโกวาท
(ฉบับประชาชน)
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

วินัยบัญญัติ
พระประวัติสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส

พระประวัติ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (2)


       สำหรับเป็นสถานศึกษาของภิกษุสามเณรและกุลบุตร เป็นการทรงริเริ่มจัดการศึกษาของภิกษุสามเณรแบบใหม่ คือ เล่าเรียนพระปริยัติธรรมประกอบกับวิชาการอื่นๆ ที่เอื้อต่อการสั่งสอนพระพุทธศาสนา และสอบด้วยวิธีเขียนซึ่งทรงริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรก ภิกษุสามเณรที่สอบไล่ได้ตามหลักสูตรนี้ก็ทรงพระกรุณาโปรดตั้งเป็นเปรียญเช่นเดียวกับผู้สอบไล่ได้ในสนามหลวง ตามแบบเดิมเหมือนกัน เรียกว่า “เปรียญมหามกุฏ” แต่น่าเสียดายที่หลักสูตรพระปริยัติธรรมแบบมหามกุฏดังกล่าวนี้ ได้ดำเนินการอยู่เพียง ๘ ปีก็เลิกไป เพราะสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ไม่ทรงมีเวลาจะดูแลจัดการเนื่องจากทรงมีพระภารกิจอื่นในคณะสงฆ์มาก
           ในส่วนการศึกษาของกุลบุตรนั้น พระองค์ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนภาษาไทยของมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้นตามวัดธรรมยุต เพื่อให้เป็นที่เล่าเรียนของกุลบุตร โดยใช้หลักสูตรที่ พระองค์ทรงจัดขึ้นใหม่เรียกว่า “หลักสูตรมหามกุฏ” เช่น โรงเรียนวัดบวรนิเวศ โรงเรียนวัดมกุฏ เป็นต้น การจัดตั้งโรงเรียนดังกล่าวนี้ขึ้นก็ด้วยทรงมีพระดำริว่าเพื่อเป็นการช่วยรัฐบาล พระองค์ทรงพยายามพัฒนาโรงเรียนภาษาไทยของมหามกุฏให้เป็นโรงเรียน “เชลยศักดิ์” คือโรงเรียนราษฎร์ แบบอยู่ประจำ เพื่อเป็นต้นแบบให้รัฐบาล หรือ เอกชนอื่นๆ ทำตาม แต่ไม่เป็นผลสำเร็จเพราะขาดเงินทุนที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามพระดำริ ในที่สุดก็ต้องทรงมอบโรงเรียนภาษาไทยของมหามกุฏฯ ให้กระทรวงธรรมการ คือกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบันเป็นผู้ดำเนินการต่อไป ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
    เนื่องจากทรงจัดการศึกษาในมหามกุฏราชวิทยาลัยดังกล่าวมาแล้ว จำเป็นต้องใช้หนังสือและตำราเรียนเป็นจำนวนมาก จึงได้ทรงจัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้น เพื่อจัดพิมพ์หนังสือและตำรับตำราต่างๆ ให้เพียงพอแก่การใช้ศึกษาของภิกษุสามเณรและกุลบุตร เรียกว่า “โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย” โดยทรงใช้ แท่นพิมพ์ที่ใช้พิมพ์พระไตรปิฎกเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕ และโรงพิมพ์ก็ตั้งที่โรงพิมพ์หลังเดิมที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างขึ้นเมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่และ ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร (คือตรงที่สร้างตำหนักเพ็ชรในบัดนี้) แต่โรงพิมพ์ที่พระองค์ทรงจัดตั้งขึ้นดังกล่าวนี้ ดำเนินกิจการอยู่เพียง ๘ ปี ก็ต้องเลิกไปเพราะค่าโสหุ้ยสูงจนไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ ต้องทรงกลับไปใช้วิธีจ้างโรงพิมพ์อื่นซึ่งเสียค่าโสหุ้ยน้อยกว่า
    หลังจากทรงจัดตั้งสถานศึกษา คือมหามกุฏราชวิทยาลัยได้ ๑ ปี ก็ทรงออกนิตยสารธรรมจักษุ เป็นนิตยสารรายเดือน สำหรับตีพิมพ์เรื่องราวทางพระพุทธศาสนา ทั้งที่เป็นคำสั่งสอนและข่าวสารต่างๆ ออกเผยแพร่แก่ประชาชน รวมทั้งข่าวเกี่ยวกับกิจการมหามกุฏราชวิทยาลัยด้วย ที่สำคัญคือ เพื่อเป็นสนามให้ภิกษุสามเณรที่เป็นนักเรียนของมหามกุฏราชวิทยาลัยได้ฝึกแปล แต่ง เขียน เรื่องราวทางพระพุทธศาสนาแล้วตีพิมพ์เผยแพร่แก่ประชาขน ธรรมจักษุจึงเป็นนิตยสารทางพระพุทธศาสนาฉบับแรกของไทยและมีอายุเก่าแก่ที่สุด นับถึงปัจจุบันก็กว่า ๑๐๐ ปีแล้ว


