ศาสนา ลัทธิ ความเชื่อ นิกาย พิธีกรรม >>
นวโกวาท
(ฉบับประชาชน)
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
วินัยบัญญัติ
พระประวัติสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส
พระประวัติ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (3)
เมื่อมีพระราชบัญญัติลักษณ ะปกครองคณะสงฆ์ขึ้นแล้ว ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ตั้งอำนวยการศึกษามณฑลต่างๆ เป็นเจ้าคณะมณฑล
มีหน้าที่ทำนุบำรุงพระศาสนาและบำรุงการศึกษาตามวัดในมณฑลนั้นๆ
ให้เจริญรุ่งเรืองตามพระราชประสงค์
ในเวลา
ตั้งพระราชบัญญัตินี้ว่างสมเด็จพระสังฆราช เพราะนับแต่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า
กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ สิ้นพระชนม์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๔ แล้ว
มิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใดในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราชอีก จนตลอดรัชกาลที่ ๕
มีแต่เจ้าคณะใหญ่ ๔ รูป ซึ่งมิได้ขึ้นแก่กัน
เมื่อมีภาระกิจอันจะพึงทำร่วมกันเจ้าคณะใหญ่รูปใดมีสมณศักดิ์สูง เสนาบดี
กระทรวงธรรมการก็รับพระบรมราชโองการสั่งไปทางเจ้าคณะรูปนั้น ขณะนั้น
สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ซึ่งทรงพระอิศริยยศเป็น
กรมหมื่นทรงสมณศักดิ์สูงกว่าเจ้าคณะทั้งปวง จึงทรงพระกรุณาโปรดให้เป็นการก
(คือประธาน) ในที่ประชุมมหาเถรสมาคม ซึ่งเท่ากับทรงปฏิบัติ
หน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราชมาจนตลอดรัชกาลที่ ๕
ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑
นี้แสดงให้เห็นว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงปกครองคณะสงฆ์ด้วยพระองค์เอง
โดยมีเสนาบดีกระทรวงธรรมการเป็นผู้รับพระบรมราชโองการสั่ง คือ
บัญชาการคณะสงฆ์แทนองค์พระมหากษัตริย์นั่นเอง
มหาเถรสมาคมซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดทางคณะสงฆ์เป็นเพียง ที่ทรงปรึกษา
คือทำหน้าที่ถวายคำแนะนำในเรื่องการพระศาสนาและคณะสงฆ์แด่องค์พระมหากษัตริย์
โดยผ่านไปทางเสนาบดี กระทรวงธรรมการเท่านั้น จึงกล่าวได้ว่า
ตั้งแต่โบราณมาจนถึงเวลาที่ตั้งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ.
๒๔๔๕) นี้ขึ้น คฤหัสถ์ทำหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์มาโดยตลอด
พ.ศ. ๒๔๔๙ ทรงพระกรุณาโปรดเลื่อนพระอิศริยยศเป็น กรมหลวง
ถึง พ.ศ. ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ
สืบพระบรมราชสันตติวงศ์เป็นรัชกาลที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พอเสด็จการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมราชินี
พระพันปีหลวงแล้ว โปรดให้ตั้งพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก ที่วัดบวรนิเวศวิหาร
ทรงสถาปนาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส เป็นสมเด็จกรมพระยา
ทรงสมณศักดิ์เป็น สมเด็จพระมหาสมณะ (คือ สมเด็จพระสังฆราช) เมื่อวันจันทร์
เดือนอ้าย ขึ้น ๔ ค่ำ ปีจอ ตรงกับ วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๓
ในปีรุ่งขึ้น หลังจากทรงได้รับมหาสมณุตมาภิเษก คือ พ.ศ.