    พ.ศ. ๒๔๔๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชดำริจะขยายการศึกษาขั้นพื้นฐานไปยังประชาชนทั่วพระราชอาณาจักร เพราะทรงเห็นว่าการศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาชาติบ้านเมือง จึงทรงอาราธนาสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะทรงดำรงพระอิศริยยศเป็นกรมหมื่น ให้ทรงอำนวยการจัดการศึกษาในหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร ทั้งนี้เพราะทรงเห็นว่าวัดเป็นแหล่งให้การศึกษาแก่คนไทยมาแต่โบราณกาล การใช้วัดเป็นฐานในการขยายการศึกษาเป็นทางเดียวที่จะขยายได้เร็วและทั่วถึง เพราะวัดมีอยู่ทั่วทุกหนแห่งในพระราชอาณาจักร ทั้งไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินในการสร้างโรงเรียนด้วย เพราะอาศัยศาลาวัดที่มีอยู่แล้วนั่นเองเป็นโรงเรียน
           สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงเลือกพระเถระผู้มีความสามารถทั้งฝ่ายธรรมยุตและมหานิกายรวม ๑๓ รูป เป็นผู้อำนวยการศึกษามณฑลต่างๆ แล้วส่งออกไปดำเนินการจัดการศึกษาในหัวเมืองต่างๆ ในมณฑลนั้นๆ ทั่วพระราชอาณาจักร โดยมีฝ่ายบ้านเมือง คือ กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการดำเนินการ พระองค์ทรงรับหน้าที่อำนวยการในการจัดการศึกษาหัวเมืองอยู่ ๕ ปี ก็ทรงสามารถขยายการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ การศึกษาขั้นประถมศึกษา ออกไปได้ทั่วประเทศ เมื่อทรงวางรากฐานการศึกษาในหัวเมืองเป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้วและมีความมั่งคงพอสมควรแล้ว ก็ทรงมอบให้เป็นภาระหน้าที่ของกระทรวงธรรมการดำเนินการต่อไป
        จึงกล่าวได้ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาระดับประถมศึกษาในประเทศไทยโดยมีวัดเป็นโรงเรียน มีพระเป็นครูสอน มีมหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นต้นแบบในด้านหลักสูตรและการฝึกหัดครูสำหรับออกไปสอนในโรงเรียนนั้นๆ
    ในการจัดการศึกษาในหัวเมืองดังกล่าวมาแล้วข้างต้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงพบความไม่เรียบร้อยในการปกครองคณะสงฆ์ และทรงมีพระดำริว่า การที่จะจัดการศึกษาให้ได้ผลดีนั้น จะต้องจัดการปกครองคณะสงฆ์ให้เรียบร้อยไปพร้อมกันด้วย ฉะนั้นพระองค์จึงได้ทรง พระดำริจัดรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ขึ้นใหม่ เพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและเอื้อต่อการที่จะพัฒนาตัวเองและบ้านเมืองให้เจริญ ก้าวหน้ายิ่งขึ้น พระดำริดังนี้เองที่เป็นเหตุให้เกิดพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) ขึ้น ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับแรกของไทย
           ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ นั้น จัดคณะสงฆ์เป็น ๔ คณะคือ คณะเหนือ คณะใต้ คณะธรรมยุตติกา และคณะกลาง มีสมเด็จพระราชาคณะเป็นเจ้าคณะ และมีพระราชาคณะเจ้าคณะรองคณะละรูปพระเถระทั้ง ๘ รูปนี้ยกขึ้นเป็นมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดในทางคณะสงฆ์และเป็นที่ทรงปรึกษาในการพระศาสนาและการคณะสงฆ์ของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน มีเจ้าคณะปกครองลดหลั่นกันไปตามลำดับคือ เจ้าคณะมณฑล เจ้าคณะเมือง เจ้าคณะแขวง (อำเภอ) เจ้าอาวาส นับเป็นครั้งแรกที่คณะสงฆ์ไทยมีการจัดปกครองอย่างเป็นระบบ มีแบบแผนที่ชัดเจน โดยมีกฎหมายทางบ้านเมืองเข้ามารองรับการดำเนินกิจการพระศาสนาและการคณะสงฆ์

อ่านต่อ>>>


ทุกะ
ติกะ
จตุกกะ
ปัญจกะ
ฉักกะ
สัตตกะ
อัฏฐกะ
นวกะ
ปกิณณกะ

แชร์ไปที่ไหนดี แชร์ให้เพื่อนสิ แชร์ให้เพื่อนได้ แชร์ให้เพื่อนเลย