๒๔๕๔ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ก็ทรงปรับปรุงการปกครองคณะสงฆ์ครั้งสำคัญ คือ
ทรงชี้แจงแก่เสนาบดี
กระทรวงธรรมการถึงผลเสียที่เกิดจากการที่คฤหัสถ์ปกครองคณะสงฆ์ดังที่เป็นมาในอดีตและเป็นอยู่ในขณะนั้น
และทรงแนะนำว่าควรจะถวายอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์แก่พระองค์ให้เป็นเด็ดขาดฐานะที่ทรงเป็นสมเด็จ
พระสังฆราช เพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์เรียบร้อย
เพราะพระด้วยกันย่อมเข้าใจเรื่องของพระด้วยกันดีว่าคฤหัสถ์ซึ่งมิใช่พระ
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
ได้ทรงมอบการทั้งปวงซึ่งเป็นกิจธุระพระศาสนาถวาย แด่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ผู้เป็นมหาสังฆปริณายก เพื่อทรงเป็นพระธุระปกครอง
ตั้งแต่เดือนกันยายน ร.ศ. ๑๓๑
(พ.ศ. ๒๔๕๕) เป็นต้นมา สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ
จึงทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกของไทยที่ทรงปกครองคณะสงฆ์โดยตรงด้วยพระองค์เอง
เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในสังฆมณฑลของไทย กล่าวคือ
เป็นการทำให้คณะสงฆ์หลุดพ้นจากการปกครองโดยคฤหัสถ์มาสู่การปกครองโดยพระด้วยกันเองเป็นครั้งแรก
เป็นเหตุให้สมเด็จพระสังฆราชมีพระอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์โดยตรงแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจวบจนปัจจุบัน
นับเป็นการปรับสถานภาพของคณะสงฆ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์ไทย
สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ
ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกที่เสด็จตรวจการคณะสงฆ์ในหัวเมืองต่างๆ
เกือบทั่วพระราชอาณาจักรเท่าที่สามารถจะเสด็จไปได้ นับแต่ปีที่ ๒
แห่งการทรงดำรงตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ
ได้เสด็จไปตรวจการคณะสงฆ์ตามหัวเมืองต่างๆ เป็นประจำทุกปีมิได้ขาด
กระทั่งถึงปีท้าย ๆ
แห่งพระชนม์ชีพซึ่งทรงพระประชวรไม่สามารถเสด็จตรากตรำไปตามหัวเมืองต่างๆ
ที่ห่างไกลได้ จึงได้ทรงหยุดการเสด็จตรวจการคณะสงฆ์
เนื่องจากพระองค์เสด็จไปตรวจการคณะสงฆ์ตามหัวเมืองต่างๆ
ด้วยพระองค์เองอย่างถี่ถ้วนเกือบทั่วพระราชอาณาจักร สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ
จึงทรงทราบถึงความเป็นไปของคณะสงฆ์
ตลอดถึงสภาพของประชาชนและความเป็นไปของบ้านเมืองในภูมิภาคต่างๆ เป็นอย่างดี
ทำให้พระองค์ทรงทราบถึงปัญหาและกำหนดวิธีการแก้ไขได้อย่างเหมาะสม
สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงปรับปรุงแก้ไขการพระศาสนาและการคณะสงฆ์ในทุกๆ
ด้านเพื่อให้พระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์มีความเจริญมั่นคงและสามารถทำประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองได้อย่าง
เหมาะสมแก่กาละเทศะ
แต่โบราณมา ตำแหน่งพระประมุขแห่งสังฆมณฑลที่เรียกว่า
สมเด็จพระสังฆราชนั้น
ไม่เคยมีเจ้านายพระองค์ใดที่ทรงผนวชอยู่ได้รับสถาปนาในตำแหน่งนี้
กระทั่งถึงรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ได้ทรงพระกรุณาโปรดถวายมหาสมณุตมาภิเษกแด่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมหมื่นนุชิตชิโนรส วัดพระเชตุพน ในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นพระองค์แรก
มาในรัชกาลที่ ๕
ก็ทรงพระกรุณาโปรดถวายมหาสมณณุตมาภิเษกแด่กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์
ในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราช แต่เจ้านายที่ได้รับถวายมหาสมณุตมาภิเษกทั้ง ๒
พระองค์ ในครั้งนั้น ไม่ได้เรียกว่าสมเด็จพระสังฆราช
แต่เรียกพระนามไปตามพระอิศริยยศในฝ่ายพระบรมราชวงศ์
คือสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ มาในรัชกาลที่
๖
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวถวายมหาสมณุตมาภิเษกแด่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ
กรมพระยา วชิรญาณวโรรส ในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราช เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓
ก็ยังคงเรียกพระนามไปตามธรรมเนียมเดิมมิได้เรียกว่าสมเด็จพระสังฆราชเช่นกัน
ครั้น พ.ศ. ๒๔๖๔
อันเป็นปีที่สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา
และทรงดำรงในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชมาครบ ๑๐ ปี
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำริว่า
พระมหาสังฆปริณายกประธานาธิบดีแห่งสังฆมณฑลทั่วพระราชอาณาจักร
ซึ่งมีสมณศักดิ์ว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณนั้น ได้มีนามอย่างสังเขปว่า
สมเด็จพระสังฆราชเป็นประเพณีสืบมา
แต่ส่วนพระบรมบรมราชวงศ์ผู้ได้รับมหาสมณุตมาภิเษกดำรงสมณศักดิ์เช่นนี้หาได้เรียกว่า
สมเด็จพระสังฆราชไม่ ย่อมเรียกพระนามไปตามพระอิศริยยศแห่งพระบรมราชวงศ์
ไม่ปรากฏพระเกียรติยศยิ่งขึ้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
ให้สถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนามเป็น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
(มีสร้อยพระนามคงตามเดิม) เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศสืบไปชั่วกาลนาน